โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ภท.เตือน เพื่อไทย อย่าลืม! เคยลงสัตยาบันยอมรับ "ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้ ส.ส.อันดับ 1"

NATIONTV

เผยแพร่ 26 มี.ค. 2562 เวลา 08.45 น. • Nation TV
ภท.เตือน เพื่อไทย อย่าลืม! เคยลงสัตยาบันยอมรับ ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้ ส.ส.อันดับ 1
ภท.เตือน เพื่อไทย อย่าลืม! เคยลงสัตยาบันยอมรับ ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้ ส.ส.อันดับ 1

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย เตือน พรรคเพื่อไทย อย่าลืม เคยลงสัตยาบันยอมรับ "ตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้ ส.ส.อันดับ 1" ชี้ ไม่จำเป็น ใช้ ม.44 ทำประชามติถามประชาชน ยอมรับป๊อปปูลาร์โหวตหรือไม่ เพราะยิ่งทำยิ่งมีปัญหา เลือกตั้งเสียของ

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการจับมือตั้งรัฐบาลในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ว่า ตนไม่ทราบ และทางพรรคมีมติชัดเจนว่าให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค เป็นผู้ประสานการจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด ส่วนจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย จะร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคใดนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า อยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยระหว่างกรรมการบริหารพรรคอยู่เป็นระยะ แต่ยังไม่ได้กำหนดท่าทีชัดเจน 

เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคภูมิใจไทย เนื้อหอมมาก ได้รับการติดต่อจากพรรคอื่นบ้างหรือไม่?นายสรอรรถ กล่าวว่า ก็ต้องขอขอบคุณ  แต่ตนไม่ทราบจริงๆถึงรายละเอียดในการจัดตั้งรัฐบาล 

และช่วงเช้าของวันนี้ จากความเคลื่อนไหวในเฟสบุ๊ค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ระบุ "พปชร.ลงสมัครรับเลือกตั้ง 350 เขต แต่ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่า พท. ที่ลงสมัครแค่ 250 เขต แล้วออกมาบอกว่าตัวเองได้คะแนนนิยมจากคนทั้งประเทศมากกว่า ควรจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ระบอบรัฐสภาไม่ได้คิดแบบนั้นนะคะ"

เมื่อถามนายสรอรรถถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ชูคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทย ชูจำนวน ส.ส.เขต นายสรอรรถ บอกว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง ทุกฝ่ายก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ประเด็นสำคัญคือใครสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้ง ตนเข้าใจว่าเคยมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในพิธีลงสัตยาบันระหว่างพรรคการเมือง ที่นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น 

ซึ่งตนได้ถามย้ำในที่ประชุมแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ถึงจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ใช่หรือไม่? ซึ่งทุกพรรคก็เห็นพ้องว่า "ใช่ รวมถึงพรรคเพื่อไทย แต่ในวันนั้นไม่มีพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วม"

สำหรับเงื่อนไขเสนอให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรี นายสรอรรถ ขอไม่ออกความเห็น เพราะเคารพในมติของพรรค ที่ให้หัวหน้าพรรคและเลขาฯพรรค เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงหาเสียงพรรคก็ประกาศว่า นายอนุทิน มีความพร้อมเป็นนายกฯ แต่ความเป็นจริงก็ต้องดูสถานการณ์ความเหมาะสม ความมั่นคงและเสถียรภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คะแนนค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมาแล้ว ประเด็นสำคัญคือ คนที่เป็น ส.ส.ซีกรัฐบาลต้องมีวินัยในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะเวลามีการประชุมสภา ก็ต้องอยู่ให้ครบองค์ประชุม ซึ่งเชื่อว่าจะบริหารจัดการได้  

หากเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ มีการมองว่าพรรคภูมิใจไทย จะเป็นจุดคลายล็อก หรือไม่? นายสรอรรถ กล่าวว่า ตัวเลขก็เป็นแบบนั้น แต่การตัดสินใจมีปัจจัยหลายอย่าง ต้องรอดูการตัดสินของหัวหน้าพรรค ทั้งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง ถ้าเรื่องแค่นี้รู้สึกกดดัน ก็คงไม่เล่นการเมือง ขอให้ใจเย็นๆ การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักการและเหตุผล โดยเฉพาะรัฐบาลต้องมีความมั่นคง และประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้  

นายสรอรรถ ยังบอกด้วยว่า พรรคไม่ยึดติดกับกระแสสังคม แต่ยึดหลักการและเหตุผล ส่วนความชัดเจนจุดยืนของพรรค จะพยายามให้เร็วที่สุด พร้อมมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ต้องรอผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน และคงไม่จำเป็นที่ หัวหน้า คสช. ต้องใช้มาตรา 44  ทำประชามติ ว่าประชาชนยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลโดยอ้างคะแนนความนิยมหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีการเลือกตั้งทำไม และยิ่งทำอาจยิ่งมีปัญหา 

สำหรับการนับคะแนนของ กกต. ที่ถูกโจมตีในขณะนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกเห็นใจ กกต. เพราะเป็นการทำงานครั้งแรกของ กกต.ทั้ง 7 คน ซึ่งก็ไม่เคยผ่านการจัดการเลือกตั้งมาก่อน แม้กระทั่งสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งข้อผิดพลาดก็ต้องมีอยู่แล้ว 

แต่เขื่อว่าประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริง บิดเบือนกันไม่ได้ แม้ว่าจะมีหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 หน่วย แต่คะแนนทุกอย่างจบลงหลังจากนับในแต่ละหน่วย ประมาณ 3-4 ชั่วโมงภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง ดังนั้นข้อผิดพลาดอาจมาจากการรายงานข้อมูล ที่อาจคลาดเคลื่อน หรือการส่งต่อข้อมูลกันไปมา ก็ทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนและเกิดความสับสน 

เพราะทุกคะแนนมีความหมายต่อตัวเลขของผู้ที่จะได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งทุกคนก็อยาก ให้กกต.ประกาศให้ชัดเจนว่าแต่ละเขตเลือกตั้งมีคะแนนเท่าไร เข้าใจว่าวันนี้ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งคงส่งเอกสารมาที่ กกต.เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าภายในวันที่ 29 มีนาคม กกต. จะประกาศตัวเลขที่ชัดเจน ครบทั้ง 90,000 กว่าหน่วย 

หลังจากนี้ต้องรอการรับรองอย่างเป็นทางการให้ครบ 95% จึงจะดำเนินการเปิดประชุมสภาได้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า กกต. ควรนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์ มานับคะแนนด้วย แม้อาจไม่ส่งผลต่อคะแนนภาพรวมมากนัก แต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ใช้สิทธิ์ ที่มีความตั้งใจ เพราะการเลือกตั้งในต่างแดน มีความลำบากในการเดินทาง ต้องไปใช้สิทธิที่สถานทูต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0