โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฟาโรส: ไกลบ้านแต่ใกล้เราทุกคน เปิดโลกในมุมต่างผ่านผู้คนและการไปเยี่ยมเพื่อนในต่างแดน

a day BULLETIN

อัพเดต 13 ธ.ค. 2562 เวลา 09.48 น. • เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 04.54 น. • a day BULLETIN
ฟาโรส: ไกลบ้านแต่ใกล้เราทุกคน เปิดโลกในมุมต่างผ่านผู้คนและการไปเยี่ยมเพื่อนในต่างแดน

“สวัสดีค่ะ คุณอยู่กับฟาโรส และนี่คือไกลบ้าน” คำพูดเปิดรายการของ'ฟาโรส' - ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี ที่ไม่เพียงชวนให้ทุกคนเปิดตารับชมและเปิดหูรับฟังเรื่องราวและประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นระหว่างไปเยี่ยมเพื่อนๆ ในต่างประเทศ แต่ยังเปิดโลกในมุมต่าง จากความจริงของการดำรงอยู่ที่ไม่ได้สวยงามเสมอไป

        ทั้งหมดคือความตั้งใจของฟาโรสที่ต้องการสื่อสารไปถึงทุกคนว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ และสิ่งสำคัญคือเราทุกคนดำรงอยู่ในฐานะพลเมืองโลก ซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้น และเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เพื่อทำให้ชีวิตของเราและโลกดีกว่าเดิม แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยก็ตาม

       ‘ไกลบ้าน’ ของฟาโรสจึงช่วยให้เราทุกคนเชื่อมโยงสู่กันและกันได้อีกครั้ง พร้อมเปิดโอกาสให้เราประกาศอย่างภูมิใจว่าฉันเป็นพลเมืองโลก

 

ฟาโรส
ฟาโรส

‘ไกลบ้าน’ ในความหมายของคุณคืออะไร

        จริงๆ รายการ ไกลบ้าน เกิดจากความไม่ตั้งใจ เพราะเวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม เพื่อนๆ จะชอบเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วเรารู้สึกเสียดาย จึงบอกเพื่อนว่า หยุด! แล้วหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายวิดีโอเก็บไว้ ส่วนชื่อรายการก็คิดสดๆ ตอนเดินถ่ายวิดีโอ ฉะนั้น ถ้าถามว่า ไกลบ้าน สำหรับเราคืออะไร คนที่ติดตามมาตั้งแต่แรกจะรู้ว่าไม่ใช่รายการท่องเที่ยว เขาจึงไม่คาดหวังว่าเราจะพาไปดูที่นั่นที่นี่แล้วบอกว่าราคาตั๋วเท่าไหร่ ต้องซื้อยังไง สิ่งเหล่านี้จะไม่มีในรายการ เพราะ ไกลบ้าน มีคอนเซ็ปต์หลักคือไปเยี่ยมเพื่อน (คนไทย) ที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งเพื่อนแต่ละคนจะพาไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา แต่ส่วนใหญ่มักจะพาไปเดินดูเมือง ดูวิถีชีวิตคน พร้อมกับเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังไปด้วย

ทุกครั้งที่ได้ออกเดินทางไปไกลจากบ้าน คุณย่อมพบกับความแปลกใหม่และได้สัมผัสวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่อาจคาดเดาได้

        ใช่ เหมือนเราเรียนหนังสือตลอดเวลา ถ้าไปเที่ยวเองก็จะรับรู้แค่ในมุมของนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นแลนด์มาร์กที่คนนิยมไปกัน แต่พอเป็นเพื่อนพาไปเที่ยว เขามีความเป็นเจ้าบ้านเพราะอยู่ที่นั่นมาแล้วห้าปีสิบปี เขาจึงพาไปที่แปลกๆ อย่างสุสาน ใครจะไปคิดว่าเราสามารถเดินเข้าไปดูป้ายหลุมศพในสุสานได้ หรือไปดูย่านโสเภณีในปารีส วิถีชีวิตเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกเปิดโลกอย่างแท้จริง แล้วเพื่อนทุกคนที่พาเราไปก็จะแสดงความคิดเห็นบางอย่างออกมา ซึ่งเป็นมุมมองคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่คนไทยที่ไปเที่ยวแบบเรา ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดจึงเป็นความคิดของคนที่ไกลบ้านมานาน มีอะไรบ้างที่เขาต้องเผชิญ มีอะไรบ้างเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องของคนที่นี่ เราจึงได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

คุณบอกว่ารู้สึกเปิดโลก แล้วการเปิดโลกจำเป็นกับทุกคนไหมในมุมมองของคุณ

        จริงๆ ก็ไม่จำเป็นนะ ถ้าอยากอยู่ในโลกใบเดิมก็ไม่มีใครว่าอะไร ทุกคนมีสิทธิ์ เพียงแต่เราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่นาน ไม่เคยเห็นภาพตัวเองตอนอายุแปดสิบ ดังนั้น ตอนนี้เมื่อยังมีโอกาส มีแรง มีเวลา จึงรีบไปเปิดโลก อีกอย่างคือโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าไม่รีบดูเร็วๆ นี้ ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนไปในแบบที่เราอาจไม่อยากเห็นก็ได้

        แล้วเวลาเปิดโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปดูสิ่งที่สวยงามเท่านั้น เราไปดูสิ่งที่ไม่สวยงามก็ได้ แต่มันคือความจริง พอเราเอามานำเสนอ คอมเมนต์ของคนดูจะสะท้อนเลยว่าคนบ้านเราคิดและรู้สึกอย่างไรกับประเด็นนั้น เช่น เราไปคิวบา แล้วคนที่นั่นถามถึงโสเภณีในไทย เราก็จะเห็นว่าคนไทยด้วยกันเองรับไม่ได้กับเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องเข้าใจมุมของพวกเขาด้วย คิวบาเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ สื่อที่เขาได้รับเป็นสื่อที่ค่อนข้างจำกัดมาแล้ว พวกเขาจึงได้รับรู้ประเทศใดๆ ในโลกจากเรื่องเด่นๆ เท่านั้น เราต้องยอมรับว่าในเมื่อเขาเข้าใจและมองเราแบบนี้ แล้วในฐานะคนไทยที่ไม่พอใจเรื่องนี้จะทำอย่างไรให้เขามองมุมอื่น เราเองก็บอกไปว่า บ้านเรามีโสเภณีเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเขาอยากจะมองหาอะไร การเปิดโลกยังทำให้มองเห็นตัวเองว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นยังไง ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย นี่คือสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นตัวเองในมุมนี้

แสดงว่ายิ่งมีโอกาสได้เปิดโลกมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เข้าใจตัวเองและความเป็นไปของโลกมากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบความเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

        ใช่ เราชอบไอเดียเรื่อง world citizen มากเลยนะ การบอกว่าฉันเป็นประชากรของโลกใบนี้เป็นสิ่งที่เจ๋งมาก แม้ว่าเราจะอาศัยอยู่ในประเทศที่พยายามตีกรอบ หรือ boundaries ว่าเราเป็นพลเมืองของประเทศหนึ่ง ถ้าทำตัวดีๆ ประเทศก็จะเจริญ แต่ world citizen บอกว่าเราไม่ใช่แค่คนในประเทศ แต่เป็นมนุษย์ในโลกใบนี้ ถ้ามองด้วยมุมมองชีววิทยา ทั้งหมดคือโลก แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราก็ไม่ต่างจากสัตว์ตัวไหน เพราะเป็นหน่วยหนึ่งของของธรรมชาติในโลก

        world citizen จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเราควรจะนำเสนอให้คนได้เข้าใจว่า ถ้าคุณเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ คุณทำอะไรให้โลกได้บ้าง ไม่ได้พูดกันแบบโลกสวย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก เทียบกันง่ายๆ คือประเทศโลกที่หนึ่งหรือ first-world countries อย่างแคนาดาและเยอรมนี สามารถลดการใช้พลาสติกและจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้ ขณะที่บางประเทศในเอเชียยังคงผลิตขยะพลาสติกกันอยู่เลย สุดท้ายมันไม่ก่อเกิดทางแก้ไขที่ชัดเจนในระยะยาว เพราะไม่ว่าจะประเทศไหนก็คือโลกใบเดียวกัน หรือกรณีวาฬเกยตื้นตาย ผ่าท้องแล้วพบขยะพลาสติก เราก็บอกไม่ได้ว่าขยะเหล่านั้นมาจากประเทศอะไร ทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะว่าเราเป็นประชากรของโลกใบนี้

        ฉะนั้น เวลาไปไกลจากบ้านแล้วกลับมา สิ่งที่ยากคือเราต้องพยายามใส่ประเด็นเหล่านี้ลงไปด้วย เพื่อสร้างการตระหนักให้กับคนดู โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียดมากเกินไป เพราะเราไม่ได้พูดเรื่อง world citizen ตรงๆ

 

ฟาโรส
ฟาโรส

ภาพการใช้ชีวิตในต่างประเทศของเพื่อนๆ ที่คุณเดินทางไปหา อาจตรงกับความฝันของใครบางคน ยิ่งทำให้พวกเขาต้องการพาตัวเองไปสู่โอกาสใหม่ๆ จากการใช้ชีวิตในต่างแดน นั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจและเข้าใจแนวคิดเรื่อง world citizen คุณคิดเห็นอย่างไรกับกรณีทำนองนี้

        เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะว่าหลายคนได้ดู ไกลบ้าน แล้วอยากไปทำงานอยู่เมืองนอก แต่ต้องแยกก่อนว่าการไปทำงานไม่ได้สวยงามเหมือนภาพที่เห็นตอนไปเที่ยว คนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกแต่ละคนมีความลำบาก ต้องสู้จนยิบตา ต้องกระเสือกกระสน ต้องอยู่ในกฎระเบียบของบ้านเมืองเขา ทำให้รายได้หรือเงินเดือนถูกหักภาษีออกไปเยอะมาก เพื่อนบางคนเงินเดือน 3,000 ยูโร หักไปหักมาเหลือใช้แค่ 1,700 ยูโร แต่เหตุผลที่เขาเลือกอยู่ที่นั่นเพราะว่าชั่งน้ำหนักกันแล้ว ประเทศเหล่านั้นให้คุณภาพชีวิตที่เขาอยากได้

        อย่างพี่ต่อ หนึ่งในตัวละครที่คนดู ไกลบ้าน รู้จักกันดี เขาไปเรียนต่อดอกเตอร์ก็จริง แต่ในเวลาว่างเขาต้องไปทำงานที่ร้านเบเกอรี ซึ่งทำได้ตามชั่วโมงที่วีซ่านักเรียนกำหนดเพื่อหาเงินเก็บไว้ใช้จ่าย หรือเพื่อนบางคนเรียนจบปริญญาโทสองใบ แต่เมื่อไปสมัครงานกลับถูกปฏิเสธ ฝรั่งบอกว่าฉันก็จ้างฝรั่งด้วยกันสิ จะไปจ้างคนต่างชาติทำไม ฉะนั้น การเป็นคนพลัดถิ่นหรือไปอยู่ไกลบ้านคือการที่เราต้องต่อสู้กับเขาเท่าตัว ถ้าเขาเริ่มที่หนึ่ง คนไทยคือลบห้า แล้วก็ต้องสู้ขึ้นไปให้เท่าเขา เราชื่นชมเพื่อนๆ เหล่านี้มาก เพราะการเป็นคนไทยแล้วต้องไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกไม่ใช่เรื่องง่าย ภาพทุกอย่างไม่ได้สวยงามอย่างที่เราเห็นแน่นอน

คุณเข้าใจดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายครั้งที่คุณอยู่ไกลบ้าน ทั้งตอนที่ไปเรียนต่อปริญญาโทในประเทศอังกฤษ และตอนเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนในประเทศต่างๆ ถึงจุดหนึ่งคุณรู้สึกกับตัวเองไหมว่าอยากไปใช้ชีวิตต่างแดนเหมือนเพื่อนๆ

        ตอนนี้ก็ยังรู้สึกอยู่ (ตอบทันที) ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองไปทำงานอยู่เมืองนอก แม้ว่าจะต้องสู้หรือลำบากขนาดไหนก็ตาม เพราะเราชอบคุณภาพชีวิตและผู้คนที่นั่น จริงๆ แล้ว สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของเราคือเรื่องคน เราอาจจะอยู่ในสถานที่ที่ไม่ได้สวยงามมาก แต่ถ้าคนดี ทุกอย่างจะดี เหมือนเวลาไปญี่ปุ่น แล้วรู้สึกอิจฉาเขา เคยมีความรู้สึกแบบนั้นไหม

เคยครับ

        ใช่ไหม ทำไมบ้านเมืองเขาเรียบร้อย คนมีวินัย มีวิธีจัดการกับภาวะภัยพิบัติที่ดีมาก ทุกประเทศมีทั้งคนดีและคนไม่ดีก็จริง แต่ว่าที่ไหนอยู่แล้วเรารู้สึกสบายใจ ส่วนมากมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของคน

        อย่างหลายๆ ประเทศในยุโรปก็ไม่ได้ดีทุกที่ เพราะมีทั้งคนดี คนกักขฬะ คนสร้างความกลัว คนก่อความวุ่นวายปะปนกัน โดยเฉพาะในปารีส คนทั่วไปมักจะคิดถึงหอไอเฟล จิบไวน์โรแมนติก ทั้งๆ ที่อีกด้านหนึ่งของปารีสมีคนบ้าเต็มไปหมด เราเดินอยู่ดีๆ ก็มีคนมาตะคอกใส่ แต่ถามว่าทำไมถึงยังชอบปารีส ก็เพราะความที่มันเป็นอย่างนี้นี่แหละ เป็นเมืองที่มีหลายด้าน ทำให้แต่ละวันมีสิ่งที่น่าสนใจ

        ดังนั้น องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เราอยากไปอยู่ไกลบ้านคือเรื่องของคน เรารู้สึกว่าตัวเองเข้ากับคนที่นั่นได้ เพราะความคิดความสนใจของผู้คนตรงนั้นเป็นไปในเรื่องเดียวกันกับเรา เช่น เขาคุยกันเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ถุงพลาสติก เราเคยไปอยู่ซานฟรานซิสโกมา 2 เดือน กลายเป็นคนแยกขยะเป็นนิสัย หรือที่เยอรมนี ถ้าคืนขวดครบ 4 ขวดจะได้เงิน 1 ยูโร ขณะที่บ้านเราแยกขยะไปเขาก็เอาไปรวมกันอยู่ดี หรือพอจะเริ่มลดการใช้พลาสติกก็อาจถูกมองว่าเป็นคนประหลาด เพื่อนเรายังบอกเลยว่า 'มึงก็ใช้ (ถุงพลาสติก) ไปเถอะ วุ่นวาย' เรื่องทำนองนี้ทำให้เรารู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับคนตรงนี้ ก็เลยอยากไปใช้ชีวิตไกลบ้านบ้าง แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ เพราะเรายังมีภาระการงานและหน้าที่ต้องรับผิดชอบ

พอพูดถึงเรื่องคนและเมือง คุณเห็นด้วยไหมว่าคนสร้างเมือง แล้วเมืองเหล่านั้นก็กลับมาสร้างพฤติกรรมและความนึกคิดให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอีกทีหนึ่ง

        เห็นด้วย เราค่อนข้างมีความเชื่อเรื่องนี้เหมือนกัน เมื่อก่อนเคยคิดว่า คนเราเป็นแบบนี้เพราะเขาเลือกที่จะเป็น เขาจนก็เพราะเขาไม่พยายาม แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ พบว่ามันไม่ใช่ สำหรับบางคนเขาพยายามเต็มที่แล้วแต่ได้แค่นั้น บางคนเกิดมาบนกองเงินกองทอง มีโอกาส มีต้นทุนทางสังคมมากมาย พยายามนิดหน่อยก็ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น ปัญหาคือระบบโครงสร้างของประเทศไม่ได้เอื้อให้ทุกคนสู้ในระดับที่เท่ากัน ระบบโครงสร้างจะต้องลดความเหลื่อมล้ำและกำหนดให้คนเริ่มต้นเท่าๆ กันได้ เมืองในที่นี้จึงไม่ใช่ city แต่เป็นระบบหรือโครงสร้างของรัฐ

        เพื่อนชาวเยอรมันเคยบอกเราว่า คนเยอรมันไม่ได้มีวินัยตั้งแต่เกิดนะ แต่ระบบในประเทศทำให้เขาเป็นคนมีวินัย หรือประเทศญี่ปุ่นที่เป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ในประวัติศาสตร์เขาผ่านความเจ็บปวดจากสงครามโลก เขารู้ว่าถ้าเอาชนะด้านสงครามคงไม่ใช่เรื่องดี เลยขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เพราะเขามีบาดแผลมาก่อนและรู้ดีว่าความพ่ายแพ้คืออะไร

        ส่วนระบบในบ้านเมืองเรา ต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำทำให้เราไม่อยากทำงาน ในเมื่อทำไปก็ได้เท่านี้ เพราะจุดเริ่มต้นหรือจุดที่ออกวิ่งแข่งไม่เท่ากันแต่แรก ในประเทศโลกที่หนึ่งเขาพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ลงมา ทุกอย่างมีระบบ มีขั้นตอน ระบบของบ้านเมืองเราก็คงมีความพยายามเหมือนกัน แต่พังด้วยการคอร์รัปชัน ดังนั้น พอบอกว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี เราจึงรู้สึกว่าไม่อยากเสีย

        หรือเรื่องแก้วน้ำพลาสติก คนที่ออกมารณรงค์ให้เลิกใช้ส่วนใหญ่คือประชาชนทั่วไปและภาคเอกชน เรากลับรู้สึกว่าผลลัพธ์เกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนที่สนใจเรื่องขยะพลาสติก รู้ว่าปัญหาของมันคืออะไร ผลกระทบเป็นยังไง คือคนที่มีชีวิตอยู่ในจุดที่รู้สึกว่าตัวเองสบายแล้ว มีกำลังพอจะรักษ์โลกได้ แต่คนอีกเท่าไหร่ล่ะที่ชีวิตยังไม่สบาย เราไปบอกแม่ค้าขายผลไม้ว่าป้าอย่าใช้ถุงพลาสติกนะ มันทำลายโลก แต่ป้าตอบกลับมาว่า ต้องใช้ถุงพลาสติกเพราะราคาถูกที่สุด ถ้าไม่ให้ใช้ถุง แล้วจะให้ป้าใช้อะไร ใช้ใบตองแพงกว่านี้อีกนะ สุดท้ายเป็นเรื่องความอยู่รอด

        ดังนั้น ถ้าเราเอาเรื่องถุงพลาสติกมาจับกับเรื่องคนสร้างเมืองแล้วเมืองสร้างคน ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ รัฐต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ต้องไม่ใช่แค่คนทั่วไปออกมาเรียกร้องกันเองว่าลดพลาสติกกันเถอะ ในระดับโครงสร้างต้องกำหนดและออกนโยบายมาเลยว่าตั้งใจจะลดการผลิตขยะพลาสติกภายในปีไหน ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างทั้งประเทศหรอก เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมบ้านเมืองเรายังทำไม่ได้ และประเทศที่เจริญแล้วเขาทำได้เพราะอะไร

คุณคือคนหนึ่งที่เปิดกว้างรับรู้ความเป็นไปของโลก ทำให้พร้อมปรับเปลี่ยนทั้งความคิดและพฤติกรรมใหม่ที่หวังว่าจะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น เพราะคุณเข้าใจดีว่าถ้าโลกดี ชีวิตก็จะดีไปด้วย แต่สำหรับคนที่สนใจแต่ตัวเองและปิดประตูใส่โลกล่ะ

        นี่คือมนุษย์ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง คนเราย่อมคิดไม่เหมือนกัน แล้วเราก็ไม่สามารถบอกให้ทุกคนคิดเหมือนกับสิ่งที่เราอยากจะสื่อได้ ไกลบ้าน จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ให้คนมาขบคิดและออกความเห็นกัน เราจะได้เห็นมุมมองของคนอื่นๆ ด้วย บางคนยึดติดความคิดความเชื่อแบบเดิม บางคนพร้อมเปิดโลกใบใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้

 

ฟาโรส
ฟาโรส

ย้อนไปถึงความคิดที่อยากไปอยู่ต่างประเทศ เครื่องมือหนึ่งที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตไกลบ้านได้อย่างสบายใจ คือภาษา สำหรับคุณทักษะภาษาที่มี ช่วยสร้างความคิด ตัวตน และปรับมุมมองต่อโลกอย่างไร

        ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ คนไทยติดอยู่กับความคิดว่าต้องรู้ภาษาอังกฤษถึงจะได้งานทำหรือมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น แต่เราสนใจภาษาอื่นๆ ด้วย เหมือนได้เปิดประตูเพิ่มอีกบาน แล้วเราก็จะพบโลกใบใหม่ เพราะการเรียนภาษา ไม่ใช่การเรียนแค่ไวยากรณ์หรือคำศัพท์ แต่เราต้องเรียนวัฒนธรรม ความรู้สึกนึกคิด วิธีพูด และมารยาทของคนที่ใช้ภาษา ทำให้เราเข้าใจคนในประเทศนั้นด้วย ภาษาจะพาเราเชื่อมโยงไปสู่เรื่องต่างๆ แล้วโลกของเราก็จะกว้างขึ้น

        ดังนั้น ถ้าถามว่าภาษาสร้างตัวตนไหม เราว่าใช่ แต่ทุกวันนี้เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าตัวเองเป็นคนบุคลิกแบบไหน อย่างตอนม.ปลายเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส แต่ตอนนี้ก็ยังพอสื่อสารได้ระดับพื้นฐาน หรือพอขึ้นมหาวิทยาลัยเราเลือกเรียนเอกภาษาสเปน เพราะชอบ ราอุล กอนซาเลซ เขาเป็นนักฟุตบอลที่หล่อ (หัวเราะ) เป็นสี่ปีที่เราได้เปิดโลกอีกใบ รู้สึกเป็นของขวัญในชีวิตเพราะทุกวันนี้เดินทางไปที่ไหนก็จะได้ยินคนพูดภาษาสเปนตลอด แม้กระทั่งในประเทศไทย บางครั้งเจอนักท่องเที่ยวที่พูดภาษาสเปนกำลังหลงทาง เราก็เข้าไปช่วยเหลือเขา เมื่อพูดภาษาไหน ตัวตนข้างในของเราก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ใครจะด่าดัดจริตเราก็ไม่ว่านะ เพราะความรู้สึกนึกคิดของเราโยงอยู่กับการใช้ภาษาเหล่านั้น คนที่เรียนภาษาจะเข้าใจตรงจุดนี้ดี ทุกวันนี้เลยเป็นคนที่มีหลายบุคลิกมาก

เมื่อภาษาเป็นกุญแจที่ช่วยเปิดโลก ในฐานะครูสอนภาษา คุณได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง world citizen กับนักเรียนบ้างไหม

        เวลาสอนเราจะไม่ชี้นำว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี เพราะนี่คือโลกใบใหม่แล้ว โลกใบเก่าคือการที่ครูบอกว่าสิ่งนี้ดี แล้วนักเรียนต้องทำตาม แต่เราไม่คิดแบบนั้นเพราะห้องเรียนต้องเปิดกว้างให้ทุกคนได้คิด เด็กๆ ชอบถามเวลาเห็นเราไปเที่ยว เราก็จะแชร์ให้ฟัง ชวนพวกเขาคุยถกกัน แต่น้องต้องได้ข้อสรุปเอง ชอบหรือไม่ต้องให้เหตุผลได้

        แล้วเรื่องที่เราเลือกมาสอน จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโลก บางเรื่องเด็กก็ยังไม่รู้ อย่างเรื่อง gender และ LGBT movement เราพยายามบอกให้เขาเข้าใจว่าประเทศของเรายังมีคนเอามาล้อกันอยู่เลย 'เห้ย สายเหลือง เห้ย ขุดทอง' บางคนได้ยินแล้วหัวเราะ แต่เพื่อนบางคนรู้สึกโดดเดี่ยว เราต้องอธิบายว่าคำพูดเหล่านี้ส่งผลต่อคนฟัง คนพูด และสังคมอย่างไร

        เราชอบสอนการอ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด เพราะเราต้องอ่านข่าวตลอดเวลา กรองเนื้อหา แล้วค่อยนำมาสอน เป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้ว่าโลกตอนนี้ให้ความสนใจเรื่องอะไร การทำงานของเราคือการไม่หยุดอัพเดตโลก ระหว่างที่สอนเราจะถามให้เขาคิด ประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร แล้วไม่ใช่แค่คิดในระดับภาษาอย่างเดียว แต่คิดในระดับความคิดของผู้เขียนด้วย ว่าทำไมผู้เขียนถึงเขียนบทความนี้ มีประเด็นอะไรอยู่เบื้องหลัง เด็กจึงได้คิดเยอะมากเกี่ยวกับสิ่งที่เขาอ่าน แล้วสุดท้ายเราในฐานะคนสอนก็ต้องตั้งคำถามไปว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงมาถึงชีวิตเราอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว ทุกคนจะได้คิดในแบบของตัวเอง ภาษาอังกฤษของเราจึงไม่ใช่การสอนหน้าชั้นแล้วจบ แต่เป็นการเปิดโลกให้เด็กๆ ด้วย เขาจะได้รู้สึกว่าเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน เราบอกน้องเสมอเลยว่าความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว ถ้าเราสอนให้เขาเข้าถึงข้อมูลเป็น สุดท้ายเขาก็จะเข้าใจโลกได้ด้วยตัวเอง

สำหรับตัวคุณเอง ไกลบ้าน ให้บทเรียนเรื่อง world citizen หรือการเป็นพลเมืองโลกอย่างไร

        ชีวิตในไทยก็ง่ายๆ สบายๆ เราเคยชินกับการทำแบบนี้ ใช้วิธีแบบนี้ นิสัยแบบนี้ แต่เมื่อต้องไกลบ้านไปอยู่กับเพื่อนที่ต่างประเทศแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เขาอยู่มานานจนซึมซับวิถีชีวิต วิธีคิด และกฎเกณฑ์บางอย่างของประเทศนั้น เราจะพบว่าชีวิตต่างแดนมีเรื่องให้คำนึงถึงเสมอ เมื่อพ้นขอบเขตที่ที่เราจากมา โลกก็กว้างขึ้น ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลาว่านี่ไม่ใช่บ้านเรา นี่คือไกลบ้าน ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง จะทำอย่างความเคยชินไม่ได้ ต้องดูกฎเกณฑ์บ้านเขา

        การได้ไปเยี่ยมเพื่อนในต่างประเทศ ก็เหมือนเป็นการเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าที่ที่เราอยู่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของโลกเท่านั้นเอง ยังมีอีกหลายส่วนที่เขาไม่ได้คิดและทำแบบเรา

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร โลกนี้ก็คือบ้านของเราทุกคน

        ใช่ โลกคือบ้านของเรา (ตอบทันที) จะไม่พอใจมากถ้าเห็นคนทิ้งขยะข้างทาง เราจะเดินไปเก็บขึ้นมาแล้วบอกเขาว่า ‘โทษนะคะ ทำของหล่นค่ะ’ เขาคงโกรธเรา แต่เราก็โกรธเขาเหมือนกัน แล้วเขาคงไม่เข้าใจว่าเราโกรธเขาทำไม แต่เข้าใจไหมว่าโลกพังก็เพราะเรา ฉะนั้น ถ้าโลกจะไม่พังและกลับมาสวยงามก็ต้องเพราะเราเหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0