โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ภูแล สับปะรดไอจี ที่นางแล หนึ่งเดียวในโลก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 23.17 น.
27 ภูแล

ออเดอร์จากลูกค้าต่อวัน 3,000 ตัน ไม่นับรวมจำนวนที่ลูกค้าออเดอร์มามากกว่านั้น แต่ไม่สามารถจัดหาสับปะรดภูแลส่งให้กับลูกค้าได้ เพราะการผลิตสับปะรดภูแลในพื้นที่ ยังได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แม้ 2 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำ เกษตรกรเทขายเป็นกอง แต่สับปะรดภูแลเป็นสับปะรดที่ไม่ได้ถูกนับรวมไปกับปัญหานั้น เพราะมีลักษณะเด่นเฉพาะ มีตลาดเฉพาะ ที่ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบเลย

ผู้ใหญ่สมชาติ วรรณคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 18 บ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ยืนยันด้วยตนเองและน่าเชื่อถือ เพราะเป็นพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านที่ชุมชนให้ความเคารพ ทั้งยังเปรียบเสมือนล้งรายใหญ่รับซื้อสับปะรดภูแลจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อส่งขายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ราว 12 ปีก่อน ผู้ใหญ่สมชาติ ก็เป็นลูกจ้างทำงานในเมืองเช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป เมื่อถึงวัยที่เริ่มตั้งหลักฐานให้กับชีวิต ก็กลับสู่ภูมิลำเนา กลับสู่เกษตรกรรม อาชีพของบรรพบุรุษ และด้วยลักษณะการเป็นผู้นำในตัวของผู้ใหญ่สมชาติ ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานเป็นผู้นำหลายอย่าง แต่ก็ยังมีเวลาให้กับเกษตรกรรม

เมื่อก่อนใครๆ ก็ปลูกสับปะรดนางแล พันธุ์ที่เป็นต้นตอเดิม ถิ่นกำเนิดของสับปะรดนางแลก็คือที่นี่

เมื่อมีคนนำสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตมาปลูกที่ตำบลนางแล สับปะรดถูกพัฒนาพันธุ์ คุณภาพดีขึ้น จึงเรียกชื่อสับปะรดพันธุ์นี้ว่า “ภูแล”

สับปะรดภูแล คือสับปะรดที่เกิดมาจากการปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตในบริเวณพื้นที่บ้านนางแล ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สับปะรดพันธุ์ภูเก็ตซึ่งมีขนาดเล็ก เนื้อแห้ง สีเหลืองทอง หวานกรอบ เมื่อปลูกในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะให้ผลผลิตตามคุณลักษณะของสับปะรดภูแล คือรสชาติหอมหวาน เนื้อกรอบไม่แข็ง ผลมีขนาดเล็กโดยเฉลี่ย 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม

ปัจจุบันพื้นที่การปลูกสับปะรดในเขตจังหวัดเชียงรายอยู่ที่ประมาณ 12,575 ไร่ โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเชียงแสน อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า

แต่รสชาติที่คนในพื้นที่ยืนยันว่าเป็นรสชาติเฉพาะของสับปะรดภูแลจริงๆ คือ พื้นที่ปลูกในตำบลภูแลเท่านั้น

ข้อดีที่สุดสำหรับสับปะรดภูแลคือ ทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตได้ตลอดปี

ผู้ใหญ่สมชาติมีพื้นที่ปลูกสับปะรดภูแลของตนเอง ประมาณ 100 ไร่ กระจายไปทั่วตำบลนางแล ในอดีตการขายก็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อเข้าตลาดใหญ่ตามปกติ แต่ปัจจุบัน เมื่อระบบออนไลน์เข้าถึงการตลาด เกษตรกรมีช่องทางมากขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น การซื้อขายเดิมที่พ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อเพื่อไปขายส่งอีกทอดก็ทำได้ง่ายขึ้น มีการสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ยอดซื้อขายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผู้ใหญ่สมชาติปลูกสับปะรด 100 ไร่ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

จึงเริ่มมีลูกไร่ โดยให้เกษตรกรในตำบลนางแลนำสับปะรดภูแลที่ปลูกไว้และกำหนดคุณภาพให้ไปในทิศทางเดียวกัน นำมาขายให้กับผู้ใหญ่สมชาติ โดยผู้ใหญ่จะเป็นผู้รับออเดอร์ กระจายออเดอร์ออกสู่ตลาด ควบคุมการผลิต เพื่อให้สับปะรดภูแลออกสู่ตลาดด้วยคุณภาพของสับปะรดเหมือนกัน

ผู้ใหญ่สมชาติ บอกว่า สับปะรดภูแล เป็นสับปะรดที่มีความทนทานต่อโรคและแมลงในสับปะรด ทนต่อสภาพอากาศ สามารถปลูกพื้นที่สูงได้ และไม่ต้องใช้น้ำมาก ในการปลูกสับปะรด 1 ปี อาศัยเพียงน้ำฝนในฤดูฝนเท่านั้น

การปลูกสับปะรด ทำโดยการเตรียมดินด้วยการไถพรวน ไถปั่น นำกล้าที่เตรียมไว้มาลงปลูก โดยใช้แรงงานคน ในระยะแรกของการเจริญเติบโตของสับปะรด จำเป็นต้องจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช สับปะรดก็ต้องการปุ๋ยเช่นเดียวกับพืชอื่น แต่ผู้ใหญ่สมชาติไม่ได้กำหนดสูตรปุ๋ยตายตัวไว้สำหรับใส่ให้กับสับปะรดภูแลที่ปลูก ผู้ใหญ่สมชาติ บอกว่า เป็นเกษตรกรต้องรู้จักธาตุในดินของตนเอง จึงควรนำดินไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อทราบว่าดินมีค่าแร่ธาตุที่จำเป็นต่อพืชมากน้อยเท่าไร ควรเติมส่วนที่ขาดให้กับพืชมากน้อยเท่าไร จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลผลิตก็จะได้ตามคุณภาพที่ควรได้

“สภาพดินแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน สังเกตได้ว่า ปลูกสับปะรดในช่วงแรกจะได้ผลผลิตดี งอกงาม แต่ปีต่อๆ มา ผลผลิตเริ่มลดลง หรือคุณภาพไม่ดีเท่าปีที่ปลูกระยะแรก เป็นเพราะแร่ธาตุในดินถูกดูดซึมไปใช้ แต่ไม่มีการเติมให้ครบถ้วนหรือถูกต้องตามความต้องการของพืช ดังนั้น จึงไม่กำหนดสูตรปุ๋ยที่ต้องใส่ให้กับสับปะรดแน่นอน แต่จะให้ตามค่าวิเคราะห์ดิน”

ด้วยเหตุนี้ ทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดภูแลของผู้ใหญ่สมชาติ ถูกยกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เสมือนเป็นศูนย์กลางในการควบคุมคุณภาพสับปะรดที่ลูกค้าออเดอร์เข้ามาด้วย

การปลูกสับปะรด ถ้าลงปลูกในช่วงฤดูร้อน ระยะเวลาเพียง 5 เดือน ตัดขายได้ แต่ถ้าลงปลูกในช่วงฤดูหนาว ระยะเวลา 6 เดือน จึงจะตัดขายได้

การตัดสับปะรดขาย ไม่ต้องรอให้สุก 100% แต่จะตัดความสุกระดับไหน ขึ้นกับความต้องการของลูกค้า

ผู้ใหญ่สมชาติ บอกว่า ลูกค้ามาเลเซีย ชอบสับปะรดสีเหลืองอมไข่ ลูกค้าจีน ชอบสับปะรดสีออกขาวหรือเหลืองอ่อน แต่ถ้าตัดขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานเชียงราย ต้องเป็นสับปะรดสุก 100% เท่านั้น

และการปลูกจะไม่รอให้ครบรอบการผลิตทุกแปลงพร้อมกัน แต่ทำแบบขั้นบันได คือปลูกให้เหลื่อม เพื่อเก็บผลผลิตได้ทุกวัน ซึ่งการวางแผนการผลิต ผู้ใหญ่สมชาติจะเป็นผู้วางให้ เพราะออเดอร์แต่ละวันอย่างที่กล่าวข้างต้น แม้จะมีผลผลิตเข้าสู่ระบบวันละ 3,000 ตัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งผู้ใหญ่สมชาติยังมีแผนเพิ่มการผลิตสับปะรดภูแลให้มากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

การปลูกสับปะรด สามารถเก็บหน่อจากต้นเดิม เพื่อมาปลูกใหม่ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าเพาะต้นกล้า โดยต้นทุนส่วนใหญ่เกิดจากการลงปลูกในปีแรกที่ต้องเตรียมดินและมีค่าแรงปลูก ส่วนต้นทุนการผลิตต่อรอบการเก็บมีเพียงค่าแรงงานกำจัดวัชพืช ค่าแรงงานตัด และค่าแรงงานใส่ปุ๋ยเท่านั้น ซึ่งคิดเฉลี่ยเป็นต้นทุนการผลิตแล้ว หากขายสับปะรดได้ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้ ซึ่งราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมในการขายสับปะรด คือ 15-18 บาท ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ และทุก 6-7 ปี ต้องรื้อแปลงลงปลูกใหม่ ถือเป็นต้นทุนที่ไม่น้อยเช่นกัน

เมื่อสับปะรดสามารถตัดได้ เกษตรกรจะตัดในแปลงของตนเองมาส่งที่ ศพก. เข้าสู่ระบบการชั่งน้ำหนัก ปอกเปลือก ล้าง สะเด็ดน้ำ ใส่ถุง น็อกน้ำแข็งใส่ในลังโฟม เพื่อความสดและความคงทนของคุณภาพสับปะรดเมื่อถึงมือลูกค้า

ส่วนตลาดในประเทศ มีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึง ศพก. ปลายทางไม่ได้เข้าสู่ตลาดใหญ่ในเมือง แต่กระจายไปตามตลาดหัวเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานนิยมรับประทานสับปะรดภูแลค่อนข้างสูง ส่วนตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีออเดอร์จากประเทศจีน มาเลเซีย สิงคโปร์

ผู้ใหญ่สมชาติ ยินดีให้คำปรึกษา หากมีผู้สนใจปลูกสับปะรดภูแล หรือสนใจศึกษาระบบการแพ็กสับปะรดส่งต่างประเทศ ก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ หมู่ที่ 18 บ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ (089) 955-2705

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0