โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พื้นที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในภาคเหนือกระจายเพิ่ม แม้บางพื้นที่ความรุนแรงจะลดลง

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 06.43 น.

แม้จะมีรายงานว่าไฟป่าในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพและอำเภอเชียงดาวสามมรถควบคุมได้บ้างแล้ว แต่และกรมควบคุมมลพิษพบว่า พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นฯ PM2.5 กลับกระจายตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ของรัฐ โดยพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นฯ เกินมาตรฐานเป็นสีแดงมีถึง 17 พื้นที่ในวันนี้ แม้ค่าเฉลี่ยโดยรวมจะลดลงกว่าช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา คืออยู่ที่ระหว่าง 47 - 257 มคก./ลบ.ม.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัญหาอย่างหนึ่งในพื้นที่ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลอย่างใกล้ชิดคือ จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และแม่ฮ่องสอน คือไฟคืน ซึ่งต้องใช้น้ำในการดับไฟจึงจะดับได้สนิท ในขณะที่ปัญหามวลชนลดน้อยลง

นายจตุพรกล่าวว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นห่วงและติดตามสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการเน้นย้ำให้เร่งระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมและดับไฟ และขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านและทำงานลาดตระเวนรวมกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อป้องกันการจุดไฟเผาป่า โดยที่เชียงราย ได้มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงในอนาคต 3 จุด ได้แก่ ป่าดอยตุง อำเภอแม่จัน มีหมู่บ้านที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 7 หมู่บ้าน ป่าดอยจระเข้ อำเภอแม่จัน มี 14 หมู่บ้าน และ ป่าดอยอินทรีย์ อำเภอเมือง มี 6 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ได้เสนอรายชื่อเจ้าหน้าที่จำนวน 100 นาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกับฝ่ายปกครองก่อนลงพื้นที่

ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้สถานการณ์จะมีแนวโน้มลดลง ทางกระทรวงฯ ได้มีการกำหนดพื้นที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยในอนาคต 30 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ขณะนี้ได้เร่งออกคำสั่งกำหนดรายชื่อเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่เช่นกัน
ที่จังหวัดพะเยา พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเจ้าหน้าที่เข้าประจำในพื้นที่เสี่ยง โดยวางจุดลาดตระเวน 177 จุด ร่วมกันกับฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงฯ จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันเป็นประจำทุกวัน

สำหรับการดำเนินงานเรื่องหมอกควัน ข้ามแดน กรมควบคุมมลพิษได้มีการประสานงานทางเลขาธิการอาเซียน และมีการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับสาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมาเพื่อดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ การตรวจวัดคุณภาพอากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่ม กระจายไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้มากที่สุด นายจตุพรกล่าว

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี เปิดเผยวานนี้ว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งการเผาในประเทศและหมอกควันข้ามแดน

พร้อมทั้งสั่งให้ทุกจังหวัดเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมและดับไฟ ทั้งกำลังภาคพื้นดินและการใช้อากาศยานของกองทัพ ปภ. และ ทส. รวมถึงเครือข่าย ชมรมโดรนจิตอาสาและชมรมร่มบิน ร่วมมือกันสนับสนุนการลาดตระเวนและชี้จุดให้เจ้าหน้าที่เข้าดับไฟ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ (จนท.ป่าไม้ ทหาร ฝ่ายปกครอง ปภ. อาสาสมัครและจิตอาสา) เข้าประจำการในระดับหมู่บ้าน

นายกรัฐมนตรียังกำชับให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จับกุมคนจุดไฟเผาป่ามาดำเนินคดีตามกฎหมาย และให้จัดทำแนวกันเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟ รวมทั้งให้เข้มงวดในการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองทุกประเภท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตามกลไกของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยจัดส่งแบบฟอร์มรายงานสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ทุกประเทศรับทราบปัญหา และกำหนดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นฤมล เปิดเผยว่า จังหวัดภาคเหนือส่วนใหญ่ มีค่าฝุ่นฯ PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นสาเหตุจากทั้งการเผาในประเทศและหมอกควันข้ามแดน (ลมตะวันตก/ลมใต้) ร่วมกับปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ที่มีอากาศปิดในช่วงกลางคืนต่อเนื่องถึงเช้า ลมอ่อน การระบายฝุ่นละอองเกิดได้ค่อนข้างน้อย ฝุ่นฯPM2.5 มีการสะสมตัวในพื้นที่ในปริมาณมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน มีพื้นที่ที่ฝุ่นฯ PM2.5 “ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน” คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง) เพียง 2 จังหวัดวานนี้ ได้แก่ จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี

โดย 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ฝุ่นฯ PM2.5 อยู่ในระดับ “มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง)” เกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นเพียง 3 จังหวัด ที่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) คือ ลำพูน แพร่ และ ตาก และสูงสุดที่ จังหวัดเชียงใหม่ (อ.เชียงดาว) 360 มคก./ลบ.ม.

ทั้งนี้ พบจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในอนุภูมิภาคแม่โขง (เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย) จุดความร้อน (Hotspot) เพิ่มสูงขึ้นทุกประเทศในวันเสาร์ และสูงสุดที่ เมียนมา 10,061 จุด

รองลงมา ได้แก่ ลาว 5,061 จุด และไทย (รวมทั่วประเทศ) 3,809 จุด

ภาพ/ เจ้าหน้าที่กำลังดับไฟป่าที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา/ อส.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0