โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ภาวะประชากรสูงอายุล้นประเทศ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 15.45 น.
fin07210661p1

คอลัมน์ คุบฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

เคยมีแนวคิดเรื่องภาษีคนโสดเกิดขึ้นในประเทศไทยเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วคงจะไม่ต่างอะไรกับการผลักดันให้คนในประเทศมีลูกกันมากขึ้น ซึ่งคิดไปคิดมาแล้วมันอาจจะออกมาในรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้เช่น “นโยบายลูกคนแรก” ที่จะลดหย่อนภาษีให้เมื่อมีลูกคนแรก (กับภรรยาคนแรก) ก็เป็นได้

สิ่งที่ทำให้ต้องคิดกันต่อก็คือที่มาของความอยากที่จะทำให้คนมีลูกกันมากขึ้น อาจเพราะเห็นว่าคนไทยในประเทศยังมีน้อยไป หรืออาจเป็นเพราะคิดว่าคนไทยมีนิสัยรักเด็กก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เป็นเหตุผลจริง ๆ ของที่มาในแนวคิดนี้ก็คือความต้องการให้มีความสมดุลระหว่างประชากรวัยทำงานกับประชากรสูงอายุในอีก 20-30 ปีข้างหน้า นั่นเพราะว่าประเทศไทยกำลังจะประสบกับปัญหาประชากรสูงอายุล้นประเทศในอนาคต !!!

เนื่องจากภาวะประชากรสูงอายุล้นประเทศจะทำให้ภาครัฐไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ทั้งหมด เงินภาษีที่เก็บมาจากประชากรในวัยทำงานจึงมีไม่พอ ซึ่งจะยังผลทำให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

ถ้าคิดกันแบบธรรมดาประสาชาวบ้าน เราก็จะมองวิธีการแก้ปัญหาว่าทำได้โดยการไปเพิ่มประชากรวัยกระเตาะเข้ามาในประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เรื่องก็น่าจะจบ เพราะจะได้ให้เด็กเหล่านั้นเติบโตมาเป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญในการทำงานและจ่ายภาษีให้ภาครัฐในอนาคต แต่สิ่งที่ไม่จบ (แต่อาจจะนำไปสู่จุดจบ) ก็คือการไม่ยอมคิดต่อไปให้ไกลกว่านั้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ปัญหาใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกคลื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่คิดถึงระบบที่จะรองรับคนที่จะเกิดมาในอนาคตให้ดีแล้ว มันก็เปรียบเหมือนการออกนโยบายรถคันแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการไปกระตุ้นให้คนซื้อรถกัน แต่สุดท้ายแล้วเราก็เห็นว่าไม่มีถนนให้ใช้กัน ทำให้รถติดมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาบนถนนนานขึ้น และทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมยังเปลืองน้ำมันมากขึ้นอีกต่างหาก สุดท้ายก็จอดรถกันไว้เฉย ๆ เพราะหาที่จอดรถกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ตามมาก็คือการที่เงินได้ถูกดึงออกมาจากกระเป๋าของประชากร ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจจะถูกกระตุ้น (หรือจะเรียกว่า “กระตุก” ก็ได้) ได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นก็อาจทำให้กำลังซื้อของประชาชนเหือดหายไปจากระบบ เพราะประชาชนเป็นหนี้ผ่อนรถกันเสียส่วนใหญ่ และตอนนี้ก็กำลังทำงานผ่อนส่งจ่ายค่ารถ (หรือค่าดอกเบี้ยรถ) ในแต่ละเดือน สุดท้ายเศรษฐกิจก็คงถดถอยไปในที่สุด

เฉกเช่นการที่อยากไปกระตุ้นให้คนมีลูกกันมากขึ้น แต่ไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มีรองรับได้ไม่เพียงพอ หรือพ่อแม่มีเวลาดูแลลูกได้ไม่พอ ทำให้นำไปสู่การมีประชากรที่ไม่มีคุณภาพและปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด หรือโจรกรรมตามมา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็คงไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐคงจะเก็บภาษีได้ เพราะแม้แต่ประชากรวัยทำงานเองยังไม่มีงานทำ และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้กลับมาที่ปัญหาเก่า ๆ คือภาครัฐมีเงินภาษีไม่พอที่จะไปเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุ ทำให้ไม่เหลือเงินภาษีไปพัฒนาประเทศชาติได้ และนำพาประเทศให้ถดถอยไปในที่สุด

เหล่านี้เป็นเพียงแต่การจินตนาการตามประสาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ไม่ได้มีข้อมูลสถิติหรือตัวเลขมายืนยัน เพียงแต่อาศัยการสังเกตและประสบการณ์จากการประเมินอนาคตเท่านั้น ซึ่งถ้าแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง ก็ได้แต่ภาวนาให้สิ่งที่คาดการณ์ไว้นั้นไม่เป็นจริงครับ

ในมุมกลับกัน ภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณได้ โดยการส่งเสริมการออมสำหรับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด ทั้งนี้ ภาครัฐสามารถใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจและกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนได้ เช่น การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0