โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มหาธีร์โมเดล "ยกเครื่องเศรษฐกิจ" มาเลเซีย

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2561 เวลา 03.30 น.
55

เมื่อรัฐบุรุษ “ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด” มาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ครั้งที่ 2 พร้อมประกาศนโยบาย “เร่งด่วน” โฟกัสที่การฟื้นคืนเศรษฐกิจ และติดตามเงินที่ถูกทุจริตกลับคืนมา ในมุมมองของนักวิเคราะห์ชื่นชมและยกย่องให้เป็น “โมเดล” แห่งปีสำหรับหลายประเทศอาเซียนที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง

การกลับมาของ “ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด” ถือเป็นการแก้จุดด่างพร้อยให้กับมาเลเซีย รวมถึงกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชน หลังจากที่ลูกศิษย์อย่าง “นาจิบ ราซัก” สร้างความน่าผิดหวัง

รอยเตอร์สวิเคราะห์หลังประกาศผลการเลือกตั้งว่า สิ่งที่ “นาจิบ ราซัก” ทำพลาดอย่างแรง และเป็นเหตุให้ไม่ชนะการเลือกตั้งคือ “เรื่องเศรษฐกิจ” ความไม่พอใจของประชาชนรุนแรงต่อเนื่อง นับตั้งแต่กรณีทุจริตเงินกองทุน 1MDB จนไปถึงนโยบายขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) ในอัตรา 6% ในปี 2015 เพื่อชดเชยจากที่ราคาน้ำมันตลาดโลกตกต่ำ รวมถึงรายได้จากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่เป็นการผลักภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

สถานะทางการเงินมาเลเซียย่ำแย่ หลังจากที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจนมีปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 ล้านล้านริงกิต คิดเป็น 65% ของจีดีพี

นโยบายอันดับแรก ๆ ของมหาธีร์ จึงเป็นการโอบอุ้มความเชื่อมั่นของประชาชน ด้วยการยกเลิกการจัดเก็บภาษี GST จาก 6% เป็น 0% โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มิ.ย.นี้

เดอะ สตาร์ ของมาเลเซียรายงานว่า นับจากวันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป รัฐบาลชุดใหม่จะนำมาตรการ “ภาษีขายและบริการ” (sales and services tax : SST) มาใช้แทน คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าในมาเลเซียปรับลด เป็นผลดีต่อการบริโภคโดยรวม รวมถึงการบริโภคสินค้าและบริการจากต่างประเทศด้วย

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์บางรายกังวลว่า รัฐบาลจะขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่นางเซติ อัคห์ตาร์ อาซิส อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ยืนยันว่ารัฐบาลมหาธีร์จะมีรายได้ตามเป้า จากการจัดอันดับความสำคัญการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อหลีกเลี่ยงรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งการหาแหล่งรายได้ใหม่

ขณะที่ผู้นำมาเลเซียระบุว่า รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อลดหนี้สาธารณะของประเทศ หนึ่งในแนวทางคือการยุบหน่วยงาน “ที่ไม่จำเป็น” และพิจารณาปลดลูกจ้างภาครัฐที่แต่งตั้งด้วยเหตุผลทางการเมือง พร้อมกับเตรียมนำมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาใช้ เพื่อตรึงราคาน้ำมันไม่ให้เป็นภาระผู้บริโภคมากเกินไป รวมถึง “ทบทวน” และ “ตรวจสอบ” โครงการร่วมทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลนาจิบดำเนินการไว้

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ที่ประชุมมีมติปรับลดเงินเดือนของคณะรัฐมนตรี รวมถึงนายกฯมหาธีร์ ลง 10% เพื่อลดค่าใช้จ่ายประเทศ โดยอัตราเงินเดือนก่อนปรับลดของนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 22,827 ริงกิต, รองนายกรัฐมนตรี 18,168 ริงกิต, รัฐมนตรี 14,907 ริงกิต และรัฐมนตรีช่วย 10,848 ริงกิต

นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งหนึ่งของฮ่องกงกล่าวว่า ดร.มหาธีร์กำลังแสดงบทบาทการเป็นผู้นำประเทศที่ดี โดยมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นประชาชน นับว่าเป็นแนวทางที่น่าเป็นแบบอย่าง หากสำเร็จตามที่คาดหมายเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจมาเลเซียขึ้นยืนหยัดเทียบเคียงสิงคโปร์

ขณะที่นักวิเคราะห์จากสิงคโปร์มองว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองที่ดีต้องเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ หนึ่งนโยบายการปราบทุจริตของ ดร.มหาธีร์ เป็นการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบนักการเมืองที่เกี่ยวข้องในกองทุน 1MDB รวมทั้งการทุจริตอื่น การจัดการคอร์รัปชั่นของมาเลเซีย จะสามารถเทียบชั้นกับสิงคโปร์ สหรัฐ และสวิตเซอร์แลนด์ได้

พูดได้ว่า “มหาธีร์โมเดล” จะเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่หลายประเทศในอาเซียนควรนำมาปรับใช้ รากฐานของประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นสูง มักฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศโตไม่สดใสเสมอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0