โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ภาวะซีดหรือโลหิตจาง ไม่ได้จบแค่นี้

Rabbit Today

อัพเดต 22 ม.ค. 2562 เวลา 14.35 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 14.35 น. • อายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว
anemia-health-and-sport-Rabbit-Today-banner

หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องซีด หรือภาวะโลหิตจาง บางคนกำลังมีภาวะนี้อยู่และเมื่อมีคำถามว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เรามักจะบอกว่าเป็นโรคซีด แต่คุณรู้ไหมว่า ‘ซีด’ ยังไม่ใช่โรค

ภาวะโลหิตจางหรือซีด จะถูกกำหนดจากระดับค่าฮีโมโกลบินในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ค่าที่ใช้จากองค์การอนามัยโลกนั้นคือ ค่าฮีโมโกลบินที่ต่ำกว่า 12 และ 13 กรัมต่อลิตร หรือหากใช้ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เกณฑ์อยู่ที่ต่ำกว่า 36% และ 39% สำหรับผู้หญิงและผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปตามลำดับ ผู้ที่มีภาวะซีดอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลยและตรวจพบจากการตรวจเลือด หรืออาจจะมีอาการหลากหลาย เช่น เหนื่อยง่าย ออกแรงได้น้อยลง มีคนทักว่าซีด หรือรุนแรงระดับหัวใจวาย

โลหิตจาง จึงเป็นแค่อาการหรือภาวะอันหนึ่งเท่านั้นที่จะต้องคิดต่อไปถึงการวินิจฉัยสุดท้าย ว่าเกิดภาวะซีดจากสาเหตุใด เราจึงจะจบการวินิจฉัยได้ และบ่งชี้การรักษาต่อไป เช่น ซีดเรื้อรังจากการเสียเลือดประจำเดือนมากเกินไป เพราะเนื้องอกมดลูก ในกรณีแบบนี้เราจะถือว่าโรคที่เป็นคือเนื้องอกมดลูกครับ ภาวะซีดเป็นเพียงผลที่ตามมาจากโรคเท่านั้น

สาเหตุหลักๆ ของโลหิตจาง แบ่งออกได้ 3 ประการ

ประการแรกคือการสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ ที่พบบ่อยคือโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ประการที่ 2 คือมีการทำลายเม็ดเลือดที่สร้างออกมา ทำลายมากเกินพอดี ที่พบบ่อยคือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคที่มีการสร้างและทำลายเม็ดเลือดผิดปกติตั้งแต่เกิด

ประการสุดท้ายคือการเสียเลือด ที่พบมากคือเสียเลือดประจำเดือน หรือมีการเสียเลือดปริมาณน้อยๆ แต่เรื้อรังในทางเดินอาหาร จากแผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งลำไส้ และเมื่อสูญเสียเลือดไปนานๆ จะเกิดโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเพิ่มเติมอีกด้วย

ในแง่ของการรักษา เราจะให้การรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น เป็นเนื้องอกก็ต้องตัดออก เป็นแผลในกระเพาะต้องให้ยาลดกรดและฆ่าเชื้อ เม็ดเลือดแดงจากภูมิคุ้มกันตัวเองมาจับทำลายเม็ดเลือด ก็ต้องให้ยากดภูมิคุ้มกัน จึงจะสามารถรักษาภาวะโลหิตจางได้อย่างถาวร การกินยาธาตุเหล็ก ยาเม็ดโฟลิก หรือแม้แต่การให้เลือดจึงเป็นแค่การรักษาเพื่อแก้ไขปลายเหตุ และประคับประคองอาการเท่านั้น

และเมื่อรักษาโรคหลักแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องติดตามภาวะโลหิตจางว่าดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากปล่อยให้โลหิตจางนานเกินไป จะมีผลแทรกซ้อนต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ครับ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติ ในบางคนจะมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้

ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่พบภาวะซีด ภาวะโลหิตจาง จึงต้องทำการตรวจรักษา และสืบค้นถึงสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดอาการ เราจึงไม่จบแค่เป็น ‘โรคซีด’ หรือ มีภาวะ ‘โลหิตจาง’ แต่เพียงเท่านั้น เราต้องทราบที่มาของโลหิตจางและมีการติดตามผลว่าดีขึ้นหรือไม่ด้วยครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0