โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ฟินเทค" สิงคโปร์ร้อนแรง เงินทุนทะลักลุย "ฮับ" สตาร์ตอัพภูมิภาค

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ต.ค. 2562 เวลา 10.48 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2562 เวลา 09.55 น.
SINGAPORE-ECONOMY
This general view shows Singapore's famous Merlion © in front of the skyline of the city's financial business district on February 25, 2015. Singapore on February 23 announced income tax rises for the top five percent of the population to fund rising social spending targeted at the poor and elderly in the rapidly ageing city-state. AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN (Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP)

“ฟินเทค” หรือเทคโนโลยีทางการเงิน แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยความสามารถที่ทำให้การใช้จ่ายและทำธุรกรรมทางการเงินง่ายดายเพียงปลายนิ้วมือ ส่งผลให้ภาคธนาคาร รวมถึงผู้ให้บริการสินเชื่ออื่น ๆ และธุรกิจประกัน ต่างหันมาทุ่มทุนส่งเสริมการพัฒนาฟินเทคเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในช่วง 3-4 ปีก่อน อุตสาหกรรมธนาคารหวั่นเกรงว่า “สตาร์ตอัพฟินเทค” จะเข้ามาดิสรัปต์เป็นแจ็กล้มยักษ์ แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้วันนี้ “ฟินเทค” เปลี่ยนจากภาพของคู่แข่ง กลายเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมธนาคาร สู่ยุคโมบายแบงกิ้งหรือธนาคารดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

“สิงคโปร์” ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรมฟินเทคมีการพัฒนาไปอย่างคึกคัก ทั้งในแง่เม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลของสิงคโปร์ ที่ผลักดันให้บริษัทสตาร์ตอัพจำนวนมากสามารถตั้งตัวได้สำเร็จ และพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สเตรตส์ไทมส์รายงานผลสำรวจของ “แอคเซนเจอร์” บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพด้านฟินเทคของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นถึง 69% หรือราว 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยที่กลุ่มผู้ลงทุนเน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพที่เติบโตและค่อนข้างมีเสถียรภาพทางธุรกิจระดับหนึ่งแล้ว มากกว่าสตาร์ตอัพในระยะเริ่มต้น

โดยพบว่าเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพระยะตั้งไข่ลดลงถึง 56% โดยเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับการลงทุนในบริษัทกำลังเติบโตที่มีเม็ดเงินลงทุนแบบต่อเนื่องอยู่ที่ 442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 66% ในช่วงเวลาเดียวกัน

“ดิฟยิช วิทลานี” หัวหน้าฝ่ายบริการทางการเงินภูมิภาคอาเซียนของแอคเซนเจอร์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันธุรกิจธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่หันไปเน้นลงทุนในฟินเทคที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพแล้ว เพราะต้องการเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินของตนเองโดยเร็วและหลากหลายมากขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคในสิงคโปร์

ทั้งนี้ ฟินเทคสิงคโปร์ที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในปีนี้ อย่างเช่น “เดสเครา” (Deskera) ผู้ให้บริการคลาวด์-เบสแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ช่วยในการบริหารจัดการ

ระบบบัญชีและการเงิน ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ค. เช่นเดียวกับ “โกแบร์” (GoBear) ผู้ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกันภัย บัตรเครดิต สินเชื่อ ไปจนถึงดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยปัจจุบันให้บริการใน 7 ประเทศ มีผู้เข้าใช้งานกว่า 40 ล้านราย ได้เงินทุนเพิ่มขึ้นถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมี “ช็อปแบ็ก” (ShopBack) ผู้ให้บริการระบบแคชแบ็กสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ก็มียอดลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน เม.ย. 2019

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่า “ยูนิคอร์น” อยู่ 2 ราย คือ “แกร็บ” (Grab) ซูเปอร์แอปที่ให้บริการขนส่งและระบบชำระเงิน และ “แทร็กซ์” (Trax) บริษัทผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ด้านการจับภาพและวิเคราะห์ภาพสินค้าสำหรับค้าปลีก ช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายรับทราบรายละเอียดสินค้าได้ทันทีด้วยการสแกนภาพสินค้า

วิทลานีระบุด้วยว่า แผนของธนาคารกลางประเทศสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ที่จะออกใบอนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารดิจิทัล” ให้กับธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในปี 2020 ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสให้สตาร์ตอัพฟินเทค และภาคการธนาคารแบบดั้งเดิม สามารถทำงานร่วมกันได้มากขึ้น

ผลสำรวจของแอคเซนเจอร์ยังชี้ว่า สตาร์ตอัพฟินเทคด้านการชำระเงิน ด้านสินเชื่อ และประกันภัย (อินชัวร์เทค) เป็นธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ โดยที่ฟินเทคด้าน

การชำระเงินมียอดลงทุนมากถึง 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันของปี 2018

ขณะที่ฟินเทคด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้น 51% จาก 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินชัวร์เทคเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้น โดยยอดการลงทุนพุ่งจาก 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา เป็น 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 หรือคิดเป็น 2.7 เท่า

“โซปเนนดู โมฮันที” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายฟินเทคของเอ็มเอเอส ระบุว่า เม็ดเงินการลงทุนในฟินเทคที่ทำสถิติเข้าใกล้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นสัญญาณว่านักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบนิเวศฟินเทคในสิงคโปร์ ทั้งเป็นแนวโน้มที่ดีของการให้บริการธุรกรรมการเงินในระบบดิจิทัล ซึ่งทิศทางดังกล่าวไม่ใช่แค่ในสิงคโปร์เท่านั้น แต่รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน

“เม็ดเงินลงทุนในฟินเทคของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัวจากปี 2015 สร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ตอัพท้องถิ่นของสิงคโปร์เติบโตในระดับโลก ขณะเดียวกัน บริษัทฟินเทคระดับโลกหลายแห่งที่ได้มาตั้งสำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์ ก็เพิ่งมีการระดมทุนจำนวนมากเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอาเซียน” โมฮันทีระบุ

“สิงคโปร์” ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคอย่างก้าวกระโดด โดยในวันที่ 11-15 พ.ย.นี้ ประเทศสิงคโปร์จะมีการจัดงาน “Singapore FinTech Festival 2019” เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาของฟินเทคจากทั่วโลก เป็นการตอกย้ำศูนย์กลางทางเทคโนโลยีการเงินอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคและของโลก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0