โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภาวะขี้หูอุดตัน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 06.15 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 12.31 น.
dlf05181162p1
คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หากใครมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง มีอาการปวดหู อาจเป็นอาการบ่งชี้ของภาวะขี้หูอุดตันได้

ก่อนจะพูดเรื่องภาวะขี้หูอุดตัน มาทำความรู้จักขี้หูกันก่อนว่า “ขี้หู” คืออะไร

ขี้หูมาจากช่องหูชั้นนอก ประกอบด้วยเยื่อบุผิวช่องหูชั้นนอกที่หลุดลอก (epithelial cells) ไขมัน และสารที่ผลิตจากต่อมเหงื่อ (sebum with secretions from modified apocrine sweat glands) อาจพบรวมกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องหู รวมเป็นขี้หู ซึ่งอาจพบได้ทั้งแบบเปียก หรือแบบแห้ง

ขี้หูมีประโยชน์ในการช่วยทำความสะอาด ช่วยป้องกัน และช่วยหล่อลื่นช่องหูชั้นนอก โดยส่วนใหญ่แล้วขี้หูสามารถหลุดออกไปจากช่องหูได้เอง โดยเฉพาะเวลาขยับปากหรือการเคี้ยวจะช่วยกระตุ้นการขับขี้หู

ถ้าหากเกิดภาวะขี้หูอุดตัน อาจทำให้มีการได้ยินลดลงจากการนำเสียงบกพร่องได้ถึง 40 เดซิเบล

ขึ้นอยู่กับระดับการอุดตัน และอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาด้วยได้ เช่น ปวดหู ไอ เสียงในหู คันหู มีกลิ่นในหู น้ำออกหู รู้สึกแน่นในหู ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรมาพบแพทย์

ในบางรายอาจมีภาวะขี้หูอุดตันโดยที่ไม่มีอาการเลยก็ได้ และอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ หากไม่ได้ไปตรวจหู

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะขี้หูอุดตันมีหลายอย่าง เช่น ลักษณะของช่องหูที่แคบ การผลิตขี้หูที่มากผิดปกติ โรคเยื่อบุช่องหูที่ผิดปกติ

ข้อควรระวังในการทำความสะอาดหูคือ การแคะหรือปั่นช่องหูด้วยคอตตอนบัดอาจสามารถเอาขี้หูออกได้ แต่อาจทำให้เกิดการดันขี้หูให้เข้าไปลึกขึ้น เกิดการอุดตันกว่าเดิมได้ และอาจทำให้เกิดแผลที่บริเวณช่องหูชั้นนอกหรือแก้วหูทะลุได้หากดันไปลึกเกินไป และตัวสำลีอาจหลุดเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอมในหูได้อีกด้วย

ส่วนการรักษาขี้หูอุดตันมีหลายวิธี เช่น การใช้อุปกรณ์แคะหรือดูด การสวนล้าง การใช้ยาละลายขี้หู (ceruminolytics) เช่น น้ำมันมะกอก โซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นต้น ซึ่งการออกฤทธิ์หลักคือ ทำให้ขี้หูนิ่มขึ้น จนสามารถเอาออกได้ง่ายขึ้น และถ้ามีกล้องส่องตรวจหูร่วมด้วยจะสามารถดูได้ละเอียดขึ้นว่าขี้หูหมดหรือไม่ เยื่อบุผิวช่องหู มีแผลหรืออักเสบติดเชื้อหรือไม่ หรือแก้วหูมีลักษณะปกติไหม

ภาวะขี้หูอุดตันอาจสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการแคะปั่นช่องหู ทำความสะอาดเฉพาะหูด้านนอกเท่านั้น และหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเป็นขี้หูอุดตัน หรือโรคอื่นก็ได้ และรีบรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0