โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภาระเยอะ ปัญหาแยะ แล้ว ‘แซนด์วิชเจเนอเรชั่น’ เลือกอะไรได้ไหม?

HealthyLiving

อัพเดต 03 ก.ย 2562 เวลา 18.29 น. • เผยแพร่ 30 ส.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
sandwich-600x600.jpg

ไม่ได้แบ่งแยกตามปีเกิดเหมือน Gen Y Gen Z หรือแบ่งแยกตามไลฟ์สไตล์ในโลกดิจิทัลเหมือนพวก Gen C สุดล้ำ แต่ถ้าคุณกำลังดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยไปพร้อมๆ กับการเอาใจใส่ลูกๆ ที่เกิดมา คุณคือ Sandwich Generation เจเนอเรชั่นที่มาพร้อมความรับผิดชอบจนขยับลำบาก เหมือนไส้ตรงกลางของแซนด์วิชที่ถูกขนมปังประกบทั้งบนและล่าง วันวันนึงหมดไปกับการจัดสรรเวลาให้ทั้งงานออฟฟิศ งานบ้าน งานดูแล ปวดหัวกับค่าใช้จ่ายทุกทิศทุกทาง เหนื่อยใจกับการเอาใจคนนั้น ตามใจคนนี้ สุขภาพกายทรุดโทรม สุขภาพใจง่อนแง่น แถมเมื่อเก็บทุกอย่างมาคิดมาก ก็รู้สึกว่าที่ทุ่มเทไปไม่เคยเพียงพอ! สำหรับคนไม่มีลูกและคิดว่า ‘เรารอดแล้ว’ อย่าเพิ่งชะล่าใจ คุณยังอยู่ในหมวด Open-faced Sandwich ที่ต้องดูแลพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่สูงวัยเหมือนกัน และไม่ว่าคุณจะเป็นไส้ของขนมปังกี่ชั้น แบกรับความรับผิดชอบอยู่กี่อย่าง สิ่งที่คุณต้องทำอยู่ทุกวันคือการ ‘เลือก’ ทัศนคติในการจัดการ ให้ทุกภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะถึงจะพูดให้เครียดมาขนาดนี้ แต่จริงๆ แล้ว คุณ ‘เลือก’ ที่จะเฮลท์ตี้ในวิถีแซนด์วิชเจเนอเรชั่นได้นะ    

 

ลูกรบให้ไปดูแข่งว่ายน้ำ วันเดียวกับที่ต้องพาแม่ไปงานเลี้ยงรุ่น เลือกอะไรดี?

 

ลูกต้องการกำลังใจ แม่ก็อยู่ในวัยกลับมาน้อยใจง่าย สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่เลือกให้ถูกใจทุกคนยากเหลือเกิน จริงๆ แล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ใครหรืออะไรสำคัญกว่า หรือฉันจะแยกร่างได้อย่างไร แต่เป็นเพราะเหล่าแซนด์วิชเจเนอเรชั่นมักไม่ชอบขอความช่วยเหลือ และเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการได้ทุกอย่างเพราะเป็นความรับผิดชอบของเราทั้งหมดทั้งสิ้น!

 

ลองเปลี่ยนมุมมองแล้วเลือกที่จะไม่แบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว หาผู้ช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบบ้าง สถานการณ์นี้อาจจบสวยๆ โดยที่ขอให้สามีช่วยแวะไปส่งคุณแม่ที่งานเลี้ยงรุ่น ส่วนเราไปดูลูกแข่งว่ายน้ำ แข่งจบแล้วชวนไปรับคุณยายด้วยกัน หรือทางออกอื่นๆ อีกมากที่จะง่ายขึ้นถ้ามีคนมาช่วย

 

เคล็ดลับสำคัญคือต้องขอความช่วยเหลือด้วยการพูดตรงๆ อย่าอ้อมค้อม ประชดประชัน หรือเจือความน้อยอกน้อยใจ นอกจากจะแก้สถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ยังแก้ปมในใจว่าอะไรๆ ก็ฉัน ให้เบาบางลงได้ด้วย

  

 

 

ลูกอ่อนติดแม่แหง็ก สามีก็ชักจะงอนๆ เลือกอะไรดี?

 

สุดยอดปัญหาคลาสสิกของแซนด์วิชเจเนอเรชั่นก็คือปัญหาชีวิตคู่นี่แหละ

 

จากที่เคยเป็นคู่รักหวานแหวว เมื่อต้องกลายเป็นคู่ชีวิตที่ต้องแบกความรับผิดชอบต่างๆ นานาไปด้วยกัน ย่อมมีบ้างที่จะหลงลืมเติมความหวานเหมือนตอนเป็นแฟน หรือบางคู่ก็หนักถึงขั้นมองชีวิตคู่ว่าคือการร่วมทุกข์มากกว่าร่วมสุข มีอะไรก็ต้องอดทนให้ได้ แล้วเอาเวลาไปใส่ใจแต่ความรับผิดชอบรอบตัว หากคู่ออกอาการหวั่นไหวก็มักถูกเรียกร้องให้เข้าใจและอย่างอแง

 

อย่างแม่ลูกอ่อนที่ให้เวลาทั้งหมดกับลูกน้อยจนสามีออกอาการน้อยใจและอิจฉาลูก เรื่องนี้คนส่วนใหญ่คงนึกโทษฝ่ายชาย แต่จริงๆ แล้วการมีลูกเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทั้งพ่อและแม่ต้องเผชิญเหมือนกัน อาการอิจฉาลูกของพ่อ (หรือกระทั่งแม่) จึงเป็นเรื่องปกติ แต่หากเราเอาแต่เรียกร้องหาความรับผิดชอบจนลืมคิดถึงจิตใจคู่รัก ความห่างเหินในช่วงแรกจะพัฒนาสู่ความหมางเมินและหมดรักกันในที่สุด

 

อย่าลืมจัดสรรเวลาให้คนรักบ้าง หาเวลาหนีพ่อแม่และลูกหลานไปเติมความหวานกันสองต่อสอง อย่าให้งานเยอะ ลูกงอแง หรือภาระรอบตัวทำให้ความรักและความสุขที่ควรจะแชร์กันหายไป เพราะถ้าเราทำทุกหน้าที่ด้วยความรัก ก็ไม่มีเหตุผลที่จะเสียความรักของคู่ชีวิตไปเช่นกัน

  

 

งานบ้านก็เยอะ งานออฟฟิศก็แยะ เพื่อนก็อยากเจอ เลือกอะไรดี?

 

ย้ำตัวหนาๆ แซนด์วิชเจเนอเรชั่นต้องมีเวลาให้ตัวเองด้วย!

 

ภาวะภาระเยอะทั้งงานออฟฟิศ งานบ้าน งานใส่ใจทุกคนรอบตัว ทำให้เรามักเผลอ ‘เอาไว้ก่อน’ กับการดูแลตัวเอง ซึ่งในที่นี้หมายรวมทั้งการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การออกกำลังกาย ไปจนถึงจิตใจตัวเอง พูดมาถึงบรรทัดนี้ ทุกคนย่อมรู้ดีว่าทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งสำคัญ แต่แซนด์วิชเจนฯ ส่วนใหญ่ มักติดอยู่กับดักของ ‘ความรู้สึกผิด’  หรือ ‘บกพร่องต่อหน้าที่’ เมื่อต้องทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง

 

นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหล่าแซนด์วิชเจนฯ เครียด กังวล เศร้า กดดัน หงุดหงิด น้อยใจ ฯลฯ ง่ายและบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น และคำแนะนำเดียวที่รักษาได้ทุกอารมณ์ คือการคืนความสุขให้ตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบอย่างสม่ำเสมอ หรือในกรณีนี้ การเจอเพื่อนก็นับเป็นวิธีเยียวยาจิตใจที่ได้บ่นระบายหรือได้หัวเราะเฮฮาจนบรรเทาความเครียดที่แบกไว้ลงไปได้เช่นกัน

 

อาจจะวางแผนเจอกันยากหน่อย แต่เรื่องยากกว่านี้เราก็ทำได้นี่นา… 

 

 

 

ตั้งใจออมเงินสำหรับวัยเกษียณของตัวเอง แต่ญาติมาขอยืมเงินฉุกเฉิน เลือกอะไรดี?

 

เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของเหล่าแซนด์วิชเจเนอเรชั่น เพราะทุกความรับผิดชอบล้วนต้องมีสตางค์เป็นสิ่งขับเคลื่อน การวางแผนทางการเงินให้ครอบครัวอย่างรัดกุมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ค่าเทอมลูกครบหรือยัง ซื้อประกันสูงวัยให้พ่อแม่เพิ่มดีไหม เงินเก็บฉุกเฉินมีเท่าไหร่แล้ว ฯลฯ

 

จริงๆ แล้ว คีย์เวิร์ดของการวางแผนทางการเงินแบบแซนด์วิชเจนฯ ไม่ได้อยู่ที่มีเงินเก็บเท่าไหร่ แต่คือการลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง และสิ่งที่แซนด์วิชเจนฯ ต้องไม่มองข้าม คือแผนวัยเกษียณของตัวเองนั้นสำคัญที่สุด ห้ามปล่อยให้รั้งท้ายหรือจัดอยู่ในหมวดเอาไว้ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นความกังวลต่ออนาคตจะเกาะติดอยู่ทุกคืนที่หัวถึงหมอน

 

นี่ไม่ใช่คำแนะนำฟันธงให้เก็บเงินจนครบก่อนช่วยเหลือญาติ เพราะทุกสถานการณ์ล้วนมีรายละเอียดที่แตกต่าง แต่การวางแผนให้รัดกุมตั้งแต่เริ่มต้น คุยกันทั้งครอบครัวให้เข้าใจความสำคัญร่วมกัน หาวิธีลดรายจ่าย มองหาวิธีลงทุน และมีแผนสำรองไว้เสมอ จะทำให้เรารับมือเรื่องฉุกเฉินได้ราบรื่นมากขึ้น

 

 

สูงวัยในบ้านเดินทางมาถึงช่วงเวลาสุดท้าย จะรักษาต่อไปให้ถึงที่สุด หรือกลับมาดูแลกันที่บ้าน เลือกอะไรดี?

 

เหตุการณ์ที่ทุกครอบครัวต้องเจอแต่มักทำใจไม่ได้และกลายเป็นประเด็นที่ไม่กล้าแตะต้อง ทั้งที่จริงๆ แล้ว สูงวัยในบ้านมักมีเจตจำนงต่อความตายของตัวเอง เพียงแต่เราไม่กล้าที่จะเอ่ยถาม และความคิดเห็นที่แตกต่างของสมาชิกในบ้านอาจทำให้ความตายเป็นเรื่องยากเย็นมากยิ่งขึ้น

 

สิ่งสำคัญที่ทุกครอบครัวควรทำ คือการพูดคุยกันให้เข้าใจและหาโอกาสให้สูงวัยในบ้านบอกเจตจำนงของตัวเอง โดยที่สมาชิกทุกคนต้องทำตามความต้องการของท่านอย่างเคารพ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการวางแผนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในกรณีต่างๆ การทำความเข้าใจเรื่อง palliative care หรือการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้าย โดยไม่เร่งหรือยื้อความตาย ไปจนถึงการ ‘วางใจ’ ไม่ยึดติดกับชีวิตที่จากไปของคนที่ยังอยู่

 

ไม่ว่าจะเลือกทางใด เราจะมั่นใจว่าได้ทำในสิ่งที่ท่านต้องการ 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0