โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฟื้น ”สักขาลาย” มรดกล้านนา ก่อนสูญหาย

ไทยโพสต์

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 03.59 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 03.59 น. • ไทยโพสต์

การสักขาลายตามขนบธรรมเนียมผู้ชายชาวล้านนา

 

     ปัจจุบันรอยสักกลายเป็นแฟชั่นยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ หนุ่มๆ หลายคนหันมาให้ความสนใจสักลายเท่ๆ ฮิปๆ เอาไว้โชว์ ส่วนกลุ่มสาวๆ ก็ไม่น้อยหน้า บางคนนิยมสัก แต่เลือกลายเล็กๆ น่ารัก สวยเก๋ เสริมเสน่ห์สไตล์ความเป็นตัวเองให้โฉบเฉี่ยวมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่จะมีร้านสักในกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย จะงานสี งานขาว-ดำ ลายญี่ปุ่น ลายเส้นต่างๆ ช่างสักที่เชี่ยวชาญสามารถรังสรรค์บนพื้นผิวได้ตามความต้องการลูกค้า ส่วนที่ชอบรอยสักแต่ไม่อยากเจ็บตัวก็มีสติกเกอร์แทททูเป็นทางเลือก ติดแล้วดูสวยถูกใจ แถมแบบเรืองแสงก็เอาใจสายท่องราตรี

      ขณะที่ "สักแฟชั่น" เป็นที่นิยม แต่การสักลวดลายโบราณที่มีแบบแผนทางวัฒนธรรมกลับค่อยๆ เลือนหาย โดยเฉพาะ "การสักขาลายของชาวล้านนา" ทุกวันนี้เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่รุ่น 80 หรือ 90 ปีเท่านั้นที่ยังมีรอยสักบนขาติดตัว เพราะสักมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ ส่วนหมอสัก ครูสักก็เหลือแทบนับนิ้วได้ ด้วยเหตุไม่มีผู้สืบทอดต่อ อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ไม่ชื่นชอบการสักขาลาย แต่สนใจสักแฟชั่นตามสมัยนิยมมากกว่า  อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามสืบทอดของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้การสักขาลายหรือสับหมึกยังเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาต่อไป

 

ลายสักขาลายล้านนา รูปสัตว์หิมพานต์ จากความเชื่อพุทธศาสนา

 

      การสืบทอดและต่อยอดสักขาลายได้หยิบยกเป็นเนื้อหาหนึ่งของนิทรรศการ "สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” (Tattoo COLOR, Tattoo HONOR) นิทรรศการที่ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม คือ ชาวล้านนา ประเทศไทย ชาวไท่หย่าและชาวไผวันจากไต้หวัน หากได้ชมนิทรรศการ ณ อาคารนิทรรศการ ชั้น 1 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชติ (มิวเซียมสยาม) รวบรวมภาพและอุปกรณ์การสักแบบดั้งเดิมจัดแสดง รวมถึงหนังสั้นเล่าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ผ่านศิลปะสักลาย คนรุ่นใหม่จะเข้าใจวัฒนธรรมการสักลายมากยิ่งขึ้น เพราะทุกสัญลักษณ์ที่ถูกสื่ออยู่บนรอยสักแฝงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความรับผิดชอบต่อสังคม จัดโดยมิวเซียมสยาม ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย

      งานเปิดนิทรรศการ "สักสี สักศรี" ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการมิวเซียมสยาม, หง ซื่อ โย่ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และ รศ.บุญสนอง รัตนสุทรากุล รักษาการประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ฯ ร่วมในงาน พร้อมยืนยันนิทรรศการร่วมไทย-ไต้หวันนี้ส่งเสริมการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมสองชนชาติ ที่น่าสนใจมีการสาธิตการสักแบบดั้งเดิมโดยซ่งไห่หัว ช่างสักชาวไผวัน

 

ซ่งไห่หัว ศิลปินช่างสักชาวไผวันจากไต้หวัน กำลังทำการสักแบบดั้งเดิม

 

      นอกจากนี้ มีกลุ่มคนที่สืบทอดสักขาลายล้านนาเดินทางมาร่วมงาน ทั้งพระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ จากวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ ผู้ศึกษาค้นคว้าและบันทึกลวดลายในการสักขาลายของล้านนาเขียนออกมาเป็นเล่ม เกิดการเรียนรู้ต่อยอด และช่างอ๊อด-ศราวุธ แววงาม ช่างสักแฟชั่นชาวไทใหญ่ และกลุ่มเพื่อนที่เล็งเห็นคุณค่าวัฒนธรรมการสักขาลาย ช่วยรักษามรดกวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย

      วรกานต์ วงษ์สุวรรณ นักจัดการความรู้อาวุโส มิวเซียมสยาม ในฐานะภัณฑารักษ์ กล่าวว่า การสักเป็นวัฒนธรรมสากล นิทรรศการนี้ไต้หวันเสนอวัฒนธรรมการสักหน้าของชาวไทหย่าทางตอนเหนือของไต้หวัน ชายสื่อชาตินักรบสุดกล้าหาญ หญิงมีความสามารถถักทอ และวัฒนธรรมการสักมือและตัวของชาวไผวัน ทางตอนใต้ของไต้หวัน ผู้สักลายพิเศษนี้ได้ต้องเป็นหัวหน้าเผ่า และคนในครอบครัวเท่านั้น แสดงชนชั้นทางสังคม ซึ่งวัฒนธรรมการสักกำลังจะสูญหายไป ไต้หวันพยายามรื้อฟื้น ส่วนประเทศไทยสถานการณ์ไม่ต่างกัน โดยหยิบประเด็นการสักขาลายของล้านนาขึ้นมานำเสนอ การสักขาลายไม่เป็นที่นิยมมา 60 ปีแล้ว จากงานวิจัยภาคสนามกลุ่มผู้ชายล้านนาที่สัก อายุเกิน 80 ปีทั้งสิ้น ยกเว้นชาวปกากะญอที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ยังมีคนสักขาลายอายุ 30 กว่าปี เด็กสุดอายุ 16 ปี พบเพียงคนเดียว

      “ วัฒนธรรมสักขาลายไม่มีการส่งต่อเพราะความนิยมน้อยลง รวมถึงการสักขาลายต้องใช้เวลา ต้องอดทนต่อความเจ็บปวด ปัจจุบันยังมีการสักแทททูที่สอดแทรกเข้าไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องแฟชั่น ความสวยงามทางศิลปะ การสักสีแบบปัจจุบันเจ็บปวดน้อยกว่าสักแบบโบราณ ถ้าไม่ศึกษาวิจัยและบันทึกภูมิปัญญาการสักขาลาย ลูกหลานอาจจะได้เห็นลายสักขาลายจากจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพเก่า การสักขาลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมและซ่อนความเชื่อผู้ชายได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ และเป็นการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่ม" วรกานต์ เผยคุณค่าสักขาลาย พร้อมชวนมาชมนิทรรศการเพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมกลุ่มชาติพันธุ์สองชนชาติ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-27 ต.ค.2562

 

ช่างอ๊อด-ศราวุธ แววงาม ช่างสักแฟชั่นผู้รื้อฟื้นการสักขาลาย

 

      ช่างอ๊อด-ศราวุธ แววงาม ช่างสักแฟชั่นสมัยใหม่ ผู้สนใจการสักแบบล้านนาโบราณ บอกเล่าความชอบของตนเองว่าสนใจสักขาลาย เพราะเป็นลายโบราณ มีความงามเฉพาะตัว สักสีเดียว เรียบง่าย ไม่เบื่อง่ายๆ เมื่อชอบแล้ว นอกจากสักลายที่ขาและรอบเอวแล้ว อยากสักขาลายเป็นด้วย ก็ไปศึกษา แสวงหาและเรียนรู้การสักโบราณจากอาจารย์ละดา ศรีอุเบท ท่านเป็นครูสักขาลายชาวปกากะญอที่ท่าสองยางที่เหลืออยู่คนสุดท้าย เพราะในตัวเมืองเชียงใหม่หาครูสักและคนสักไม่ได้แล้ว ก็เรียนรู้แบบครูพักลักจำ ก็อนุรักษ์ลายโบราณและนำมาต่อยอดสู่งานออกแบบ ไม่ต้องสักลายตาม แล้วก็ตามหาเข็มครูสักโบราณอายุกว่า 250 ปี แล้วนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาเข็มสักกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

      “ ผมสืบสานการสักขาลายมา 7 ปีแล้ว เมื่อก่อนกลัวจะสูญหาย ไม่รู้จะหาครูสักที่ไหน แต่เมื่อตามหาครูสักซึ่งอยู่ตามภูเขาจนเจอ สักดีด้วย สักสวยด้วย เข็มสักของจริง วิธีการสักก็ตามแบบแผนโบราณ ผมจะสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ ไม่เฉพาะสักขาลาย เพราะทุกลวดลายมีความหมายและรอยสักจะอยู่กับตัวไปตลอด สำหรับผมรอยสักให้ชีวิตใหม่ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง เป็นการพิสูจน์จิตใจความเป็นลูกผู้ชาย อดทนต่อความเจ็บปวด" ช่างอ๊อดชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงใหม่ เผยความตั้งใจ

      ช่างสักแฟชั่นผู้รื้อฟื้นสักขาลาย บอกด้วยว่า ช่างสักหรือศิลปินที่สนใจเรียนรู้ยังมีโอกาส เพราะอาจารย์ละดา ศรีอุเบท ครูสักขาลายยังมีชีวิตอยู่ จะได้มีส่วนร่วมรักษาลอยสักแห่งเกียรติยศเอาไว้ ที่ผ่านมามีช่างสักแฟชั่นจากต่างประเทศสนใจ ตนพาไปดู ไปให้เห็นกับตา ศึกษาวิธีการสักโบราณของครูสักขาลาย ไม่ห่วงจะมีการทำตาม อยากให้ช่างสักกลับมาสร้างสรรค์ลวดลายโบราณอีกครั้งเพื่อส่งต่อรอยสักสู่คนรุ่นใหม่ ส่วนการสักบนเรือนร่างที่คนบางกลุ่มมองว่าไร้อารยธรรมนั้น ตนเห็นว่าคนสักไม่ดีก็มี คนไม่สักไม่ดีก็มี

 

ลวดลายจากเข็มและหมึกฝีมือช่างสักชาวไผวัน

 

      การสักมากกว่าแค่เอาเหล็กแหลมจุ่มหมึกแทงลงที่ผิวหนังให้เป็นลวดลาย แต่มีวัฒนธรรมและตำนานซ่อนอยู่ อยากตามรอยรอยสัก 3 ชาติพันธุ์ ไปชมนิทรรศการ “สักสี สักศรี : ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” นอกจากนี้ยังมีงานเสวนาศิลปะการสักลาย การบอกเล่าจากหมอสักรุ่นใหม่ถึงศิลปะแขนงนี้ ตลอดจนเวิร์กช็อปเรียนรู้การสักลายผ่านการสร้างสรรค์ด้วยตรายางสู่ลายออกแบบร่วมกับงานดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าได้

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0