โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มหรสพในราชสำนักพม่า เสียดสีเจ้าโดนโทษหนัก-คนหล่ออยู่ยาก กษัตริย์รำคาญพระราชหฤทัย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 ส.ค. 2566 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 02 ส.ค. 2566 เวลา 08.20 น.
ภาพปก - ละครพม่า อูซานโทเค มาลเวเล
(ซ้าย) อูซานโทเค นักแสดงบทอิเหนา ภาพจาก Art of Asia, 1989 มาลเวเล นักรำของราชสำนักพม่า [ภาพจาก Art of Asia, 1989]

เชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยาที่พม่ากวาดต้อนมาหลังตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 นั้นมีหลากหลายกลุ่มและเป็นที่รู้กันว่าเหล่าช่างฝีมือ นางละคร หรือขุนนางตกยากยังช่วยส่งเสริมศิลปะด้านต่างๆ ทั้งในราชสำนักของพม่าเอง และขยายมาสู่ประชาชนทั่วไปในภายหลัง ความนิยมในละครที่นางละครหรือศิลปินสยามนำไปแสดงนั้นสะท้อนผ่านกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ “มหรสพ” ในราชสำนักพม่าอีกหลายสิบปีต่อมา ในยุคที่ มหรสพ ได้รับความนิยม มีระเบียบห้ามผู้แต่งบทละครเสียดสีพระราชสำนักมิเช่นนั้นจะถูกตัดมือ

โนเอล เอฟ ซิงเกอร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ศึกษาเรื่องรามเกียรติ์ในราชสำนักพม่า และเขียนบทความชื่อ “รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่า” อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นผู้แปล เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าว่า วรรณกรรมของพม่าก่อนปี พ.ศ. 2313 ไม่มีกล่าวถึงเรื่องรามเกียรติ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหมู่นักปราชญ์น่าจะพอรู้จักเรื่องรามเกียรติ์กันแล้ว เนื่องจากช่วงเวลานั้นพบการแปลงานวรรณกรรมทั้งทางโลกและทางศาสนาจากประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างเป็นภาษาพม่าแล้ว

บทความของนักวิชาการท่านนี้เผยแพร่ในนิตยสารด้านศิลปะ (Art of Asia) เมื่อปี พ.ศ. 2532 เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงการนำเข้าศิลปะการแสดงจากอยุธยามายังพม่า หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้งนั้นมีบันทึกชัดเจนว่า เชลยศึกที่พม่ากวาดต้อนไปยังกรุงรัตนปุระอังวะ มีทั้งช่างฝีมือ นางละคร นักดนตรี ขณะที่เชื้อพระวงศ์เมื่อต้องอาศัยในพม่านานเข้าก็เริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตในเมืองหลวง จึงคิดตั้งคณะละครขึ้น เนื่องด้วยความคิดถึงบ้านเกิด

สิ่งที่ตามมาคือทำให้เกิดการเล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ในราชสำนักพม่าเป็นครั้งแรก ผู้เขียนบทความอธิบายว่า ผู้แสดงเป็นขุนนางตกยากจากสยามที่แต่งกายตามประเพณี และรำด้วยจังหวะเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยา การแสดงได้รับความนิยมในชนชั้นปกครองและกลุ่มศิลปินในกรุงรัตนปุระอังวะ กระทั่งในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าปดุง (พ.ศ. 2325-2362) ที่ประชาชนทั่วไปเริ่มรับรู้ถึงความบันเทิงรูปแบบใหม่ โดยที่บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่กระจายทั่วประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแสดงแพร่ออกไป หลังจัดคณะละครจากเมืองหลวงติดตามไปแสดงระหว่างเดินทางไปต่างเมือง

สมัยพระเจ้าจิงกูจา (พ.ศ.2319-2324) เสด็จขึ้นครองราชย์ บรรยากาศในราชสำนักยังมีกลิ่นอายความหรูหราร่ำรวยทางวัฒนธรรม พระนางตเคง พระมเหสีเอกของพระเจ้าจิงกูจาทรงเป็นนักเขียนและกวีเอกที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการแสดงรามเกียรติ์ ซึ่งในภาษาพม่าเรียกกันว่า “ชาดก” (Yama Zatdaw) และยังเป็นผู้นำเพลงของพม่าที่แต่งขึ้นใหม่มาประกอบการแสดงแทนของเดิมของชาวกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มเสื่อมความนิยม ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในเพลง เชื่อว่า การแต่งกายก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยนี้ด้วย

มีเรื่องเล่าว่า บางครั้งที่พระเจ้าจิงกูจาทรงทอดพระเนตรการแสดงอยู่จะทรงลุกขึ้น ทรงพระแสงดาบไล่ฟันพวกยักษ์และลิง ทรงร่วมแสดงด้วยอย่างสนุกสนาน อันสืบเนื่องมาจากผลของฤทธิ์น้ำจัณฑ์ แต่ความสนุกสนานนำความอับอายมาสู่พระมเหสีและหมู่อำมาตย์ข้าราชสำนักบางกลุ่ม ต่อมาพระเจ้าจิงกูจาถูกพระเจ้าลุง (พระเจ้าปดุง, พ.ศ. 2325-2362) ฉวยโอกาสยึดอำนาจและประหารชีวิตพระราชนัดดา

เนื่องด้วยพระเจ้าปดุง ทรงโปรดการสงคราม จึงทรงปล่อยให้พระราชโอรสเป็นผู้ดูแลศิลปวัฒนธรรม เมื่อพระเจ้าปดุงสวรรคต เป็นพระราชนัดดาคือสะกาย เมง (พ.ศ. 2362-2380) เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์มีดนตรีในพระทัย และโปรดการแสดงและละคร

อู คิด (U Khit) เป็นขุนนางที่รับผิดชอบการละครฟ้อนรำในรัชสมัยพระองค์ และออกข้อบังคับเข้มงวดควบคุมบรรดาตัวละครและนักแสดงหุ่นในราชสำนัก ผู้เขียนบทความอธิบายว่า อู คิด บังคับให้ทำตามระเบียบข้อบังคับด้วยการตราบทลงโทษอย่างเด็ดขาด นักแต่งบทละครที่กล่าวละเมิดหรือเสียดสีราชสำนักหรือพระจะถูกลงโทษตัดมือทิ้ง นักแสดงและนักร้องที่ทำผิดจะถูกตัดลิ้น ทะเบียนตัวละครในราชสำนักระหว่าง พ.ศ. 2364 เหลือเพียง 17 คน นักดนตรีอีก 10 คน

ในสมัยนี้ยังนิยมรามเกียรติ์กันอยู่ แต่เริ่มมีละครคู่แข่งคืออิเหนาเข้ามา เมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าคองบองมิน (พ.ศ. 2380-2389) สถานการณ์การเมืองเริ่มไม่มั่นคง อีกทั้งกษัตริย์ยังมีพระอาการประชวร บรรยากาศศิลปะการแสดงไม่รุ่งเรืองเท่าที่ควร

รามเกียรติ์เริ่มเสื่อมความนิยมอย่างชัดเจนในสมัยพระเจ้ามินดง (พ.ศ. 2396-2421) พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เคร่งพระพุทธศาสนา ไม่โปรดการละคร เหลือเพียงการแสดงหุ่นเล็ก และไม่ค่อยปรากฏการแสดงรามเกียรติ์ทั้งเรื่อง เหลือเพียงการแสดงบางตอนที่ถูกใจข้าราชสำนัก

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญช่วงสุดท้ายของการละครในราชสำนักพม่าคือสมัยพระเจ้าธีบอ (พ.ศ. 2421-2428) ทั้งพระองค์และพระนางศุภยลัต พระราชินีผู้ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หยิ่งยโสและก้าวร้าว ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ในพระราชวังที่แวดล้อมด้วยความมั่งคั่ง สนพระทัยการละครและพระราชพิธีในราชสำนัก

ปลายรัชสมัยพระเจ้าธีบอ มีการสร้างโรงละครหลวง และโรงละครชั่วคราวอีก 2 โรง แสดงรามาชาดกทั้ง 2 โรง ผู้ชมเป็นข้าราชสำนักชายของพระเจ้าธีบอ

ส่วนฝั่งหญิงจะนิยมเรื่องอิเหนา ซึ่งมี “อูซานโทเค” (U San Toke) แสดงเป็นอิเหนาตัวพระเอกของเรื่อง เล่ากันว่า นักแสดงผู้นี้รูปโฉมหล่อเหลา ทำเอานางกำนัลฝ่ายในปั่นป่วนรัญจวนใจทุกครั้งที่เขาปรากฏตัว แย่งกันให้ของขวัญของกำนัล อันเป็นผลให้พระเจ้าธีบอรำคาญพระราชหฤทัย พระองค์มีพระราชบัญชาให้อูซานโทเค ปิดหน้าด้วยผ้าบางๆ ทุกครั้งที่เข้ามาในเขตพระราชฐาน

ไม่เพียงอูซานโทเค ที่มีชื่อเสียง นักแสดงฝ่ายหญิงอย่างเชงดอมาเล (Yindaw Ma Lay) ที่เล่นเป็นนางบุษบาก็ลือชื่อเรื่องความงดงาม ส่วนนักแสดงรามเกียรติ์ที่เล่นเป็นนางสีดา (หรือบางครั้งก็เล่นเป็นนางมโนห์รา) คือมาลเวเล (Ma Htwat Lay) ก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน

รายละเอียดที่น่าสนใจอีกประการของการแสดงในพม่ายุคนั้นคือไม่มีเวที ไม่มีห้องแต่งตัว หรือสถานที่เปลี่ยนชุด ศิลปินจึงต้องพยายามเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอย่างระมัดระวังและให้มิดชิดที่สุดเท่าที่เป็นได้ท่ามกลางสายตาของผู้ชม

จุดเสื่อมของการแสดงตั้งต้นขึ้นเมื่อมีการรวมพม่าตอนเหนือของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2428 คณะละครของราชสำนักแตกกระเซ็นกันไป บางคนออกไปตั้งวงของตัวเอง บางคนไปสมัครถวายงานในราชสำนักของเจ้าฟ้าที่รัฐฉาน

ส่วนกลุ่มนักแสดงที่สืบทอดเชื้อสายเชลยศึกจากอยุธยาก็ยังเปิดการแสดงรามเกียรติ์กันประปราย การแสดงยังยึดรูปแบบของบรรพบุรุษ บางกลุ่มรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรม อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิมไว้อย่างหวงแหน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Noel F. Singer. “The Ramayana at the Burmese Courts”, Art of Asia. November-December 1989 พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 (เมษายน, 2534)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0