โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฟาดเคราะห์ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 08 มี.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผ่านด่านสนามบินนานาชาติของสยามประเทศ พบว่ากระเป๋าเดินทางของผมถูกง้างออก ของมีค่าภายในกระเป๋าหายไปอย่างลึกลับ

ในเมื่อจับมือใครดมไม่ได้ ก็ทำอยู่สองอย่าง

1 ทำตาปริบ ๆ

2 ทำใจ

ในชีวิตผมเคยโดนโกงหลายครั้ง รวม ๆ กันก็เป็นล้าน

มีสองครั้งที่คนโกงบอกว่า อยากได้เงินคืนก็ไปพึ่งกระบวนการทางกฎหมายเอาเอง 

คำนวณเวลาและค่าปรึกษาทนายแล้ว ก็ทำอยู่สองอย่าง

1 ทำตาปริบ ๆ

2 ทำใจ

เจ็บปวดมากเมื่อคิดถึงเงินที่หามายากเย็นถูกปล้นไปหน้าตาเฉย

สองปีก่อนเพื่อนคนหนึ่งเจอประสบการณ์คล้ายกัน กระเป๋าเดินทางหายไปทั้งใบ ขณะผ่านด่านเข้าเมืองแห่งหนึ่งในแดนสยามเมืองยิ้ม

แต่เขายิ้มไม่ออกเพราะเมื่อไปแจ้งความ กลับพบท่าทีของผู้รักษากฎหมายที่บอกว่ามันเป็นเรื่องเล็ก “ก็แค่กระเป๋าใบเดียวหาย” ยิ่งทำให้ช้ำใจ เหมือนถูกข่มขืนแล้วบอกว่า แต่งตัวยั่วโจรเอง

จะว่าไปแล้ว คนถูกกระทำก็เหลือทางเดียวเท่านั้นคือพึ่งธรรมะ ทำใจ

……….………………………………………………………………………

ตอนมากรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ผมได้ยินประโยคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อของใครคนหนึ่งหาย “ถือว่าฟาดเคราะห์” และ “ปลงเสียเถิด แม่จำเนียร”

แปลว่า ของหายน่ะแล้วดี เป็นการลดเคราะห์ใหม่ให้เบาบางลง

คนไทยมักมีวิธีมองโลกในแง่ดี มองเรื่องร้ายเป็นดี เช่น ของหายก็ว่าฟาดเคราะห์ ไฟไหม้บ้านก็ว่าดีแล้ว ก็ทำใจโดยโยนให้กรรมเก่าบ้าง ชดใช้กรรมเก่าคงช่วยลดกรรมใหม่บ้าง จะได้หมดกรรมเสียในชาตินี้ มันเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่มีเหตุผลทางจิตวิทยา

เอาละ ความจริงยังมีวิธีมองเรื่องนี้อีกมุมหนึ่ง คือมุมของนักบัญชี

สมมุติว่าทุกอย่างในโลกคิดเป็นเงินได้ เราตีค่าความสุขของเราเท่าไร ? หากเงินซื้อได้ทุกอย่างในโลก เราจะยอมจ่ายเงินเพื่อไม่ให้อารมณ์เราเสียไหม ?

สมมุติว่าค่ากระเป๋ากับข้าวของภายในคิดเป็นเงิน 5,000 บาท ค่าความทุกข์จากกระเป๋าหาย กลุ้มใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความเครียดพัวพัน ความดันพุ่ง ค่าหมอ คิดเป็นค่าเงิน 20,000 บาท

ความเสียหายจึง = 5,000 + 20,000 = 25,000 บาท

ถ้าต้องหงุดหงิดทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ไปอีกหลายปี ค่าใช้จ่ายก็มากกว่า 25,000 บาท

สมมุติว่าทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์นี้แล้วหัวใจเต้นแรง ความดันพุ่งขึ้น เซลล์สมองตายไปจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้อายุสั้นลง ก็แปลว่ามีเวลาหาเงินน้อยลง สมมุติว่าเราสามารถตีเป็นค่าเงินได้ 10,000 บาท ทุกครั้งที่เราเครียดเพราะเรื่องกระเป๋าหาย ก็เสียเงิน 10,000 บาท กลุ้มใจสิบครั้ง ก็เป็น 100,000 บาท

แต่หากปล่อยวางเรื่องนี้แต่วันแรก ก็เสียแค่ 5,000 บาท

คิดตามหลักบัญชีง่าย ๆ ได้ว่า ปล่อยวางแต่แรก จ่ายน้อยกว่า

ถ้าปล่อยวางได้ สิ่งที่เสียไปคือทรัพย์สินอย่างเดียว

ถ้าไม่ปล่อยวาง สิ่งที่เสียไปคือทรัพย์สิน + ความทุกข์ทุกครั้งที่คิดถึงมันไปตลอดชีวิต

คิดแบบกำไร-ขาดทุน ปล่อยวางคุ้มกว่า

มันคือ Damage Control นั่นเอง เป้าหมายคือเสียน้อยที่สุด

นี่อาจเป็นอุบายหนึ่งในการลดทุกข์ที่เกิดจากวัตถุ

บางทีคนโบราณอาจพูดไม่ผิดเมื่อบอกว่า เมื่อเกิดเรื่องเสียทรัพย์ ให้คิดว่า “ฟาดเคราะห์”

ฟาดเคราะห์ร้ายด้วยความเข้าใจ

ฟาดความซวยด้วยการปล่อยวาง

ฟาดเคราะห์ไปแล้ว ก็เดินหน้าชีวิตต่อ ไม่คิดถึงความทุกข์ของเรื่องนั้นอีก

ถ้าทำได้อย่างนี้ บางทีค่าฟาดเคราะห์อาจจะคุ้ม

ไม่งั้นก็ต้องทำตาปริบ ๆ ไปตลอดชีวิต

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0