โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ภาษีทรัพย์สินมีแล้วมาแล้วแล้วยังไง? (3)

Money2Know

เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ภาษีทรัพย์สินมีแล้วมาแล้วแล้วยังไง? (3)

ถึงผมจะเห็นว่าการตัดทอนเพิ่มเงื่อนไขและอะไรต่อมิอะไรในขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและปลูกสร้าง พ.ศ….. ออกจะเป็นเรื่องที่เกินเลยไปสักหน่อย

แต่มีก็ดีกว่าไม่มีครับ สำหรับกฎหมายฉบับนี้

ต้องบอกเสียตรงนี้เลยว่า อย่าไปหวังอะไรมากกับเรื่อง “รายได้”  ที่จะจัดเก็บได้จริงเมื่อเลิกภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่แล้วมาเก็บในรูปของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน แล้วก็ไม่ต้องไปคิดมากถ้าหากเงินที่ได้จะเข้าองค์กรปกครองท้องถิ่นโดยตรง ไม่เข้ามาส่วนกลางแล้วจัดสรรออกไปใหม่เหมือนกับภาษีอื่นๆที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน

พูดก็พูดเถอะ ผมเห็นด้วยกับการที่ให้พวก อบต. เทศบาล (กทม.กับเมืองพัทยาด้วย) เป็นคนจัดเก็บและเป็นคนใช้เงินภาษีที่เก็บได้ด้วยตัวเอง

จะมากจะน้อย จะได้ไล่เบี้ยได้เฉ่งกันได้ถนัดมือมากกว่า

ที่ผมบอกว่าอย่าไปหวังเรื่องรายได้ในตอนแรกเริ่มมากนัก ก็เพราะว่า เพดานอัตราภาษีที่จะจัดเก็บค่อนข้างต่ำ แถมโดยภาคปฏิบัติตอนแรกเริ่มก็ไม่ได้ใช้อัตราเพดานและยังมีข้อยกเว้นเยอะแยะทำให้คนต้องเสียภาษีที่ว่านี้โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีนี้ด้วย

เพดานอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมและใช้เป็นที่อยู่อาศัยเก็บในอัตราร้อยละ 0.15 และร้อยละ 0.30 ตามลำดับ

อัตราภาษีที่ว่า เมื่อไปคำนวณกับมูลค่าภาษีอันเป็นฐานในการบวกลบคูณหารเป็นจำนวนเงินภาษีจริงที่จะจ่ายโดยใช้ ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ต่ำกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายหรือจ่ายกันจริงอยู่ เม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้จริงไม่มากเลยครับ

สำหรับบุคคลธรรมดาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเสียจริงๆนั้น ผมว่าจะมีอยู่สองรายการสำคัญคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้อยู่อาศัยไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะเรียกว่าหลังที่สองหรืออะไรก็สุดแท้แต่ แต่เอาง่ายๆก็คือใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วอยู่อาศัยจริงๆ (หลังแรก)ผมว่าคุณๆผมๆไม่น่าจะต้องเสียแม้แต่บาทเดียว (ยกเว้นราคาประเมินเกิน 50 ล้านบาท แต่ก็จะจ่ายเฉพาะส่วนที่เกินโดยหักส่วนที่ยกเว้นให้อยู่ดี) และอัตราภาษีก็ต่ำอยู่แล้วไม่ได้เป็นปัญหา

จะจ่ายกันจริงๆ ก็จะหลังที่เหลือนั่นแหละครับ

ตรงนี้แหละครับที่จะมีหลายคนบ่น (พร้อมกับหาทางจะทำยังไงไม่ต้องเสียด้วยนานาวิธี) เพราะแต่เดิมไม่เคยเสีย เพราะฉะนั้นถึงจะเสียมากหรือน้อยก็ไม่ค่อยจะพอใจสักเท่าไรถ้าจะต้องเสีย

อันนี้เราเข้าใจกัน ไม่ว่ากันครับ

แต่ที่ผมคิดว่าที่เป็นเรื่องจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของการต้องเสียภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่ายังไม่ได้ทำประโยชน์อะไร

จริงอยู่บางคนอาจจะเคยเสียภาษีบำรุงท้องที่บ้าง แต่ก็เสียแบบเสียไปงั้นๆ แหละ ปีละห้าสิบบาทร้อยบาท อย่างมากก็หลายร้อยแต่ไม่ใช่หลักพัน แล้วก็เป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลเพื่อรอความเจริญเสียเป็นส่วนใหญ่

*ของใหม่ต้องเสียมากกว่าที่เคยเสียอย่างแน่นอนครับ สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์อะไรแบบนี้ *

ตรงนี้บอกเลยว่าไม่มีการยกเว้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  สำหรับเรื่องของนิติบุคคลผมไม่พูดถึงนะครับ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึง แต่ผมพูดถึงพวกเรานี่แหละ ซื้อที่ดินทิ้งไว้ไม่ได้ทำอะไร กะเก็บเอาไว้ในอนาคต จะทำอะไรหรือไม่ยังไม่รู้ ซื้อทิ้งไว้เฉยๆ  ใครจะมีมากมีน้อยแค่ไหน ยังไงก็ต้องเสียครับ เสียมากเสียน้อยก็ขึ้นอยู่กับราคาประเมินกับอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ

อัตราเพดานภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์คือร้อยละ 1.2 ครับ

แต่เรื่องมันจบตรงนี้ครับ เพราะถ้าหากใครมีที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพ(อันนี้เป็นภาษากฎหมายล้วนๆเลย) เป็นเวลาสามปีติดต่อกันให้เก็บในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.3 ถ้ายังทิ้งร้างก็จะเพิ่มอัตราภาษีร้อยละ 0.3 ทุกสามปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้วไม่เกินร้อยละ 3.0

ตรงนี้ที่จริงจะบอกว่ามากก็มาก แต่ถ้าหากค่อยๆ คิดจะเห็นว่าก็ไม่เท่าไหร่

สมมติว่าเราถือครองที่ดินทิ้งร่างว่างเปล่าไม่ได้ทำอะไรเลย ในราคาทุนประเมินหนึ่งล้านบาท (ไม่ใช่จำนวนไร่ที่ครอบครองนะครับ จะกี่ไร่ไม่รู้เหมือนกันเพราะที่ดินแต่ละแปลงราคาทุนประเมินไม่เท่ากัน*)  จะได้คิดง่ายๆหน่อย *

ถามว่าต้องเสียภาษีตรงนี้ยังไง?

ผมเริ่มต้นแบบนี้ก็แล้วกันว่า

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จะต้องเสียภาษีในปีที่เริ่มจัดเก็บคือปี 256*3 ร้อยละ 1.2 ของราคาทุนประเมิน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องเสียก็ 12,000 บาทครับ *

นี่น่าจะเป็นเหตุให้ร้องโอ้กกันเป็นแถว แต่ถ้าหากคุณคิดว่าไม่เป็นไรพร้อมจะเสีย อยากเก็บก็เก็บไป (คงจะมีน้อยคนที่คิดแบบนี้โดยเฉพาะคนมีที่เยอะๆ ) คุณก็เสียไปในอัตรานี้นี่แหละ สามปีผ่านไปคราวนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 (เพิ่มร้อยละ 0.30) และเพิ่มแบบนี้ไปทุกสามปี

คุณทนถือก็ทนไปแต่สุดท้ายก็จะจัดเก็บไม่เกินร้อยละ 3.0

ผมต้องบอกแบบนี้เพราะที่โวยวายกันว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 3.0 อันนี้ไม่ใช่ครับ

ที่จริงจากอัตราภาษีร้อยละ 1.20 กว่าจะมาเป็นร้อยละ 3 ก็ใช้เวลานานมากเลยนะครับ ลองคำนวณดูเอาว่าเพิ่มร้อยละ 0.3 ทุกสามปี ผมคิดว่า คร่าวๆ น่าจะสักยี่สิบปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ครับถึงจะเก็บเต็มเพดานร้อยละ 3.0

แต่อย่าลืมว่าแม้อัตราภาษีจะขึ้นช้า แต่ราคาทุนประเมินของที่ดินก็ขยับขึ้นด้วย ยิ่งถ้าหากเกิดมีโครงการขนาดใหญ่มาอยู่ใกล้ๆ มีถนนหนทางตัดผ่านหรือใกล้เคียงจนทำให้เกิดความเจริญผิดหูผิดตา ราคาทุนประเมินก็จะต้องปรับตัวขึ้นไปด้วย ตรงนี้จะทำให้เม็ดเงินภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามราคาทุนประเมินที่ปรับขึ้นใหม่อย่างน้อยก็ทุกห้าปี

อันนี้คุณต้องชั่งน้ำหนักครับว่าจะเอายังไงต่อไป?

                      ************************************* 

เกี่ยวกับผู้เขียน

‘วีระ ธีรภัทร’ นักจัดรายการวิทยุฝีปากกล้า ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนานนามว่า ‘King of Air Wave’  ด้วยสไตล์การจัดรายการที่โดดเด่น ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน นอกจากจะมีประสบการณ์ในการจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์มาอย่างยาวนานแล้ว ‘วีระ’ ยังผลิตงานเขียนออกมามากมายตลอดระยะเวลา 40 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ เขายังคงทำงานต่อเนื่อง และงานเขียน “งานก็ได้ผล เงินก็ได้ผลาญ” ใน Money2Knowก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่ “วีระ” กลั่นกรองประสบการณ์ที่ยาวนานในการทำงานมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ติดตามในมุมมองที่หลากหลาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0