โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภัยความรุนแรงใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ช่วยป้องกันได้

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 11.06 น. • Features

ปัจจุบันเราพบปัญหาความรุนแรงในเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากคนแปลกหน้าหรือแม้แต่คนใกล้ชิด จะเห็นได้จากข่าวเด็กทารกถูกพี่เลี้ยงทุบตีทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง หรือข่าวการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัวของเด็ก จึงเป็นที่น่ากังวลใจว่าเราจะสามารถป้องกันหรือหยุดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเราได้อย่างไร

ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กนั้นมีผลกระทบต่อเด็กมากทั้งทางร่างกาย พัฒนาการทางสมอง รวมไปถึงสภาพจิตใจ ทำให้เด็กเกิดภาวะหวาดระแวง เหม่อลอย ขาดความไว้วางใจ และอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบ จะมีผลร้ายแรงต่อสมองทุกด้าน มีผลต่อการเรียนรู้และเข้าใจ ส่งและส่งผลให้เด็กมีจิตใจที่แปรปรวนไม่คงที่

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถเฝ้าระวังภัยไม่ให้เกิดกับลูกได้ตลอดเวลา แต่เบื้องต้น เราก็พอจะช่วยปกป้องและป้องกันลูกจากความรุนแรงได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. รู้จักสังเกตพฤติกรรมของลูก

พ่อแม่ย่อมเป็นคนที่รู้ดีกว่าปกติลูกมักจะมีพฤติกรรมเป็นแบบไหน เช่น เป็นคนร่าเริง ชอบหัวเราะ พูดเก่ง หากจู่ๆ ลูกเริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร อารมณ์หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า และหวาดกลัว แสดงได้ถึงความผิดปกติควรสันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าลูกอาจพบเจอเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจบางอย่าง

นอกจากนี้การสำรวจร่างกายของลูกในทุกๆ วันก็สำคัญ หากมีรอยฟกช้ำ มีแผลในลักษณะแปลกตาที่ไม่น่าเกิดจากการเล่นทั่วไป รวมไปถึงรอยถูกน้ำร้อนลวก หรือของร้อนจี้ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเร่งสอบถามลูก คนใกล้ชิด หรือคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาสาเหตุจากการเกิดแผลตามร่างกาย และเข้าให้ช่วยเหลือลูกอย่างทันที

2. สอนให้ลูกรู้จักรักหวงแหนร่างกาย

การสอนให้ลูกรู้จักหวงแหนส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจัดได้ว่าเป็นการสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตัวเองเบื้องต้น โดยเริ่มจากการสอนให้รู้จักอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยคำสั้นๆ เข้าใจง่าย เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น ฯลฯ คุณพ่อแม่ต้องไม่อายและไม่มองว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าเมื่อสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เขาสามารถพูดหรือบอกกับคุณพ่อคุณแม่ได้

อีกทั้งการสอนให้ลูกรู้จักพูดปฏิเสธในสิ่งที่รู้สึกไม่ชอบ เช่น หากใครจะเข้ามากอด หอม หรือจับต้องอวัยวะที่สำคัญ ต้องรู้จักพูดคำว่าไม่ หรือหยุด อย่ายินยอม ไม่ต้องกลัว คุณพ่อคุณแม่จะปกป้องเขาเอง เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้เด็กรับรู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้

3. มีข้อตกลงร่วมกัน

คุณพ่อคุณแม่สามารถทำข้อตกลงร่วมกับลูกได้ เช่น การตั้งพาสเวิร์ดร่วมกันภายในครอบครัว หากมีใครชวนลูกไปไหน หรืออ้างว่าพ่อแม่ให้มารับ ให้ลูกถามว่าพ่อแม่ชื่ออะไร แล้วพาสเวิร์ดคืออะไร โดยการตั้งรหัสลับระหว่างพ่อแม่ลูกนั้นควรเป็นอะไรที่เฉพาะเจาะจง จดจำได้ง่าย แต่เดายาก เช่น เท็ดดี้แบร์ตัวอ้วน โพนี่มีขนปุกปุย

ถ้าคนแอบอ้างไม่สามารถบอกพาสเวิร์ดที่ถูกต้องได้ให้ลูกหาคุณครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ แต่หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้น เช่นลูกถูกจับหรือดึงตัวไว้ ก็สอนให้ลูกตะโกนขอความช่วยเหลือให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้

4. หากจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ควรจ้างจากสถาบันที่ไว้ใจได้

ปัจจุบันพ่อแม่หลายคนมีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีเวลาอยู่บ้านเลี้ยงดูลูกได้ตลอดเวลา การจ้างพี่เลี้ยงเด็กเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อคุณแม่ออกไปทำงานนอกบ้านได้ตามปกติ แต่หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าพี่เลี้ยงเด็กบางคนก็ไม่ได้เลี้ยงเด็กได้ดี เช่น เลี้ยงผิดวิธีหรือรุนแรงไปจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายเด็ก

ดังนั้นหากจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูก คุณพ่อคุณแม่ควรจะเลือกพี่เลี้ยงจากสถาบันที่มีการรับรองมาตรฐานตามกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสามารถตรวจสอบข้อมูลประวัติส่วนตัวเบื้องต้นของพี่เลี้ยงเด็กได้

5. ทำให้ลูกกล้าเล่าและพูดคุยกับเรา

สิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดคุยกับลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นสามารถรับฟังเรื่องราวต่างๆ ได้ โดยวิธีคือหมั่นฟังเขาเล่าเรื่องต่างๆ ไม่ว่าลูกจะพูดอะไรก็ควรฟังและให้ความสนใจไม่เมินเฉย เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีคนใส่ใจทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับอีกทั้งพ่อแม่ไม่ควรมีอารมณ์ร่วม หรือตำหนิว่าเขาตั้งแต่ยังฟังไม่ทันจบ เพราะหากทำแบบนั้นจะเป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าเล่าอะไรให้ฟังก็จะถูกดุ จนรู้สึกกลัวและไม่อยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกต่อไป

อ้างอิง

tcijthai

newsthaipbs

unicef

parentsone

honestdocs

khaosod

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0