โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มองการท่องเที่ยวแบบเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม กับ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ

The MATTER

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2561 เวลา 12.08 น. • Byte

เริ่มเข้าใกล้ช่วง high season ของการท่องเที่ยวไทย หลายคนอั้นวันหยุดไว้เพื่อมาปล่อยเอาเต็มที่ปลายปี คุณคงนั่งอ่านรีวิว เปิดดูวิวในอินสตราแกรม อ่านโฆษณานู่นนี่จนจิตใจเตลิด หรือจองทริปสุดรื่นเริงต่างจังหวัดราวกับร่างกายเรียกร้องให้กลับไปใกล้ชิดธรรมชาติอีกครั้ง สถานที่เที่ยวสุดฮิตในโลกออนไลน์ตามเก็บครบหรือยัง?

นักท่องเที่ยวเองอาจจะมีเส้นบางๆ เส้นหนึ่งที่แยกความแตกต่างระหว่างเที่ยวเพื่อ 'กระจายรายได้' กับเที่ยวเพื่อ 'ไปใช้ทรัพยากรบ้านเขา' ซึ่งให้ผลลัพธ์ระยะยาวต่อทรัพยากรประเทศต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณจังหวัดแนวชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่มูลค่าสูง และถูกตักตวงทรัพยากรไปใช้ประโยชน์จนเสื่อมโทรม ทะเลไม่ได้มีแค่ชายหาดและคลื่นสวย ธรรมชาติถักทอพันเกี่ยวมากกว่านั้นระหว่างวิถีชีวิตมนุษย์และทรัพยากร

“ถ้าคุณอยากเห็นการท่องเที่ยวไทยที่แท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร ให้คุณลองไปเที่ยวหลังช่วง high season ดูสิ คุณจะเห็นทุกอย่างเละไปหมด คุณจะเห็นการท่องเที่ยวชนิดตักตวงทรัพยากรจนสถานที่เสื่อมโทรม คุณจะเห็นขยะที่คนก่อนหน้าทิ้งไว้ น้ำในโรงแรมคุณจะไม่ไหล อาหารที่คุณอยากกินจะไม่มี  นี่เป็นเพียงสิ่งที่คุณต้องเผชิญแค่ช่วงเวลาวันหยุด แต่กลับเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญตลอดทั้งชีวิต”

“สิ่งที่คุณทำเพียงเขียนรีวิวตำหนิสถานที่นั่นว่า แย่ ไม่ประทับใจ เสียความรู้สึก แต่คุณกลับไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบนั้นเลย”

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัย ชวนเราคิดถึงความหมายของการท่องเที่ยวในนิยามใหม่ ที่มองลึกไปถึงทรัพยากรการท่องเที่ยวว่าทุกอย่างที่คุณใช้ 'ล้วนมีที่มาที่ไป' ไม่ได้เสกขึ้นมา เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง และเงินซ่อมทุกอย่างไม่ได้ หากนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มองด้วยสายตาแบบ 'เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม' คุณอาจจะขนลุกกับการท่องเที่ยวครั้งที่ผ่านๆ มา …เราโยนความรับผิดชอบไว้ให้คนอื่นเสมอ

“คำถามก็คือ เราจะเรียกการท่องเที่ยวเช่นนี้ว่า การกระจายรายได้สู่สังคม หรือไปตักตวงใช้ทรัพยากรของเขามา?

“อย่าคาดหวังการท่องเที่ยวที่ได้ตามอย่างโฆษณา เพราะคุณจะไม่ได้สิ่งนั้น”

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์นิรมลเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่สนใจศึกษา 'เศรษฐกิจสีน้ำเงิน' หรือ Blue Economy คำที่เริ่มคุ้นหูในช่วง 5-6ปีที่ผ่านมา ว่าด้วยฐานเศรษฐกิจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำลังมีความเปราะบางอ่อนไหว จากการที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรบนบกจนร่อยหรอลงเรื่อยๆ ผลกระทบของ climate change อันรุนแรงเห็นเป็นประจักษ์ และการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำหรือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจนำมาสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ชื่อว่า 'โครงการศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยเพื่อเข้าสู้สู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน' โดยการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ประเด็นการท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ที่เราควรตระหนักว่า เที่ยวอย่างไรให้รู้ว่าทรัพยากรมีวันหมด

 

The MATTER : ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินชื่อ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทำไมในระยะหลังเราได้ยินคำว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy บ่อยขึ้น

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : Blue Economy หรือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เป็นส่วนหนึ่งของ Green Economy แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งมันอยู่ในทะเล ประเทศที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลเริ่มตระหนักแล้วว่า ปัจจุบันมีภาระหน้าที่ 'เกินกว่า' คนชายฝั่งทะเลจะรับมือได้หมด มีการทำประมงผิดกฎหมาย การรุกล้ำน่านน้ำ เรือขนาดใหญ่เดินเรือแกล้งเรือขนาดเล็ก มันเกิดการเบียดเบียนกันเองระหว่างมนุษย์ อีกทั้งยังเบียดเบียนธรรมชาติ ทั่วโลกจึงมีความเห็นว่า เราควรมี Blue Economy เศรษฐกิจทางทะเลชายฝั่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีความเป็นสีน้ำเงินเพื่อให้เกิดความอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นควบคู่กัน

ถ้าให้คุณมองจากนอกโลก โลกเราเป็นสีน้ำเงิน มีปริมาณน้ำถึง 3 ใน 4 ส่วนของพื้นที่โลก ภาพของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจึงถูกทำให้ชัดขึ้น พอพูดปุ๊บคนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญ ขณะนี้เรามีแรงกดดันพื้นที่บนบกเยอะ ทั้งการใช้ที่ดิน อาหารที่ไม่พอ ดังนั้นการที่เราหวนกลับมาดูแลทรัพยากรทางทะเลด้วย เราจะสามารถช่วยเยียวยาความหิวโหยของประชากรบนโลกได้

The MATTER : เราเคยเชื่อว่าธรรมชาติจะเยียวยาตัวเอง มหาสมุทรเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราปล่อยมันไปตามธรรมชาติให้สร้างสมดุลเอง เราสามารถรอได้ไหม

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : กลไกทางธรรมชาติเป็นของมันเช่นนั้นอยู่แล้ว มีมานานกว่าสิ่งมีชีวิตในโลก แต่ในยุคแรกๆ ประชากรมนุษย์ยังไม่เยอะ เราผลิตขยะน้อยแล้วก็ปล่อยไหลไปตามน้ำเป็นเรื่องปกติ น้ำเสียลงมาผสมกับน้ำจืดและน้ำเค็ม ธรรมชาติก็บำบัดน้ำไปตามกลไก แต่ตอนนี้ขยะมันมากขึ้น ธรรมชาติเองแก้ไม่ทัน ปัจจุบันเราเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า 'คนทำร้ายทะเล' เพราะพวกเราอยู่ห่างไกลจากทะเลมากขึ้น ระยะทางเป็นปัจจัย เราก็ไม่เคยรับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำส่งผลต่อทะเลอย่างไร เราไม่ได้สนใจทะเลเหมือนแต่ก่อน เพราะเราไม่เคยต้องใช้ชีวิตใกล้ชิด คุณทิ้งขยะที่จังหวัดหนึ่งมันลอยไปปากแม่น้ำ จนไหลไปกองรวมกันที่มหาสมุทร เราแทบไม่เห็นความเชื่อมโยงกับมันเลย

วิถีธรรมชาติบำบัดจัดการยาก ประกอบกับเราสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ธรรมชาติที่มีมันเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทาง มนุษย์เราเกิดเยอะกว่าธรรมชาติ ปัญหาเหล่านี้เลยไม่ง่ายที่ต้องบริหารจัดการซึ่งแตกต่างจากวิธีการที่เราทำบนบก

The MATTER : ความท้าทายของการจัดการในทะเลที่ต่างจากบนบกอย่างชัดเจนคืออะไรบ้าง

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : แผ่นดินมีขอบเขตขัณฑสีมาชัดเจน แต่ทะเลไม่มี  ทั้งที่ทะเลเองมีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากมายไปหมด และยังเป็นสมบัติร่วมของมวลมนุษยชาติที่เรียกว่า 'ทะเลหลวง'  ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นพื้นที่อยู่นอกเขตของแต่ละประเทศอีก ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้มีขยะจากทุกประเทศไปกองรวมกันอยู่ที่ทะเลหลวง บางคนใช้โอกาสที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของนี้เอากากของเสียอันตรายไปทิ้ง

ทรัพยากรทางทะเลไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง ขอบเขตของทะเลก็ไม่ชัดเจน และทรัพยากรอย่าง ปลา มันสามารถว่ายเปลี่ยนถิ่นอาศัยไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นของผู้ใดคนหนึ่ง มันจึงเป็นส่วนที่ท้าทายว่าเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

The MATTER : ในประเทศไทยเราเองจัดการเรื่องนี้อย่างไร

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : ประเทศไทยเราก็มีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน ไทยมี 24 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาข้ามไปทะเลจังหวัดไหน ซึ่งทะเลไม่มีการลากเส้นชัดเจน  แผนที่ทะเลจึงต้องมีความชัดเจนมากขึ้น อำเภอแต่ละอำเภอมีความรับผิดชอบแค่ไหน นับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร

ทะเลมีความเป็นทรัพยากรส่วนร่วมเยอะ ทุกคนวิ่งไปใช้ประโยชน์  แต่การพังทลายเกิดขึ้น ความเสียหายนี้ใครจะรับผิดชอบ ก็ยังหาคนดูแลไม่ได้ จะหาหน่วยงานชายฝั่งหน่วยเดียวที่รับผิดชอบพื้นที่เป็นพันกว่ากิโลเมตรก็ยากลำบาก จังหวัดก็จะไม่รู้จักความเป็นเจ้าของ กฎหมายที่ดูแลดันมีหลายฉบับและไม่สอดคล้องกัน กฎมายท่าเรืออย่างหนึ่ง กรมเจ้าท่าอีกอย่างหนึ่ง  พอจะดูแลป่าชายเลนก็อีกกฎหมายหนึ่ง  ทั้งๆ ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน หาคนรับผิดชอบไม่ได้ แต่พอหาได้ คนก็อาจจะเกี่ยงกันนิดนึง

The MATTER : การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งใน 'มูลค่า' ที่ประเทศเราตักตวงจากทะเลได้อย่างมหาศาล อาจารย์มองว่าการท่องเที่ยวของเราเป็นแบบไหน

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : เราเห็นมูลค่าชัดเจนนะ  แต่ไม่ได้เห็นจากทะเลล้วนๆ ต้องผ่านกรอบการท่องเที่ยวทะเล เราไปเที่ยวแล้วไม่มีความรู้สึกไปทำความสะอาดชายหาด เราไม่รู้สึกว่าการที่เราลงเรือสกู๊ตเตอร์ไปมาก่อคลื่นที่เปลี่ยนทิศทางสามารถทำลายชายหาดได้  บัดนี้มันเห็นผลแล้วถ้าคุณไปดูกรณีของพัทยาหรือบางแสน คำถามคือ นักท่องเที่ยวอย่างเกาะพะงันที่ไปฟูลมูนปาร์ตี้ได้ลงเก็บขยะหรือเปล่าหลังจากงานเลิก ตอนนี้ใช้ระบบรณรงค์มากกว่าที่จะสร้างจิตสำนึก ทุกคนตระหนัก แต่ไม่ยอมปฏิบัติ

การโปรโมตการท่องเที่ยวเราไม่เคยใช้โอกาสแบบนี้ เรากินข้าวเสร็จเราลุกจากโต๊ะอาหารทันที พูดรุนแรงหน่อยคือ สะบัดก้นออกไปเลย เราไม่ได้ใส่ใจว่าคนที่อยู่ตรงนั้นเขาทำอะไรต่อ

 

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

The MATTER : มันเป็นหน้าที่ของเราเท่านั้นหรือเปล่า

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : ทำไมผู้บริโภคต้องใส่ใจ? ต้องไปตามดูทุกครั้งหรือว่าขยะร้านนี้ทิ้งอย่างไร มันคงไม่ใช่หน้าที่ของเราซะทีเดียว แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน เรายังไม่เคยเห็นการบริหารน้ำจืดน้ำเค็มจากแหล่งท่องเที่ยวที่เราไป เราเรียกร้องที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ไหม เวลาพูดถึงน้ำเสีย ประเทศเราจะไม่ยอมให้ใครเห็น จะเอาไปแอบๆ ซะ ในขณะบางประเทศจะเปิดให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำว่าลงทะเลอย่างไร พอคนได้เห็นความเป็นจริง พวกเขาจะรับรู้สถานการณ์ที่คนริมฝั่งกำลังเผชิญอยู่  การท่องเที่ยวของเราลูบหน้าปะจมูกเกินไป กลัวคนเห็นสิ่งไม่ดี

TheMATTER : การโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีปัญหา?

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : การท่องเที่ยวของเราละเลยการทำผังเมือง เราอยากส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมธุรกิจโฮมสเตย์ ร้านอาหาร การพักผ่อน แต่ขาดการวางแผนว่าโซนไหนเหมาะสม  มีน้ำประปาเข้าถึงหรือยัง มีระบบถ่ายเทน้ำเสียไหม ระบบการดูแลขยะจัดการอย่างไร คือเราส่งเสริมอย่างเดียวจน 'ลืม' ความสะอาด และสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย จากนั้นผู้ประกอบการจะดิ้นรนกันเอง เพราะเราไม่มีสิ่งรองรับเขาไว้ เขาก็จะไปเบียดเบียนกันเอง เบียดเบียนคนอื่น หากการท่องเที่ยวมีการวางแผนไว้สำหรับผู้ประกอบการ  คนเที่ยวก็สบายใจ คนจัดการก็สบายใจ

เวลาไปเที่ยวเราทิ้ง 'รอยเท้า' ไว้เสมอ มีใครคนจัดการไหม เศษขยะที่เราทิ้งมีใครจัดการต่อหรือเปล่า อาบน้ำในโรงแรง น้ำสะอาดมาจากไหน คนเราไม่เคยตั้งคำถาม แต่ถ้าเมื่อไหร่น้ำไม่ไหลไฟดับ โกรธเชียว ไปรีวิวว่าโรงแรมนี้ไม่ดี อย่าไป  แต่ในความเป็นจริงเราไปแย่งน้ำแย่งไฟเขาใช่ไหม เราเป็นคนนอกต่างหาก ไม่ใช่คนในพื้นที่

เราลืมนึกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดการบางอย่างเราใช้ระบบ top down คิดว่าตรงนี้เหมาะสม เกิดจากการที่กลุ่มคนชุดหนึ่งบอกว่าพื้นที่ตรงนี้ดี โปรโมตการท่องเที่ยวเลย ปรากฏว่าคนส่งเสริมเป็นคนนอกพื้นที่ คนในพื้นที่ถูกละเลย ไม่ดึงเข้ามามีส่วน

ถ้าจะให้เจาะลึกไปก็คือ หัวหินและชะอำมีปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง ภูเก็ตเองเริ่มมีปัญหาไฟฟ้าและน้ำจืด โชคดีจังหวัดในภาคใต้เป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุก น้ำประปาจึงจะไม่เดือดร้อนเท่ากับไฟฟ้าที่กระชากดับเป็นพักๆ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกไฟฟ้ายังไม่น่าเป็นห่วง แต่เปราะบางเรื่องน้ำจืด น้ำประปา เพราะเขาไม่มีแม่น้ำ แล้วจะเอาน้ำจากไหน ตอนนี้มีการผันน้ำข้ามจังหวัด จากเขื่อนเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน ผันไปที่หัวหินเพราะน้ำไม่พอใช้  แต่ตอนนี้กลับมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นมากมาย เรื่องเหล่านี้ต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านเพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ นักท่องเที่ยวต้องรู้ด้วย ไม่ใช่นักท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย

The MATTER : พฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบไหนที่ยั่งยืนและอาจารย์อยากให้เปลี่ยนมุมมอง

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ : อยากให้ลองเปลี่ยนไปเที่ยวหลังฤดูท่องเที่ยว คือหมดซีซั่นท่องเที่ยวในวันสุดท้าย จังหวะนั้นให้ลองไปเที่ยวดู ท่านจะเห็นความเสื่อมโทรมของพื้นที่ สนามหญ้าถูกเหยียบไปหมด หาดทรายเละ ขยะเป็นกองๆ ชักโครกก็ไม่ลง ร้านอาหารสั่งอะไรไปก็หมด ถ้าเราเห็นแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร?

คุณอาจโวยไม่มาแล้ว จะไปเที่ยวช่วงต้นฤดูแทน ไอ้แบบนี้ก็กลับมาอีกเป็นลูปเดิม พฤติกรรมการเที่ยวของเราไม่จำเป็นต้องเฮโลไปตามแฟชั่น ต้องเที่ยวแบบ 'เอาใจเขามาใส่ใจเรา'

รัฐบาลพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง อำเภอรอง อันนี้ก็เป็นทางออกประเภทหนึ่ง แต่หากพื้นที่ไม่รองรับก็เป็นปัญหาเดิมอีก อยากให้ทุกท่านกระจายเวลาเที่ยว หลีกเลี่ยงความแออัด อย่าคาดหวังว่าจะต้องตามกระแสเฟซบุ๊ก ใครลงก่อนเก๋ก่อน  เราต้องเข้าใจว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด ประมงมีฤดูกาล ปลา กุ้ง ปลาหมึกมีฤดูพักอาศัย บางฤดูไม่ควรกินก็ต้องเข้าใจ ถ้ากระจายเวลาเที่ยวก็จะเป็นการกระจายการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

กลับมาสู่ความคิดตั้งต้นว่า คุณไปเที่ยวเพื่ออะไร 'กระจายรายได้' หรือ 'ไปใช้ทรัพยากรบ้านเขา' ถามตัวเองเช่นนี้ทุกครั้งก่อนเดินทาง และทะเลไทยจะยังเป็นสถานที่มอบความทรงจำที่ดีได้อีกสักระยะ

ขอขอบคุณ

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0