โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฟู้ดเดลิเวอรี่แข่งเดือด เร่งปูพรมบริการอัดแคมเปญชิงแชร์

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 27 ก.พ. 2566 เวลา 07.03 น. • เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 04.18 น.
foodora-3402507_960_720

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้งซื้อของ-จ่ายเงิน ขณะที่สภาพการจราจรและชีวิตที่ยุ่งเหยิงของสังคมเมือง ทำให้บริการ “food delivery” ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แค่ไตรมาสแรกของปีนี้ ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหลายต่างโชว์ผลงานยอดออร์เดอร์-อัตราการเติบโตกันทั่วหน้า

Grab มั่นใจครอง 50% ตลาด

หากเทียบยอดการใช้บริการ “GrabFood” น่าจะนำโด่งสุด จากล่าสุดที่เพิ่งเฉลิมฉลอง “4 เดือน 4 ล้านออร์เดอร์” โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย “ธรินทร์ ธนียวัน” ระบุว่า ในปี 2561 “GrabFood” มียอดใช้งานกว่า 3 ล้านออร์เดอร์ แต่แค่ 4 เดือนแรกของปีนี้ มียอดคำสั่งซื้อแล้วกว่า 4 ล้านออร์เดอร์ ส่งผลให้มีมาร์เก็ตแชร์ฟู้ดดีลิเวอรี่กว่า 50%

โดย “พันธมิตร” คือปัจจัยที่ผลักดันให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จากการเร่งจับมือเพิ่มพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเดินหน้ากลยุทธ์ “every day app” ตามเป้าหมายของการก้าวเป็นซูเปอร์แอปของแกร็บ ซึ่งทำให้ลูกค้าในบริการอื่น ๆ ของแกร็บที่มีกว่าล้านราย ข้ามมาใช้บริการ “GrabFood” เพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคือ “GrabFood” มีบริการที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่ง ทั้งในด้านความเร็วและค่าบริการที่ “เร็วกว่าถูกกว่า” แถมมีดีลพิเศษ โดยแกร็บเชื่อว่าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่มีลอยัลตี้ เพราะมีลูกค้าไม่น้อยที่ใช้บริการโดยไม่ใช้รหัสส่วนลด ดังนั้น “คุณภาพ” ยังเป็นสิ่งชี้วัดสำคัญ แม้ขณะนี้จะยังสู้กันด้วยโปรโมชั่น ซึ่งน่าจะยังคงรูปแบบนี้ไปอีกราว 5 ปี

“แม้ว่าตอนนี้การใช้งานหลักของแกร็บจะเป็นการเรียกรถส่งคน แต่หวังว่าบริการส่งอาหารจะกลายเป็นบริการหลักในอนาคต เพราะตลาดเติบโตเร็วมาก อย่างก่อนหน้านี้ Foodpanda ประกาศยอด 1 ล้านออร์เดอร์ใน 3 เดือน ยิ่งทำให้รู้ว่าตลาดโตเร็วมาก ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็วมาก จนปัจจุบันมีการสั่งอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน และไม่ใช่แค่วัยทำงาน แต่ขยายกลุ่มอายุไปถึงผู้ปกครองของวัยทำงานแล้ว ตอนนี้มีผู้เล่น 3-4 ราย แต่ถ้าจะมีหน้าใหม่เข้ามาอีกก็ดี จะได้ช่วยกันทำตลาด”

ตั้งเป้า 20 ล้านออร์เดอร์ในสิ้นปี

ปีนี้ตั้งเป้าจะขยายบริการ “GrabFood” เพิ่มอีก 6 จังหวัด นอกเหนือจากกรุงเทพฯและเชียงใหม่ โดยจะมุ่งสู่พัทยา หาดใหญ่ และโคราช ซึ่งได้เริ่มหาพันธมิตรทั้งสตรีตฟู้ดและเชนร้านอาหารในพื้นที่แล้ว ทั้งยังมีพันธมิตรใหม่ “STARVINGTIME เรื่องกินเรื่องใหญ่” แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายในการสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด ด้วยการเพิ่มแท็บ “STARVINGTIME Recommends” บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้สั่งอาหารผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ STARVINGTIME อาทิ เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และเว็บไซต์

และล่าสุดได้ออกแคมเปญใหญ่ “GrabFood Mega Sale Festival ลดสุดปัง ยิ่งสั่งยิ่งได้” ร่วมกับพันธมิตรกว่า 200 ร้านค้า มั่นใจว่าตลอดแคมเปญจะมียอดสั่งรวมกว่า 10 ล้านออร์เดอร์

“เราแซงคู่แข่งไปเยอะ เราถึงมีไซซ์ที่สามารถจัดแคมเปญระดับนี้ได้ เพื่อเป็นการย้ำความมั่นใจให้พาร์ตเนอร์ทั้งร้านค้าและคนขับ จึงจะมีแคมเปญใหญ่ ๆ ทุกปี”

โฟกัสบริหารเวลา-ต้นทุน

ขณะที่ความท้าทายในขณะนี้คือการบริหารจัดการระยะเวลาที่อาหารจะถึงมือผู้รับให้ไม่เกิน 30 นาที เพราะหากลูกค้ารอนานมีโอกาสจะยกเลิกออร์เดอร์ ขณะที่การขยายพื้นที่ให้บริการในแต่ละจุดให้กว้างขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องบาลานซ์ “เวลา-ระยะทาง” ให้ได้ รวมถึงการทำให้บรรดาร้านค้าเข้าใจว่า การสั่งอาหารออนไลน์เป็นพฤติกรรม

ผู้บริโภคยุคนี้ และทำให้ร้านค้าลดต้นทุนในการขยายหน้าร้านได้ เพื่อให้มีร้านค้าเข้ามาในระบบของแกร็บมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีร้านค้าเพิ่มกว่า 1,000 ร้านค้าต่อสัปดาห์ ทำให้ปัจจุบันมียอดร้านค้าพาร์ตเนอร์กว่า 2 หมื่นร้านแล้ว แต่สิ่งสำคัญของแกร็บคือ การทำให้ร้านค้าพาร์ตเนอร์ในระบบมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือกับออร์เดอร์ของลูกค้าที่จะต้องส่งให้เร็วและบริหารต้นทุนให้ได้มากกว่า

LINE MAN โชว์โต 300%

ฟาก LINE MAN ผู้ให้บริการอีกรายในตลาดที่โดดเด่นด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของ “LINE” แอปพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านราย “อึน จอง ลี” รองประธานฝ่ายบริหารธุรกิจ LINE Global Corporation และรักษาการกรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า LINE MAN เป็นธุรกิจดาวรุ่งในไทยที่เติบโตเร็วมาก และเป็นบริการที่เกิดขึ้นจากไอเดียของคนไทย โดยมี 5 บริการ ภายใต้ LINE MAN ได้แก่ ส่งอาหาร, เมสเซนเจอร์, ส่งพัสดุ, เรียกแท็กซี่ และบริการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมียอดผู้ใช้รวมกว่า 3 ล้านราย มีการเติบโตกว่า 300% ตลอด 3 ปี

“บริการส่งอาหาร” คือส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุด ปีนี้จึงยังเน้นตลาดนี้เป็นหลัก ตั้งเป้าจะเติบโตให้มากกว่า 300% เน้นพัฒนาบริการให้ดี ให้ลึกถึงความต้องการผู้บริโภค โดยยังไม่โฟกัสที่กำไร ซึ่งคาดว่าผู้ให้บริการในตลาดทุกรายก็ยังไม่โฟกัสในเรื่องนี้

จ่ายแพงกว่าก็ไม่ใช่ปัญหา

และแม้ว่า “ค่าบริการ” จะเป็นจุดตัดสินใจของลูกค้า แต่ LINE MAN มั่นใจว่า เป็นราคาที่โปร่งใส ไม่ได้บวกเพิ่มไปในราคาอาหาร โดยเริ่มต้นที่ 55 บาท คิด 7.2 บาท/กิโล ทั้งยังมีจุดแข็งคือ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางการจัดส่ง แตกต่างจากคู่แข่ง

“ลูกค้ามีหลายกลุ่มและตัดสินใจเลือกใช้บริการด้วยหลายเหตุผล ดังนั้นไม่ได้กังวลเรื่องราคา เพราะลูกค้ากลุ่มที่ใช้บริการโดยไม่ใช้ส่วนลดราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ตลาดแข่งขันรุนแรงแต่เป็นเรื่องที่ดี เพราะลูกค้าได้รับผลประโยชน์และกระตุ้นให้เราพัฒนาบริการ”

ขยับสู่ Top of Choice

“LINE MAN กลายเป็นคำติดปาก เป็น top of mind ความท้าทายต่อไปคือ ต้องเป็น top of choice ฉะนั้นต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เงินที่เสียไปจะได้รับบริการที่ดีกว่า ความท้าทายในปีที่ 4 คือ การสร้างเซอร์วิสที่ครอบคลุมความต้องการในทุกส่วนของชีวิตผู้ใช้ รวมทั้งมีแผนจะขยายไปต่างจังหวัดเร็ว ๆ นี้ แต่ต้องดูความพร้อมของพาร์ตเนอร์ทั้งคนขับและร้านอาหาร”

ปัจจุบันมีพันธมิตรหลากหลาย อาทิ “วงใน” ซึ่งทำให้มีร้านอาหารกว่า 47,000 แห่งในระบบ มากที่สุดในตลาด รวมทั้งลูกค้าสั่งของผ่านช่องทางของ “วงใน” ได้โดยตรง ใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ ในการชำระเงินผ่านได้ ขณะที่การมี “ลาล่ามูฟ” เป็นพันธมิตรทำให้มีจำนวนคนขับมากที่สุด ครอบคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑล นอกจากนี้ยังมีเอไอเอส, ช้อปปี้ ไปรษณีย์ไทย ฯลฯ อีก

Foodpanda โตพรวด

ด้าน “Foodpanda” ก็เพิ่งประกาศฉลอง 1 ล้านออร์เดอร์ไปเมื่อสิ้นไตรมาส 1 “อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2560 ต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน และปีที่แล้วใช้เวลา 7 เดือนถึงจะมียอด 1 ล้านออร์เดอร์ แต่ปีนี้แค่ 3 เดือน ถือว่าเติบโตรวดเร็ว ซึ่งมาจากทั้งการเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ที่มีการจัดส่งฟรีเป็นเจ้าแรก มีการขยายจำนวนร้านอาหารครอบคลุมทั้งร้านตามห้างและสตรีตฟู้ดเจ้าดัง รวมขยายพื้นที่บริการทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ หัวหิน อุดรธานี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น

นอกจากนี้ยังมียอดเติบโตของทั้งจำนวนลูกค้าที่มีมากขึ้นถึง 39% เมื่อเทียบกับปี 2560 เป็นลูกค้าคนไทยมากถึง 60% มีจำนวนร้านค้ามากขึ้นถึง 196% และมีจำนวนไรเดอร์มากขึ้นถึง 332%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0