โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 แก้วิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ โรคระบาด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 05.11 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 06.05 น.
8-1 พ.ร.ก.กู้เงิน

รายงานพิเศษ

พิษไวรัสโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว หนักหนาสาหัสไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจปี 254030 มี.ค.ที่ผ่านมา หลัง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจ เข้าห้องทำงาน“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอแพ็กเกจเยียวยาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากพิษโควิด-19 ระลอกที่ 3

“สมคิด” เอ่ยปากหลังพบนายกฯว่า เตรียมเสนอมาตรการชุดที่ 3-ชุดใหญ่ เพื่อเยียวยาระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยใช้ชื่อว่า “มาตรการเยียวยา ดูแลระบบเศรษฐกิจไทย

“เพื่อ 1.เยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากโควิด-19 2.ดูแลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศขณะนี้ คือ ภาคเกษตร และ 3.ดูแลและสร้างความมั่นใจให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ

“งบประมาณจำนวนหนึ่ง มีทั้งงบประมาณ และเงินกู้ โดยผสมผสานระหว่างการแบ่งจากงบประมาณแต่ละกระทรวง กระทรวงละ 10% โดยออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณมาไว้งบฯกลางให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี สำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะ และการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ทั้งนี้จะต้องทำให้เร็วที่สุด”

เฉพาะการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน คาดว่าจะใช้งบฯไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน ประคบเศรษฐกิจที่ฟุบยาวตามสถานการณ์ที่ไม่มีใครทำนายถูกว่าจะจบสิ้นกี่เดือน กี่ปี

เรื่องนี้ไม่มีใครค้าน มีแต่ยกมือสนับสนุน ฝ่ายค้านเบอร์ใหญ่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศว่า

“ปัญหาเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่หนักหนาไม่แพ้กัน ที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการและแผนรองรับที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งบประมาณปี 2563 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งพวกเราพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือหากสิ่งที่รัฐบาลต้องการสามารถช่วยเหลือประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้จมดิ่งลงไปในเหวลึกมากกว่าที่เป็นอยู่”

ในอดีตการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในประเทศมีอยู่หลายครั้ง ทั้งกู้มาเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจ หรือกู้เงินมาเพื่อซื้ออาวุธ !

เงินกู้ยุคคณะราษฎร

ช่วงแรกที่ไทยต้อง “กู้เงิน” เกิดขึ้นในช่วงที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ เป็นช่วงสถานการณ์โลกกำลังตึงเครียด-คาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ช่วงแรก

2481-2487) มีการออกกฎหมายกู้เงิน 6 ฉบับ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดการกู้เงินในประเทศเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2481 จำนวน 25 ล้านบาท 2.พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2481 วงเงิน 20 ล้านบาท 3.พ.ร.บ.จัดการกู้เงินในประเทศเพื่อเทศบาลและการบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2481 วงเงิน 20 ล้านบาท

4.พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2485 ไม่เกิน 60 ล้านบาท โดยให้เรียกว่า “เงินกู้เพื่อชาติพุทธสักราช ๒๔๘๕” 5.พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2487 โดยให้เหตุผลเรื่องการกู้เงิน “เพื่อประโยชน์แก่ชาติ” ให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาทเพื่อการใช้จ่ายตามงบประมาณ โดยอาศัย พ.ร.บ.ตั๋วเงินคลัง พ.ศ. 2487 ที่ออกเป็นฉบับที่ 6

หลังจอมพล ป. ต้องลงจากตำแหน่ง“ควง อภัยวงศ์” ได้เข้ามาบริหารประเทศ อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2487 ขึ้นมาให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อการใช้จ่ายตามงบประมาณ

ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เศรษฐกิจย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพงไปทั่วโลก แถมยังต้องฟื้นเมืองขึ้นมาใหม่จากภัยสงคราม “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ที่ถูกดึงมาเป็นนายกฯ บนภารกิจต้องเจรจาให้อังกฤษในฐานะแกนนำฝ่ายพันธมิตร ยอมรับไม่ให้ไทยตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ได้ตรา พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2488 จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อการใช้จ่ายในราชการ

ปีถัดมารัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกฯคนอยุธยา บ้านเดียวกับ “ปรีดี พนมยงค์” ได้ตรา พ.ร.บ.กู้เงินในประเทศ พ.ศ. 2489 ถึง 2 ฉบับ ฉบับแรกให้รัฐบาลกู้เงินไม่เกิน 200 ล้านบาท ฉบับที่ 2 ให้อำนาจกู้ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท

“ป๋าเปรม” กู้ซื้ออาวุธจากสหรัฐ

ส่วนการกู้เงินในยุคถัดมา ส่วนมากเป็นการกู้เงินด้าน “ซื้ออาวุธ” เพื่อป้องกันประเทศในช่วงที่ประเทศเผชิญภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทย คือ “สหรัฐอเมริกา”

16 พ.ย. 2519 ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อป้องกันประเทศ พ.ศ. 2519 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินนามรัฐบาล เพื่อใช้จ่ายในการป้องกันประเทศตามโครงการป้องกันประเทศ การกู้เงินรวมกันต้องไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “โดยที่ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องปรับปรุงสมรรถนะทางด้านยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพไทย”

ในวันเดียวกันนั้นมีกฎหมายอีกฉบับประกาศพร้อมกัน คือ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ พ.ศ. 2519 กำหนดเพดานการกู้เงินไว้ที่ กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

โดยรัฐบาลธานินทร์ให้เหตุผลว่า “เพื่อใช้จ่ายลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” หลังจากก่อนหน้านี้ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 53 วันที่ 24 ม.ค. พ.ศ. 2519 ได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศไปก่อนแล้ว และกฎหมายกู้เงินงวดก่อนได้หมดอายุ

แต่เพื่อให้การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก จึงต้องตรากฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ

เจ้าหนี้รายใหญ่คือสหรัฐ

ต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร พ.ศ. 2524 ในมูลค่าการกู้เงิน เมื่อรวมกับการกู้เงินตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ พ.ศ. 2519 ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ซึ่งเจ้าหนี้คือรัฐบาลสหรัฐ เป็นการกู้เงินในรูปแบบ“การให้สินเชื่อตามโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหาร” ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีประกาศกระทรวงการคลังเพิ่มเติมที่รัฐบาลต้องกู้จากสหรัฐ ตามสินเชื่อโครงการดังกล่าว ต่อเนื่อง 6 ปี ตั้งแต่ 2524-2529

ยุคกู้เงินเพื่อกู้เศรษฐกิจ

17 ปีต่อมา เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤตจำนวน 3 ฉบับ ให้อำนาจกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. 2541 กู้ได้ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2543

2.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 กู้ได้ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค. 2543

3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายและปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

ถัดมาอีก 4 ปี ในสมัย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่ 2) พ.ศ. 2545 มูลค่าของการกู้เงินรวมกันต้องไม่เกิน 780,000 ล้านบาท ต่อเนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ให้เหตุผลการออก พ.ร.ก.ว่า “แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่หมดสิ้น สมควรกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2”

มาร์คกู้แก้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ครั้นมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 โดยกู้เงินให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค. 2553 สร้างโปรเจ็กต์ “ไทยเข้มแข็ง” โดยที่ได้เกิดวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง

ยิ่งลักษณ์กู้ 3.5 แสนล้าน

และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตรา พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 หลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ กทม. เมื่อปลายปี 2554 ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 350,000 ล้านบาท กู้ภายในไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2556

วิกฤตโควิด-19 รัฐบาลประยุทธ์จึงต้องเตรียมกู้เงิน เป็นฉบับที่ 20

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0