โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร ในปี 2050?

ลงทุนแมน

อัพเดต 17 ส.ค. 2561 เวลา 17.56 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2561 เวลา 13.55 น. • ลงทุนแมน

มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร ในปี 2050? / โดย ลงทุนแมน

เมื่อมนุษยชาติกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ความหมายของการเป็นมนุษย์กำลังจะไม่เหมือนเดิม
ในที่สุดโครงสร้างของการตระหนักรับรู้ จะถูกหลอมละลาย..

นี่คือคำกล่าวของ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Sapiens และ Homo Deus

ล่าสุดได้มีบทความจาก WIRED ซึ่งมาจากหนังสือที่กำลังจะวางแผงเร็วๆ นี้ชื่อ 21 Lessons for the 21st Century

บทความนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจว่ามนุษยชาติจะต้องเจออะไรบ้างในปี 2050

สำหรับใครที่ไม่ค่อยถนัดภาษาอังกฤษ ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟังว่า เรื่องนี้เป็นอย่างไร

“สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือความไม่แน่นอน”
นี่คือคำกล่าวเริ่มเรื่องของผู้เขียน ที่ดูเหมือนชาวพุทธจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี
แต่เรื่องนี้กำลังจะเป็นอย่างนั้นในปี 2050

เรา และ ลูกหลานของเรา จะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้

ในปี 2050 เด็กที่เกิดในวันนี้จะมีอายุประมาณ 30 กว่าปี
และถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น พวกเขาก็น่าจะอยู่จนถึงปี 2100

โลกเขาเราจะเป็นอย่างไรในปี 2050?
เราจะมีวิธีสอนให้เด็กเหล่านี้เติบโตและอยู่รอดได้อย่างไร?

เชื่อว่าคงไม่มีใครบอกได้ว่าในปี 2050 โลกของเราจะเป็นอย่างไร และยิ่งไม่ต้องคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2100

มนุษย์เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำอยู่แล้ว
และการคาดการณ์ในปัจจุบันก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้นกว่าในอดีต

เมื่อพันปีก่อน แน่นอนว่ามีหลายสิ่งที่คนในสมัยนั้นไม่รู้เกี่ยวกับโลกในอนาคต
แต่พวกเขาก็มั่นใจได้ว่าพื้นฐานการใช้ชีวิตก็คงจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก

ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเราเป็นคนจีนในปี 1018 ก็อาจจะพอคาดการณ์ได้ถึงเหตุการณ์ในปี 1050 ได้
ในตอนนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงกษัตริย์ที่มาปกครอง หรือมีโรคระบาดที่จะคร่าชีวิตคนจำนวนมาก

แต่ไม่ว่าอย่างไร คนในปี 1050 ก็ยังมีวิถีชีวิตที่ไม่ต่างจากคนในปี 1018

ในช่วงนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังมีอาชีพทำการเกษตรหรือทอผ้า ผู้ปกครองก็ยังพึ่งพามนุษย์ให้เป็นกองทัพ ผู้ชายก็ยังอยู่เหนือผู้หญิง และอายุขัยก็อยู่ราวๆ 40 ปี

ดังนั้นในปี 1018 คนจีนก็ยังสอนลูกให้ปลูกข้าว และทอผ้าไหม
ถ้ารวยขึ้นมาหน่อยก็สอนให้ลูกชายอ่านขงจื๊อ ฝึกเขียนอักษรจีน หรือการรบบนหลังม้า
ส่วนลูกสาวก็ถูกสอนให้เรียบร้อยและเป็นภรรยาที่อยู่ภายใต้โอวาทของสามี

ในทางตรงกันข้าม
เราไม่รู้เลยว่าประเทศจีน และ ประเทศอื่นในโลกนี้จะเป็นอย่างไรในปี 2050

เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าในปี 2050 ลูกหลานของเราจะต้องประกอบอาชีพอะไร

บทบาทหน้าที่ระหว่างชายและหญิงจะเป็นอย่างไร หรือระบอบการปกครองจะเป็นอย่างไร

ต้องขอบคุณวิศวกรรมทางชีววิทยา (Bioengineering) และ การเชื่อมต่อจากสมองคนเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้สิ่งที่เด็กเรียนรู้อยู่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีความหมายเลยในปี 2050

โรงเรียนส่วนมากจะสอนให้เด็กจำข้อมูล ซึ่งก็มีเหตุผล
เนื่องจากในอดีตการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องยาก แม้เราจะสามารถอ่านออกเขียนได้
แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ถูกควบคุม หรือบิดเบือนก่อนที่จะถูกตีพิมพ์สู่สาธารณะ

ในทางกลับกัน โลกของศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก
แม้บางคนพยายามจะควบคุม แต่ก็ถือเป็นเรื่องยาก

ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงก็มีปะปนกันไป
และการที่ข้อมูลมีมากมาย ก็มีผลเสียเช่นกัน คือทำให้คนมีตัวเลือกมากขึ้น
เรื่องไหนเข้าใจยาก ก็เปลี่ยนไปดูวิดีโอตลกหรือเรื่องซุบซิบของดาราแทน

ในโลกที่เป็นแบบนี้ สิ่งสุดท้ายที่ครูควรจะทำก็คือการป้อนข้อมูลให้กับเด็กเพิ่ม

แต่ควรจะให้พวกเด็กมีความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูล แยกแยะสิ่งที่สำคัญและไม่สำคัญ
เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลหลายๆ ชิ้นให้เป็นภาพของโลกทั้งใบได้

นอกเหนือจากเรื่องข้อมูล ครูก็มักจะสอนเด็กในเรื่องที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
เช่น การแก้สมการที่ยากๆ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา C++

เนื่องจากเราไม่สามารถจินตนาการได้ว่างานในปี 2050 จำเป็นต้องมีความสามารถอะไร

ตอนนี้เราอยากให้เด็กเรียนภาษาจีน หรือเขียนโปรแกรมด้วยภาษา C++
แต่ในปี 2050 เด็กอาจจะมารู้อีกทีว่าสิ่งที่เขาได้เรียนไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะ AI สามารถเขียนโปรแกรมได้ดีกว่ามนุษย์ Google Translate สามารถแปลภาษาอะไรก็ได้อย่างไร้ข้อบกพร่อง

แล้วอย่างนี้โรงเรียนควรจะสอนอะไร?

เราควรลดการสอนวิชาทักษะเฉพาะด้าน แต่เพิ่มเรื่องทักษะการใช้ชีวิตโดยทั่วไป (General-purpose life skill)

โดยเฉพาะความสามารถในการยอมรับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้สิ่งใหม่ และปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย

ในปี 2050 เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการคิดค้นสิ่งใหม่ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ

ในกลางศตวรรษที่ 21 โลกจะเปลี่ยนเร็วขึ้น

ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ในวัย 15 ปีคุณอาจจะต้องเผชิญสิ่งใหม่ และเราก็ตื่นเต้นกับมัน

แต่เมื่อเราอายุ 50 ปี เราก็จะเริ่มไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร

เราจะต้องเรียนรู้ที่จะทิ้งสิ่งที่เรารู้ดีที่สุด และรู้สึกยินดีกับเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

แต่แย่หน่อยการที่จะสอนเรื่องเหล่านี้ให้กับเด็ก อาจจะยากกว่าการสอนสมการยากๆ หรือการท่องจำสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เรื่องที่อยากจะแนะนำเด็กอายุ 15 ปี ก็คือ อย่าพึ่งพาผู้ใหญ่มาก

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่หวังดี พวกเขาแค่ไม่เข้าใจโลกนี้ เพราะโลกนี้เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่พวกเขาคิด

ในศตวรรษที่ 21 เราไม่อาจจะรู้ได้เลยว่าการเดินตามรอยเท้าของผู้ใหญ่จะนำพาเราไปเจอกับสภาพแวดล้อมแบบไหน

แล้วจะให้เชื่อใคร เทคโนโลยีเหรอ? คำตอบคือค่อนข้างเสี่ยง

เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่แย่
ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เทคโนโลยีก็จะเป็นตัวช่วยให้เราได้สิ่งที่ต้องการ

แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เราก็จะถูกเทคโนโลยีควบคุมชีวิตเราแทน

ยิ่งในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าใจมนุษย์มากขึ้น
ก็ยิ่งทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีมากขึ้น

ลองนึกภาพคนที่เหมือนซอมบี้เดินอยู่บนถนน แต่สายตาจ้องติดอยู่กับจอมือถือ
เราคิดว่าเขากำลังควบคุมเทคโนโลยี หรือกำลังถูกเทคโนโลยีควบคุม ?

หรือเราควรจะเชื่อในตัวเอง?

แน่ใจแล้วหรือว่าเราจะเชื่อในตัวเอง
เนื่องจากทุกวันนี้เราต้องพบเจอกับสิ่งจูงใจมากมาย
ทั้งด้านการเมืองหรือธุรกิจ ก็พร้อมที่จะจูงใจให้เราเชื่อไปตามพวกเขา
Coca-Cola, Amazon, Baidu และรัฐบาลกำลังแข่งกันแฮ็กตัวเรา

พวกเขากำลังเจาะเข้าสู่ระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์
เราอาจเคยได้ยินเรื่องการแฮ็กคอมพิวเตอร์ แต่ตอนนี้ตัวเรากำลังโดนแฮ็กอยู่
โดยการติดตามว่าเรากำลังจะทำอะไร ไปที่ไหน ซื้ออะไร หรือไปพบใคร
เก็บเป็นข้อมูลที่เรียกว่า Big data เพื่อเรียนรู้เราให้ดียิ่งขึ้น

และเมื่อเราถูกเข้าใจแล้ว เราก็ถูกควบคุมและชักจูงไปได้ง่าย

ในวันที่เครื่องจักร รู้จักเราดียิ่งกว่าตัวเราเอง
อำนาจการควบคุมก็จะถูกเปลื่ยนมือ

เราอาจจะมองว่าก็ดี ที่มีสิ่งเหล่านี้มาช่วยคิด มาทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
และเชื่อใจ ให้มันตัดสินว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าวันหนึ่งเราอยากจะเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองอีกครั้ง
เราจะทำอย่างไร?

เราก็ต้องไปให้เร็วกว่าระบบเหล่านี้ ไปให้เร็วกว่ารัฐบาลและ Amazon

และถ้าเราต้องการวิ่งเร็ว ก็อย่าเอาสัมภาระติดตัวไปมาก
ทิ้งภาพลวงตาเหล่านั้นไว้ข้างหลัง
เพราะจริงๆแล้ว สัมภาระเหล่านั้นหนักมาก..
———————-
ติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ แบบเรียลไทม์ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน โหลดฟรีทั้ง iOS และ android blockdit.com/app
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
———————-

Reference:
– https://www.wired.co.uk/article/yuval-noah-harari-extract-21-lessons-for-the-21st-century

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0