โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"พุทธศาสนา" บนเส้นทางสายแพรไหมจาก "อินเดีย" สู่ "จีนกลาง"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 23.51 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 23.52 น.
ถ้ำที่มีศิลปะของราชวงศ์ถัง รูปปั้นทั้ง ๗ องค์นี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งบนแท่น ด้านซ้ายคือพระมหากัสสปะ พระโพธิสัตว์ และพระโลกบาล ด้านขวาคือ พระอานนท์ พระโพธิสัตว์ และพระโลกบาล (ภาพจากบทความ “ตุนหวง มงกุฎแห่งพุทธศิลป์ บนเส้นทางสายแพรไหม” โดย ปริวัฒน์ จันทร)
ถ้ำที่มีศิลปะของราชวงศ์ถัง รูปปั้นทั้ง ๗ องค์นี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งบนแท่น ด้านซ้ายคือพระมหากัสสปะ พระโพธิสัตว์ และพระโลกบาล ด้านขวาคือ พระอานนท์ พระโพธิสัตว์ และพระโลกบาล (ภาพจากบทความ “ตุนหวง มงกุฎแห่งพุทธศิลป์ บนเส้นทางสายแพรไหม” โดย ปริวัฒน์ จันทร)

เชื่อกันว่าพระพุทธศาสนาจากอินเดียได้เผยแพร่เข้าสู่ลุ่มน้ำสินธุและเอเชียกลางในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชครองราชย์ (ปี ๒๖๙-๒๓๒ ก่อนคริสตกาล) โดยพระองค์ได้ส่งคณะพระธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในบริเวณแคว้นคันธาระทางตอนเหนือของปากีสถาน และแคว้นแคชเมียร์ จากแคว้นคันธาระ ในช่วงการแพร่ขยายอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกทำให้ศาสนาพุทธได้หยุดชะงักการเผยแพร่ไปชั่วคราว

กระทั่งในสมัยคริสตกาล พุทธศาสนิกายมหายานจึงได้ข้ามผ่านเทือกเขาฮินดูกูช ประเทศอัฟกานิสถาน และที่ราบสูงคาราโครามเข้้าสู่ประเทศจีนที่เมืองคาชการ์ (KASH-GAR) ที่ได้นับถือพระพุทธศาสนามาจนถึงประมาณ ปี ค.ศ. ๙๐๐ จึงได้หันมานับถือศาสนาอิสลาม เพราะการขยายอำนาจของรัฐอิสลามจากเอเชียกลางในยุคนั้น)

จากเมืองคาชการ์ ศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้าประเทศจีนตามเส้นทางสายไหม ทั้งเส้นทางตอนเหนือ และตอนใต้ในเส้นทางตอนเหนือนั้นได้ปรากฏหลักฐานเป็นพุทธโบราณสถานกระจัดกระจาย ทั้งในรูปของถ้ำพระสหัสพุทธ (พันองค์) ที่เมืองคู่เชอ นับร้อยถ้ำ หรือจากสถูป และวัดวาอารามที่เมืองโบราณเกาชาง และเมืองโบราณเจียวเหอ ในเมืองทูหลู่ฟาน ส่วนเส้นทางตอนใต้ก็ได้ปรากฎอาณาจักรโบราณกลางที่ราบทาริม ที่เมืองโบราณเหอเถียน และโหลวหลานซึ่งนับถือศาสนาพุทธตั้งแต่สมัยต้นคริสตกาล มาจนถึงในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐

ศาสนาพุทธได้เริ่มเผยแพร่เข้าสู่จีนกลาง โดยเฉพาะในราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก โดยตามพงศาวดารได้ระบุไว้ว่า ในปี ค.ศ. ๖๕ จักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ (ครองราชย์ในปี ค.ศ.๕๘ – ๗๔ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ ในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ได้พระสุบินว่า มีรูปสีทองขนาดใหญ่ลอยมาจากสวรรค์ทางทิศตะวันออก พอมาถึงพระราชวัง รูปนั้นก็เปล่งรัศมีสว่างไสว ขุนนางก็ถวายคำพยากรณ์ว่ารูปนั้นคือ ศาสดาแห่งศาสนาใหม่จากดินแดนตะวันตกอันไกลโพ้น

องค์จักรพรรดิฮั่นหมิงตี้จึงทรงมีพระบัญชาให้ส่งราชทูต ๒ คนออกไปค้นหาความจริงในเรื่องนี้ โดยได้เดินทางตาม ทิศตะวันตก จากนครลั่วหยางไปจนถึงอาณาจักรของพวกเยว่ซื่อ จึงได้รวบรวมพระพุทธรูป และคัมภีร์พระศาสนา โดยอัญเชิญขึ้นบนม้าขาวพร้อมทั้งนิมนต์พระภิกษุอินเดีย ๒ รูป คือพระกาศยปมาตังคะ และพระธรรมอรัญญะ กลับมานครลั่วหยาง ในปี ค.ศ. ๖๘ จักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ทรงโสมนัสมาก จึงโปรดให้สร้างวัดเพื่อให้พระภิกษุต่างชาติทั้ง ๒ รูปนี้ได้พำนักอาศัย และใช้เป็นสถานที่แปลพระไตรปิฏก และปดิษฐานพระพุทธรูป วัดนี้มีชื่อว่า ไป๋หม่าซื่อ หรือ วัดม้าขาว เพื่อเป็นการรำลึกถึงม้าขาวที่ได้เป็นพาหนะพาพระภิกษุ และพระคัมภีร์มาแต่ไกล

ต่อมาวัดไป๋หม่าซื่อนี้ ถือได้ว่าเป็นวัดต้นแบบในทางพระพุทธศาสนาวัดแรกของแผ่นดินจีนกลาง (ปัจจุบันวัดไป๋หม่าซื่อ ยังเป็นวัดทางพุทธศาสนาที่เคารพศรัทธาของชาวจีนในประเทศ และชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนาน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร) นับจากนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายในประเทศจีนโดยการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิหลายพระองค์ในหลายราชวงศ์ต่อมา

*คัดบางส่วนจาก “ตุนหวงมงกุฎแห่งพุทธศิลป์ บนเส้นทางสายแพรไหม”. โดย ปริวัฒน์ จันทร. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๔๔

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0