โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภาคการเงินกับ AI กลัวอะไรก่อนดี? ปัญญาประดิษฐ์ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

The MATTER

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 06.48 น. • Thinkers

กระแสของปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า AI (Artificial Intelligence) สร้างความตื่นตระหนกให้เราไม่หยุดหย่อน เพราะเจ้าหุ่นยนต์ดูเหมือนจะทำแทนคนได้ทุกอย่าง ที่น่าวิตกที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการกลัวตกงาน ไหนจะรถ ไหนจะบ้าน ภาระรับผิดชอบเต็มไปหมด ถ้าวันหนึ่ง 'หนึ่งสมองและสองมือ' ของเราไร้ค่าเพราะนายจ้างหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ เราจะทำอย่างไร บทความนี้ ชวนทำความรู้จักกับอีกด้านหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดเรื่องของ AI อีกครั้งหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้คนเรามีชีวิตที่สุขสบายขึ้น (หรือขี้เกียจมากขึ้น ก็แล้วแต่จะตัดสิน) ขนาดน้องหมา น้องแมว ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะคนสามารถรับรู้ได้ว่าพวกมันต้องการอะไร (เช่น pet tracker ปลอกคอติดตามพฤติกรรม หรือเครื่องแปลเสียงร้อง) ในแง่ของ AI ก็ดูเหมือนว่าความก้าวหน้านี้ให้ประโยชน์ทั้งกับคนทั่วๆ ไป เช่น ช่วยวิเคราะห์สุขภาพ, ตอบอีเมลยาวๆ และน่าเบื่อ หรือเจ้าของธุรกิจ เช่น ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และตัดสินใจเรื่องการลงทุน แต่ AI ก็ดูจะกลายเป็นภัยคุกคาม (threat) เมื่อหลายคนมองว่า มันกำลังจะเข้ามาแทนที่คนในการทำงานหลาย ๆ อย่าง เรียกได้ว่า มีทั้งคนที่ชอบและต่อต้าน (นี่ AI หรือทรัมป์?)

จริงๆ แล้ว ผลกระทบของ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษยุคคลาสสิก ที่มีชื่อว่า David Ricardo ได้วิเคราะห์เรื่องการใช้เครื่องจักรเพื่อช่วยในการผลิต (automation) ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1821 ในหนังสือเรื่อง On the Principles of Political Economy and Taxation (บทที่ 31 Machinery) ตอนนั้น Ricardo ก็มีความกังวลว่า การใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิต (mechanisation) อาจทำให้ความต้องการจ้างงานลดลง ค่าจ้างลดลง เครื่องจักรจึงเหมือนเป็นภัยคุกคาม (injury) ของแรงงาน ซึ่งความกังวลของ Ricardo ก็เกิดขึ้นถูกที่ ถูกเวลา เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เริ่มต้นในประเทศอังกฤษและขยายไปอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก (เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส และเยอรมนี)

ผลกระทบอย่างหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนั้น คือ ประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมได้ก่อนก็ได้ขึ้นมาเป็น 'เจ้าโลก' แทนที่จีนและอินเดีย อุตสาหกรรมของประเทศในฝั่งยุโรปเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งทอ) ได้ในราคาถูกลง ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่ง (อย่างเรือเดินสมุทร) และการสร้างรถไฟ ช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี สินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกพวกนี้เข้าไปทำลายอุตสาหกรรมในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และอียิปต์ เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องเลิกผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (De-industrialization) และหันไปขายสินค้าเกษตร แต่พบว่า ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม ถูกลิดรอนประโยชน์จากการค้า

การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่ทำให้เกิดประเทศจน—รวยในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Economic Divergence (Williamson, 2011; Baldwin, 2016)

แม้ความกังวลของ Ricardo จะสมเหตุสมผล แต่ผลกระทบต่อแรงงานจากการใช้เครื่องจักรในสมัยก่อนก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก หากวัดจากค่าจ้างที่แท้จริงและจีดีพีต่อหัวของอังกฤษที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Lindert & Williamson, 1983) ในแง่ของแรงงาน เมื่อผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย ผลก็คือ ราคาสินค้าถูกลง ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการต้องการกำไรที่สูงขึ้นไปอีก ก็ต้องนำเอากำไรที่ได้ไปลงทุนใหม่ (Reinvestment) เพื่อเพิ่มทุน อาจขยายโรงงาน หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่เพราะในการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น ต้องใช้แรงงานเข้ามาช่วย (ในที่นี้ เราพูดถึงการผลิตสินค้าลอตใหม่) นอกจากนั้น เมื่อสินค้าอุตสาหกรรมมีราคาถูกลง ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงก็คือ ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม รูปแบบของทุนนิยมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตไปค่อนข้างมาก เพราะบริษัทไม่ได้นำกำไรไปลงทุนต่อนั่นเอง ดังนั้น การใช้ AI เข้ามาช่วย จึงเพิ่มความเสี่ยงให้แรงงานที่เพิ่งถูกเลิกจ้างจากบริษัทหรืออุตสาหกรรมไม่สามารถหางานใหม่ได้ทันที

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

อย่างแรก ต้องอธิบายว่า ทุนนิยมในปัจจุบันเป็นยุคเฟื่องฟูของภาคการเงิน (Age of Finance) ชีวิตประจำวันของเราข้องเกี่ยวกับภาคการเงินอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่เรื่องฝาก—ถอน แต่ยังรวมไปถึงการกู้ยืม หรือลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ 'ผู้เล่น' ที่อยู่ในภาคการเงินก็ไม่ได้มีแค่ธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบริษัทเงินทุน บริษัทบริหารสินทรัพย์ และ non-bank ต่างๆ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ที่แท้จริงของภาคการเงิน คือ การเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการผลิตในภาคธุรกิจจริง (real economy) พูดง่ายๆ ก็คือ ภาคการเงินเป็นเพื่อนพระเอกของการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น หากภาคการเงินบรรลุเป้าหมายข้อนี้ (หมายถึงภาคธุรกิจจริงเติบโตขึ้น) เราจะพบว่า สัดส่วนของภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น…ตรงกันข้าม เพราะภาคการเงินเติบโตขึ้นทุกปี กลายเป็นภาคที่สามารถสร้างกำไรได้ด้วยตัวเอง ธนาคารสามารถปล่อยกู้กันเองได้ หรือเป็นตัวตั้งตัวตีในการไปลงทุนในบริษัทหรือกองทุนอื่นๆ นั่นแปลว่า การเติบโตของภาคการเงินมีมากกว่าแค่ช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง ฟังแบบนี้แล้วเหมือนจะดี แต่การเติบโตของภาคการเงินยังส่งผลสำคัญต่อ mindset ของผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย

เมื่อก่อน หากเราจะวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจ ก็คงจะดูว่าขายได้เท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ เหลือเป็นกำไรเท่าไหร่ ถ้ามีกำไรมาก ก็แปลง่ายๆ ว่ากิจการกำลังไปได้สวย แต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดแนวคิดหนึ่งในทางธุรกิจขึ้นมา มีชื่อว่า

แนวคิด Maximizing Shareholder Value (MSV) คือการที่บริษัทจดทะเบียนมุ่งสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยวัดจากราคาของหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นหรือจากเงินปันผลที่มีกิจการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น

เมื่อ MSV คือเป้าหมายของกิจการ ผู้บริหารจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนมากที่สุด เรียกได้ว่า มาซื้อหุ้นฉันสิ เธอจะไม่ผิดหวัง สำหรับเหตุผลที่คนทั่วไปมักใช้อธิบายว่าทำไมเราจะต้องทำให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนสูงที่สุด ก็เพราะผู้ถือหุ้นเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงของกิจการมากที่สุด หลังจากที่บริษัทจ่ายดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ลูกจ้างได้เงินเดือนครบทุกคน หักลบกลบหนี้หมดแล้ว ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นของผู้ถือหุ้น (residual claimants) อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่าแนวความคิดนี้ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ทุกคนในบริษัทก็แบกรับความเสี่ยงในมิติที่ต่างกันออกไป รวมไปถึงรัฐบาลที่มักเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงที่เกิดเมื่อต้องเป็นผู้ลงทุนใน R&D หรือโปรเจกต์ใหม่ๆ ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า แถมยังเสี่ยงต่อการโดนด่าว่าผลาญเงินภาษีประชาชน

เมื่อการทำให้ผู้ถือหุ้นมีกำไรสูงสุดคือ KPI ของการบริหารบริษัท จึงทำให้ผู้บริหารหน้ามืดตามัวเฝ้าเพ้อคะนึงถึง 'กำไรของผู้ถือหุ้น' ทั้งยามหลับและยามตื่น แนวปฏิบัติหนึ่งที่นิยมทำกันมาก คือ “share buy-backs” (share repurchase) ซึ่งก็คือ การที่บริษัทซื้อหุ้นของตัวเองคืนจากตลาด ผลลัพธ์ของมันคือ จำนวนหุ้นในตลาดลดลงและทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้น ส่วนแบ่งของผู้ถือหุ้นก็จะมากขึ้น เมื่อจำนวนหุ้นลดลงก็จะช่วยให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings per share: EPS) สูงขึ้น ซึ่ง EPS ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของบริษัทในปัจจุบัน ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของ EPS ก็นำไปประเมินค่าตอบแทนที่จะจ่ายให้กับผู้บริหาร (Executive pay) การซื้อหุ้นคืนก็เลยเป็นเข้ากับสุภาษิตไทยที่ว่า ยิงปืนนัดเดียว นกจึงตายทั้งฝูง ผู้บริหารจึงมีแรงจูงใจของการซื้อหุ้นคืน และแน่นอนว่าการซื้อหุ้นคืนนี้สอดคล้องกับแนวคิด MSV ผลลัพธ์คือ เรามักเห็นข่าวที่บริษัทจ่ายโบนัสให้กับ CEOs แบบตั้งตัวได้ ในขณะที่แรงงาน ผู้ใช้หนึ่งสมองและสองมือผลิตสินค้าและบริการกลับได้เพียงเงินเดือน ซึ่ง Mariana Mazzucato นักเศรษฐศาสตร์จาก University College London ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Value of Everything กล่าวว่า

การเปิดเสรีทางการเงินที่มากเกินไป ทำให้ค่าตอบแทนของแรงงานมีน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศรวยหรือจนก็ตาม

ดังนั้น หากบริษัทนำกำไรในแต่ละไตรมาสไปใช้ในการซื้อหุ้นคืน การลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร หรือใน 'กิจกรรม' อื่นๆ ที่ไม่ได้ช่วยทำให้มีการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เช่น ไม่ได้เอาไปลงทุนในงานวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือไม่ได้จัดซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ จากต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจของเราก็จะมีความเสี่ยง เพราะขาดความสามารถในการ 'สร้างงานใหม่'

เมื่อเป็นเช่นนั้น การคุกคามของ AI ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้ามาแทนที่แรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานไร้ฝีมือก็จะยิ่งน่ากลัวมากขึ้น แรงงานที่ว่างงานก็จะหางานยากขึ้น การที่เรารับมือกับ AI ได้ยากขึ้นอาจเป็นเพราะการเติบโตที่มากเกินไปของภาคการเงิน ในส่วนของการพัฒนา AI ผู้วิจัยก็ควรพึงถามตัวเองด้วยว่า ทำไปเพื่อใคร

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0