โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'มวยเด็ก'สนุกหรือรุนแรง? เหยื่อกีฬาเดิมพันด้วยชีวิต

เดลินิวส์

อัพเดต 21 พ.ย. 2561 เวลา 08.33 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2561 เวลา 08.33 น. • Dailynews
'มวยเด็ก'สนุกหรือรุนแรง? เหยื่อกีฬาเดิมพันด้วยชีวิต
มูลนิธิศุภนิมิตฯ รณรงค์ “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก” เผยสถิติเกิดขึ้นในบ้านฝีมือพ่อแม่-คนเลี้ยงดู นักวิชาการยกเคส “กีฬามวย” ถ้าไร้อุปสงค์มวยเด็กก็ไม่เกิด แนะมองรอบด้าน จับสังเกตใครหาประโยชน์ใช้แรงงานเด็ก?

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันสิทธิเด็กสากล ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก” โดยมี ดร.เกลียวทอง เหตระกูล ประธานคณะกรรมการอำนวยการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนจากทุกภาคของประเทศ โดยให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ถามเข้ามาในเรื่องปัญหาความรุนแรงที่มีต่อเด็ก ทั้งที่ประสบเองและได้รับฟังมา ทั้งทางร่างกายและจิตใจในครอบครัว พร้อมให้การอภิปรายเพื่อเสนอแนะทางแก้ไข โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ 

  ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผอ.มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 25 พ.ย. เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ดังนั้นมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะองค์กรสาธารณกุศลที่ทำงานเพื่อเด็ก ครอบครัว และชุมชนที่ยากไร้ จึงจัดกิจกรรมขึ้นในครั้งนี้ โดยปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กจำนวน 1.7 พันล้านคน กำลังถูกกระทำด้วยความรุนแรงในรูปแบต่างๆ ดังต่อไปนี้ เด็กอายุ 2-14 ปี จำนวน 6 ใน 10 คนถูกกระทำรุนแรงทางกายจากพ่อแม่ หรือคนที่ดูแลเลี้ยงดู ขณะที่เด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 20 ปี หนึ่งใน 10 คนถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ส่วนเด็กในวัยเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 1 ใน 3 คนถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจ เช่น ถูกล้อเลียนจากเพื่อนในทุกวันที่ไปโรงเรียน และมีเด็กจำนวนมากถึง 28 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดเพราะความความไม่สงบการก่อการร้ายและสงคราม จึงส่งผลให้ 28% ของเด็กทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือการค้ามนุษย์   จากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (ศูนย์พึ่งได้) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กไทย 10,712 คน ถูกกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคนที่ดูแลเลี้ยงดูพวกเขา แยกเป็นจำนวน 2,470 คนถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย และจำนวน 6,740 คนถูกกระทำรุนแรงทางเพศ และมีเด็ก 1,502 คนถูกกระทำรุนแรงรูปแบบอื่น   โดยนางสายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ความรุนแรงหนึ่งในครอบครัว คือ การทำตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังไม่สำเร็จ ฉะนั้นทั้ง 2 ฝ่ายควรพูดคุยกันตั้งแต่เนิ่นๆ จัดการชีวิตโดยบอกพ่อแม่ เช่น ถ้าลูกฝันว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ ครู หมอ ฯลฯ พ่อแม่ก็ควรจะรับฟังไว้ เพราะการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จะทำให้ความรุนแรงทางวาจาในครอบครัวลดน้อยลง 

  ขณะที่ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จริงๆ แล้วช่วงเริ่มต้นอายุจนถึงป.4 ควรสอนทักษะชีวิตให้แก่เด็ก ให้โอกาสได้สื่อสารความต้องการของตัวเองกับพ่อแม่ขณะที่พ่อแม่อารมณ์ปกติ เป็นวิธีที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ได้ผลกับลูกๆ โดยคุยกันด้วยเหตุและผล ปัญหาก็จะมีแนวโน้มลดลง ฉะนั้นถ้าความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไร สังคมไทยก็ควรจะเลิกใช้ให้หมดเสียที ทั้งนี้ดร.วิมลทิพย์ ยังได้ตอบข้อสอบถามว่า กีฬาในเด็กจะสอนการรู้แพ้รู้ชนะ สอนการมีชีวิตอยู่ร่วมกันฉันเพื่อนมนุษย์ แต่ถ้าบางกีฬาถึงกับต้องเสียชีวิตก่อนวัยเติบโต ก็ดูจะไม่ยุติธรรมกับชีวิตเล็กๆ ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจว่าเขาเป็นเด็ก มวยผู้ใหญ่มีอยู่แล้วก็น่าจะพอไหม ขนาดมวยผู้ใหญ่แข็งแกร่งมากยังมีอาการแย่ได้เลย ของแบบนี้ถ้าอุปสงค์ไม่มาก มวยเด็กก็อาจจะไม่เกิดขึ้น    ด้านนายเกรียงไกร ไชยเมืองดี ผอ.มูลนิธิรักษ์เด็กและผู้แทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับกีฬาชกมวยมีหลายมิติ บางกลุ่มก็มองว่าพัฒนาชีวิตครอบครัวเด็กรวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมควบคู่ไปกับการป้องกันเด็ก ไม่ให้เกิดผลกระทบทางร่างกายและสมอง ทั้งกฎหมายแรงงานที่ระบุว่า ถ้าอายุต่ำกว่า 15 ปีจะต้องมีประเภทงานและชั่วโมงการทำงานของเด็กที่เหมาะสม แล้วเด็กตีมวยเป็นการใช้เด็กหาประโยชน์เกินไปไหม ซึ่งต้องคิดให้รอบด้าน เช่น ค่าตัวถือเป็นการใช้แรงงงานเด็กหรือไม่ ต้องไปดูกฎหมายถ้าต่ำกว่า 12 ปีห้ามใช้แรงงาน และอีกเรื่องการไม่ประมาทด้วยการสวมเฮดการ์ด ไม่ใช่ไม่ใส่ก็ได้ และผู้ใหญ่จะไปคิดแทนเด็กว่าไม่เป็นไรไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจของเด็ก.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0