โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มธ.ชงหลักสูตร GEMBA เรียนลัดเจาะตลาดเอเชีย

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 08.39 น.

ธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรสากล Global Executive MBA หวังตอบโจทย์นักลงทุนในไทยและต่างชาติ ตั้งเป้าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย โชว์จุดแข็งเรียนผ่าน Case Study จากวิทยากรองค์กรชั้นนำ

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ กรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งหลักสูตร Global Executive MBA (GEMBA) โครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสากล หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจว่า” หลักสูตร GEMBA นับเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก The Triple Accredited Business Schools คือ AACSB จากสหรัฐอเมริกา, EQUIS จากสหภาพยุโรป และ AMBA จากสหราชอาณาจักร สถาบันการศึกษา
ด้านบริหารธุรกิจจำนวน 13,670 แห่งทั่วโลก และมีไม่ถึง 100 แห่งเท่านั้นที่ผ่านการรับรองครบทั้ง 3 มาตรฐาน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมองว่าภูมิภาคเอเชียกำลังอยู่ในช่วงการเติบโตในด้านการลงทุน ดังนั้นเชื่อว่าหลักสูตรนี้จะสามารถตอบโจทย์ผู้เรียนต่างชาติที่สนใจลงทุนในเอเชียและผู้เรียนในไทยที่อยากทำธุรกิจระดับสากล

*ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ *

“สถานการณ์การทำธุรกิจในปัจจุบันนับเป็นความท้าทายของนักธุรกิจและนักการตลาดอย่างมาก เนื่องจาก Digital disrupt ซึ่งหลักสูตรนี้มีจุดแข็งคือมีวิชาที่เข้ากับยุคสมัยสามารถตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรต่างๆได้ ขณะเดียวกันหลักสูตรนี้ได้ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้ไม่มีเวลา และลดความซํ้าซ้อนด้านวิธีการเรียนโดยปรับเป็นการเรียน 1 วิชาต่อเดือน พร้อมทั้งยังได้วิทยากรจากองค์กรชั้นนำมาเป็นผู้สอนและร่วมออกแบบการเรียนการสอน”

ทั้งนี้หลักสูตร GEMBA มหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นการสอนแบบสาระการเรียนรู้เป็น Global MBA โฟกัสให้ผู้เรียนได้เข้าใจธุรกิจนานาชาติในระดับโลก เรียนโดย Case Study ใช้กรณีศึกษา เรียนจากปัญหา เรียนจากประเด็นที่เกิดขึ้นจริง จากวิทยากรผู้ครํ่าหวอดในธุรกิจชั้นนำ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศไทย อย่าง KPMG, TRUE และ DTAC ร่วมออกแบบหลักสูตรและร่วมสอนกับอาจารย์ของธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้สามารถยกระดับธุรกิจไทยสู่ระดับสากล

 

ขณะเดียวกันในด้านการแข่งขันของธุรกิจมหาวิทยาลัยปัจจุบันมองว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พยายามเปิดวิชาที่มีความหลากหลาย และเพิ่มหลักสูตรด้านออนไลน์เข้ามามากขึ้น รวมทั้งมีการปรับตัวเรื่องของหลักสูตรให้มีความสั้น กระชับเหมาะกับผู้เรียนในปัจจุบันมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมวงการธุรกิจปัจจุบันมีเรื่องของ Platform เข้ามาจำนวนมาก ดังนั้นการแข่งขันจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน โดยแข่งขันกับแนวคิด นวัตกรรม กลยุทธ์ อื่นๆ ไปพร้อมกัน อีกทั้งการวางกลยุทธ์โดยใช้ระยะเวลา 3-6 เดือนเช่นเดียวกับในอดีตนับเป็นเรื่องนานเกินไป เพราะปัจจุบันความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3471 ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0