โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ฟ่าน ปิงปิง" หายไปไหน?

MATICHON ONLINE

อัพเดต 18 ก.ย 2561 เวลา 12.19 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2561 เวลา 12.19 น.
FILE PHOTO: Fan Bingbing poses at 71st Cannes Film Festival
FILE PHOTO: 71st Cannes Film Festival - Screening of the film “Ash Is Purest White” (Jiang hu er nv) in competition - Red Carpet Arrivals - Cannes, France, May 11, 2018. Fan Bingbing poses. REUTERS/Stephane Mahe/File Photo

 

การหายตัวไปของใครสักคนย่อมไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ยิ่งบุคคลนั้นๆ เป็นทั้งดารา เป็นทั้งคนดังในสังคมที่ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงเป็นนิจ ยิ่งผิดสังเกตกันไปใหญ่

การหายตัวไปเฉยๆ ของ “ฟ่าน ปิงปิง” ดาราภาพยนตร์ชื่อดัง แถมยังเป็น“เซเล็บ” สาวสังคมชั้นสูงของเมืองจีนจึงกลายเป็นเรื่อง “พูดกันสนั่นเมือง” ของจีนเลยทีเดียว

ฟ่าน ปิงปิง ไม่เพียงเป็นดาราที่มีค่าตัวแพงที่สุดของจีนเท่านั้น ยังโด่งดังเป็นที่รู้จักกันในระดับโลก ผ่านบทบาทในภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง “เอ็กซ์-เม็น” และ “ไอร์ออน แมน” แถมยังเป็นดาราที่ “ทำเงิน” มากที่สุดของจีนอีกต่างหาก

ขนาดถูกเลือกเป็น “แบรนด์ แอมบาสเดอร์” และเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาที่ ซีเอ็นเอ็นพยายามนับแล้วบอกได้เพียงว่า “หลายพันชิ้น” ในประเทศจีน

รวมทั้งแบรนด์หรูหราระดับโลกทั้งหลาย ตั้งแต่ คาร์เทียร์ เรื่อยไปจนถึง หลุยส์ วิตต็อง, ม็องบลังก์ และ เดอ เบียร์ส เป็นต้น

เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ ยกย่องให้เธอเป็น “นักแสดงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด” ของจีน

ฟอร์บส์ ยกให้เธอเป็น “เซเล็บ” ที่รวยที่สุดของจีน มีทรัพย์สินราว 300 ล้านหยวน (43.78 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,400 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว

ฟ่าน ปิงปิง หายไปง่ายๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากโพสต์ภาพและข้อความในโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเป็นตัวตนของดารารายนี้จริง แสดงให้เห็นว่า เธอเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาลเด็กแห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองทิเบต

 หลังจากนั้นแล้ว ไม่มีใครรู้อีกเลยว่า ฟ่าน ปิงปิง อยู่ที่ไหนและอยู่ในสภาพใด

ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์พยายามโทรศัพท์ไปหาตัวแทนของดาราสาว แต่ไม่มีใครรับโทรศัพท์ ติดต่อหาเจ้าตัวก็ไม่ได้ เมื่อถามโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ได้รับคำตอบแห้งแล้งว่า คุณคิดว่านี่เป็นประเด็นทางการทูตหรือ? ถามสำนักงานความปลอดภัยสาธารณะในปักกิ่ง ก็ไม่ได้รับคำตอบ “โน คอมเมนท์”

การหายตัวไปของดาราดังในครั้งนี้จึงกลายเป็นเรื่องแปลก แต่เกิดขึ้นจริงในจีน

ก่อนการหายตัวไปของ ฟ่าน ปิงปิง เกิดเหตุการณ์น่าสนใจขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง นั่นคือ ราวปลายเดือนพฤษภาคม ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ปรากฏเอกสารที่อ้างว่าเป็นสำเนา “สัญญาว่าจ้าง” ของดาราสาวรายนี้รั่วไหลออกมา แล้วถูกระบุว่า เป็นตัวอย่างของการทำสัญญาว่าจ้างแบบ “หยินหยาง” ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อเลี่ยงภาษี

“โกลบอลไทมส์” แท็บลอยด์ของรัฐบาลจีน ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ว่า ฟ่าน ทำสัญญาต่างกัน 2 แบบสำหรับการว่าจ้างในแต่ละครั้ง แบบแรกใช้สำหรับการเสียภาษี ซึ่งจะระบุค่าจ้างไว้ถูกๆ เพียงแค่ 10 ล้านหยวน (ราว 50 ล้านบาท) กับอีกฉบับถือเป็นสัญญาส่วนตัว ระบุค่าจ้างไว้สูงขึ้น 5 เท่าตัวคือ 50 ล้านหยวน

พอถึงเดือนมิถุนายน คุ่ย หยงหยวน พิธีกรทีวีชาวจีน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการรั่วไหลครั้งนั้น ออกมาขอโทษขอโพยต่อฟ่าน ปิงปิง แต่ในเดือนเดียวกัน สำนักงานแห่งรัฐเพื่อการจัดเก็บภาษี ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวน “สัญญาหยินหยาง” ทั้งหมดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน

แน่นอน ทีมงานของฟ่าน ปิงปิง ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ด้วยอาการกราดเกรี้ยว แต่ไม่ใช่เจ้าตัว เพราะดาราสาวหายตัวไปหลังจากเกิดความขัดแย้งดังกล่าวขึ้น

หายไปทั้งๆ ที่ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาใดๆ ทั้งสิ้น

วันที่ 6 กันยายน “ซีเคียวริตีส์ เดลี” สื่อในความควบคุมของรัฐอีกราย เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ออกมาชิ้นหนึ่งแล้วก็ลบทิ้งไปอย่างรวดเร็ว อ้างว่า ฟ่าน อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของทางการ และใกล้จะได้รับ “การพิพากษาโทษตามกฎหมาย” แล้ว

แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามมาจนถึงขณะนี้

เสียงเล่าลือไปไกลถึงขนาด เทียบเคียงกรณีฟ่าน ปิงปิง กับกรณีของ อ้าย เหว่ยเหว่ย ประติมากรคนสำคัญของจีน ที่หายตัวไปเกือบ 3 เดือน ก่อนที่จะปรากฏตัวอีกครั้งบอกเล่าว่าได้รับอิสระ หลังจากลงชื่อรับสารภาพต่อทางการว่าหนีภาษี

ผู้สันทัดกรณีในวงการสรุปว่า นี่เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” พยายามทำให้เกิดความหวาดกลัวในการทำความผิดแบบเดียวกันนี้

ซีเอ็นเอ็นอ้างความเห็นของ โปรดิวเซอร์ รายหนึ่งเอาไว้ว่า “สัญญาหยินหยาง” นั้้น ทำกันทั่วไปทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน ไม่มีใครไม่ทำสัญญาแบบนี้ ถ้าจะตรวจกันจริงๆ “สัญญาว่าจ้างเกือบทุกฉบับ ผิดทั้งหมด”

ข้อกังขาสำคัญของคนทั่วไปก็คือ หากต้องการให้กรณีนี้เป็น “คดีตัวอย่าง” สำหรับคนเลี่ยงภาษีในจีน ทำไมไม่ดำเนินการอย่างเปิดเผย ตั้งข้อกล่าวหาแล้วดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งทำได้และส่งผลสะเทือนสูงกว่ามาก

สำนักข่าวรอยเตอร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “การทำความสะอาดทางวัฒนธรรม” หรือ“คัลเจอรัล คลีนนิง” ของทางการจีน

โดยยกตัวอย่างความพยายามทำนองเดียวกันนี้ไว้ด้วยว่า ในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับ “ดารา” ภาพยนตร์และโทรทัศน์ จีนตามลำดับคะแนนว่าด้วย “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ให้คะแนนแต่ละคนจาก 0 ถึง 100 คะแนน

 ฟ่าน ปิงปิง อยู่อันดับท้ายสุด ไม่ได้เลยแม้แต่คะแนนเดียว

ในความเห็นของคนที่คุ้นเคยกับวงการภาพยนตร์จีนหลายคนที่บอกกับรอยเตอร์และซีเอ็นเอ็น สรุปรวมความได้ว่า ดาราทั้งหลายในจีน แค่ไม่ทำผิดกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ

 ต้องเดินตามแนวทางที่พรรคต้องการให้ทำ ชนิดก้าวล้ำหน้าไปก็ไม่ได้อีกด้วย

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0