โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภาวะปัสสาวะกลางดึก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 10.56 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 14.33 น.
ภาวะ ปัสสาวะกลางดึก

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.ปกเกศ ศิริศรีตรีรักษ์

ภาวะปัสสาวะกลางคืน หมายถึง ภาวะที่นอนหลับไปแล้วต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะ ในคนปกตินั้นควรจะนอนหลับได้ยาวตลอดทั้งคืนโดยไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ หากต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปมักจะส่งผลรบกวนต่อคุณภาพชีวิต

ภาวะนี้พบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบภาวะปัสสาวะกลางคืนในประชากรที่อายุมากกว่า 70 ปี สูงถึง 3 ใน 5 คน ผลกระทบของภาวะปัสสาวะกลางคืนมีหลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีอาการง่วงนอน ไม่สดชื่นและประสิทธิภาพการทำงานในเวลากลางวันลดลง ผู้ป่วยบางรายเกิดอุบัติเหตุหกล้มกระดูกหักในขณะที่ลุกมาเข้าห้องน้ำกลางดึก เป็นต้น

สาเหตุของภาวะปัสสาวะกลางคืนที่พบบ่อยอาจเป็นจากการที่ร่างกายผลิตน้ำปัสสาวะในปริมาณที่เยอะกว่าปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของความจุของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำปัสสาวะได้มากพอ นอกจากนี้ภาวะนี้ยังอาจเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหรือโรคไตได้อีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยและประเมินสาเหตุของภาวะปัสสาวะกลางคืน แพทย์จะอาศัยการซักประวัติอาการปัสสาวะผิดปกติทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน, ปริมาณและจำนวนครั้งของการปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง โดยจะต้องให้ผู้ป่วยจดบันทึกการปัสสาวะทั้งเวลาและปริมาณน้ำปัสสาวะ รวมถึงจดบันทึกเวลาและปริมาณน้ำที่ดื่มด้วย แพทย์จะซักถามประวัติโรคประจำตัวและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงตรวจร่างกายหาสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการปัสสาวะกลางคืน เช่น โรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน ภาวะนอนกรน โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากโต โรคกระเพาะปัสสาวะพิการจากโรคทางระบบประสาท เป็นต้น

การรักษา ขึ้นกับสาเหตุว่าการปัสสาวะกลางคืนเป็นจากสาเหตุใด หากมีโรคที่เป็นสาเหตุดังกล่าวข้างต้น จะต้องทำการรักษาหรือควบคุมอาการให้หายขาดหรือให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด

  • สาเหตุจากการผลิตน้ำปัสสาวะมากผิดปกติในเวลากลางคืน จะให้การรักษาโดยแนะนำให้จำกัดน้ำก่อนนอน โดยเฉพาะ 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน, ออกกำลังกายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีทั่วร่างกาย, ให้ใส่ถุงน่องเพื่อลดอาการขาบวมและลดการคั่งของน้ำในร่างกาย หากรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จะใช้การรักษาด้วยยาโดยใช้ยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ และยาฮอร์โมน Desmopressin ที่ออกฤทธิ์ลดการผลิตน้ำปัสสาวะในตอนกลางคืน
  • สาเหตุจากความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง โดยอาจเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หูรูดปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากก็ได้ การรักษาจะมุ่งเน้นรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ ร่วมกับการให้ยาที่ช่วยกดการไวตัวของกระเพาะปัสสาวะ และยังสามารถขยายขนาดความจุของกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย

หากมีอาการปัสสาวะกลางคืนหรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อขอพบแพทย์ได้ที่แผนกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ

หมายเหตุ : อ.พญ.ปกเกศ ศิริศรีตรีรักษ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0