โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"พุ่มสกี้" นักเรียนทุนพระมหากษัตริย์ผู้เป็นลูกชาวบ้าน-ไม่มีตระกูลคนแรกในรัชกาลที่ 5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 มี.ค. 2565 เวลา 14.59 น. • เผยแพร่ 04 มี.ค. 2565 เวลา 14.59 น.
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พุ่ม สาคร รัสเซีย
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (แถวนั่งที่ 3 จากขวา) ทรงฉายร่วมกับนายพุ่ม สาคร (แถวยืนที่ 2 จากขวา) และอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารรัสเซีย

“นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูล แต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป–“

เป็นวาทะตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึงพระยาวิสุทธิศักดิ์ อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักอังกฤษ ทรงกล่าวถึงนายพุ่ม นักเรียนไทย ที่ผ่านการคัดเลือกให้ตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440

ครั้งนั้นทรงมีพระราชดำริให้นักเรียนไทยตามเสด็จ เพื่อเข้าศึกษาในประเทศต่างๆ ตามความเหมาะสม นักเรียนที่ตามเสด็จครั้งนั้นมี 19 คน เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ 5 พระองค์ ลูกหลานขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยอีก 13 คน มีเพียงนายพุ่มเท่านั้นที่เป็นลูกชาวบ้าน ผ่านการสอบคัดเลือกจากนักเรียนทั่วไป อาจนับได้ว่าเป็นนักเรียนทุนคิงสกอลาชิบคนแรกของไทยก็ได้

นายพุ่มเป็นบุตรนายซุ้ย ชาวตลาดพลู เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ สอบคัดเลือกเพื่อตามเสด็จไปยุโรปได้เพียงคนเดียว เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า“เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจาเป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย ฉลาดในการเล่าเรียน” เพราะเมื่อสอบได้ทุนนั้นอายุเพียง 15 ปี

นักเรียน 19 คนที่ตามเสด็จครั้งนั้น จะต้องกระจายเรียนตามประเทศต่างๆ ในยุโรป สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงถูกกำหนดให้เข้าศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้คัดเลือกนักเรียนไทยคนหนึ่งเพื่อไปร่วมเรียนกับสมเด็จเจ้าฟ้าด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการเรียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเล่าไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“—การส่งพ่อไปศึกษาในราชสำนักรัสเซียในครั้งนั้น ทูลหม่อมปู่ทรงมีความคิดอย่างใหม่ คือไม่ทรงอยากจะให้พ่อไปได้รับความสุขสบายและหรูหราที่นั่นแต่องค์เดียว เกรงว่าอาจบังเกิดความสบายและเกียจคร้าน และขาดมานะที่จะพยายามเล่าเรียนให้เต็มที่ จึงทรงตกลงจะส่งนักเรียนไทยที่เป็นสามัญชนไปด้วยอีกคนหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นคู่แข่งในการเล่าเรียน หวังว่าพ่อจะมีขัตติยมานะไม่ยอมแพ้นักเรียนคนนั้น จึงจะทำให้ขยันขันแข็งขึ้นอีก—“

การคัดเลือกนักเรียนที่จะร่วมเรียนกับสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้นั้นพิถีพิถันเป็นอย่างมาก เพราะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมหลายประการ และยังต้องเป็นที่พอพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้าด้วย นายพุ่มได้รับการคัดเลือกเป็นเอกฉันท์ ดังปรากฏในจดหมายกราบบังคมทูลของอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักอังกฤษ ความตอนหนึ่งว่า“—ทูลกระหม่อมเล็กเลือกเป็นที่หนึ่ง เคอแนลฮยูม ดอกเตอร์ยาร์เลือกเอาเป็นที่หนึ่งด้วย ข้าพระพุทธเจ้าก็ชอบ และได้กราบทูลไว้แล้วครั้งหนึ่งที่เนเปิลว่าหลักแหลมมาก—“

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระราชหฤทัย ทรงมีความหวังว่านายพุ่มจะสามารถทำประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไปในอนาคต จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า

“—นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูล แต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป—“

ข้อความในพระราชหัตถเลขานี้แสดงอย่างแจ่มชัดถึงพระเมตตา ที่ทรงมีต่อบุคคลผู้มีความสามารถในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยมิได้ทรงคำนึงถึงชั้นวรรณะและชาติตระกูล

แต่การณ์มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทั้งหมด สมพระราชประสงค์เพียงเบื้องต้น คือการที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าทรงมีพระขัตติยมานะในการที่จะแข่งขันเอาชนะนายพุ่มคนสามัญด้านการเรียน ดังจะเห็นได้จากการสอบทุกครั้ง เช่น การสอบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2442 พระเจ้าลูกยาเธอสอบได้เป็นลำดับที่ 2 นายพุ่มสอบได้ลำดับที่ 4 และการสอบครั้งสุดท้ายพระเจ้าลูกยาเธอสอบได้คะแนน 11.75 จากคะแนนเต็ม 12 นายพุ่มสอบได้คะแนน 11.50 เป็นต้น

ส่วนเบื้องปลายไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ ก็คือเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าศึกษาสำเร็จและเสด็จกลับประเทศไทยนั้น นายพุ่มมิได้ตามเสด็จกลับด้วย ได้ขออนุญาตกระทรวงกลาโหมอยู่ศึกษาภาษาฝรั่งเศสต่อ และมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้นายพุ่มไม่ประสงค์จะกลับประเทศไทย จึงได้สมัครเข้าเป็นทหารม้าฮุสซาร์ และตัดสินใจโอนสัญชาติเป็นคนรัสเซีย อีกทั้งยังเปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาคริสต์ด้วย โดยพระเจ้าซาร์นิโคลาสทรงรับเป็นบิดาอุปถัมภ์ในทางศาสนาให้ และยังโปรดพระราชทานนามของพระองค์เป็นนามนักบุญของนายพุ่มด้วยว่า “นิโคลาสพุ่มสกี้”

พุ่มสกี้ได้รับราชการในกองทหารม้าฮุสซาร์ด้วยความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และจงรักภักดี เจริญรุ่งเรืองจนได้เป็นนายพันเอกผู้บังคับการเหล่าทหารม้า จนเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2460

ครั้งนั้นพุ่มสกี้ได้แสดงความกล้าหาญซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์ โดยพยายามที่จะอยู่เพื่อปกป้องพระเจ้าซาร์ตามหน้าที่ แต่ทรงมีรับสั่งให้หนีจากรัสเซีย ทรงอ้างว่าเป็นเรื่องของคนรัสเซีย ไม่ใช่เรื่องที่คนต่างชาติจะต้องมารับอันตรายด้วย พุ่มสกี้จึงหนีไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เลี้ยงชีพด้วยการเป็นเสมียนธนาคาร จนกระทั่งได้มีโอกาสพบกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์

ครั้งหนึ่งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พุ่มสกี้ได้เดินทางกลับประเทศไทย และเคยคิดจะเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์วิชาทหาร แต่ด้วยความเคยชินกับระบบราชการของชาวตะวันตก ไม่อาจรับระบบราชการแบบไทยๆ ได้ จึงเดินทางกลับฝรั่งเศส

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พุ่มสกี้ต้องตกระกำลำบากอันเนื่องมาแต่ภาวะสงครามและสุขภาพไม่ดี หลังสงครามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงให้ความช่วยเหลือโดยทรงรับไปอยู่ด้วยที่อังกฤษ

พุ่มสกี้ได้ปิดฉากชีวิตที่นำทั้งความสมหวังและผิดหวังมาสู่พระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์หนึ่งที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2490 รวมอายุได้ 65 ปี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : นักเรียนหญิงรุ่นบุกเบิก ได้เป็น “นักเรียนนอก” เมื่อ 100 กว่าปีก่อนคือใคร ไปเรียนที่ไหน?

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0