โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พิษ LTV ฉุดประกันสินเชื่อแผ่ว 5 บริษัทท็อป 10 โตติดลบ-"ทิพย" อ่วมสุด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 14.49 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 11.00 น.
fin04141162p1

เอฟเฟ็กต์มาตรการคุม LTV สินเชื่อบ้านฟาดงวงบริษัทประกันชีวิต 5 ค่ายจาก top 10 ยอดขายประกันคุ้มครองสินเชื่อโตลดลง 11-38% “ทิพยประกันชีวิต” อ่วมสุด ยอดขายวูบเฉียด 40% ฟาก “ไทยประกันฯ” ยอมรับประกันคุ้มครองสินเชื่อรถช่วยบาลานช์พอร์ต ด้าน “เมืองไทยประกันชีวิต” ยันยอดขายยังโตดีตามการปล่อยสินเชื่อบ้านของ “แบงก์กสิกรฯ”

นายวิญญู ไชยวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ภาพรวมตลาดประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) เติบโตค่อนข้างชะลอตัว โดยเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.แนวทางใหม่ในการกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) และ 2.มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัท จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 มียอดขาย MRTA ใกล้ ๆ 4,300 ล้านบาท ถือว่ายังทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่คาดไว้

“เบี้ย MRTA ของไทยประกันฯมาจากทั้งสินเชื่อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 48% สินเชื่อบ้าน 47% และสินเชื่อเอสเอ็มอี (SMEs) อีก 5% หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของพอร์ตแบงก์แอสชัวรันซ์ทั้งหมด ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 13.3% โดยเบี้ยใหม่ของ MRTA มีสัดส่วนเป็น 25% ของเบี้ยรับรายใหม่ทั้งหมด” นายวิญญูกล่าว

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเข้าถึงประกัน MRTA ค่อนข้างจำกัด หากบริษัทประกันรายใดไม่กระจายพอร์ตสินเชื่อประเภทอื่นนอกจากสินเชื่อบ้านจะลำบาก

“พอร์ต MRTA ของบริษัทมาจากสินเชื่อบ้านผ่านทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสินเชื่อรถยนต์กับทางโตโยต้า ทำให้ยังบาลานซ์พอร์ตได้ เนื่องจากการขยายตลาดรถใหม่ของโตโยต้าในปีนี้ทำได้ค่อนข้างดี สามารถเข้ามาชดเชยกันได้” นายนิติพงษ์กล่าว

นายศุภชัย จงศุภวิศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บมจ.ทิพยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณยอดขาย MRTA หดตัวลงจากสินเชื่อบ้านผ่านธนาคารออมสิน ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. 2562 โดย 9 เดือนแรกเบี้ยลดลงไปราว 30-40% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือยังไม่ถึง 3,000 ล้านบาท

“สินเชื่อบ้านเป็นตลาดที่ทำประกัน MRTA มากที่สุด ดังนั้น โดนผลกระทบจาก LTV อยู่แล้ว ซึ่งเป็นโดมิโนกดดัน ทำให้ยอดขายลดลงตามสภาวะของสินเชื่อที่ปล่อยได้น้อยลง ซึ่งเราค่อนข้างโดนผลกระทบตรงนี้ เพราะพอร์ตทั้งหมดเป็นการคุ้มครองสินเชื่อบ้าน” นายศุภชัยกล่าว

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปีนี้ยอดขาย MRTA ของบริษัทยังคงเติบโตดี สอดรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย แม้ภาพรวมในตลาดจะชะลอลงไปบ้าง แต่ถือเป็นวัฏจักรของการทำธุรกิจ

แหล่งข่าวเมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ยอดขาย MRTA ผ่านธนาคารกสิกรฯ ช่วง 9 เดือนแรกเติบโตได้ 7% ในส่วนสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นหลัก แต่การขายผ่านธนาคารพันธมิตรอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารเอกชนมียอดขายหดตัวเล็กน้อย ส่วนธนาคารรัฐยังเติบโตได้ดีจากสินเชื่อเอสเอ็มอี

“เราเห็นสัญญาณภาพรวมยอดขาย MRTA ดรอปลงตั้งแต่ปีที่แล้ว สังเกตจากแบงก์ที่เริ่มดูการจัดการหนี้เสียเข้มขึ้น จึงชะลอการปล่อยสินเชื่อด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า ประกัน MRTA เบี้ยถูกลงเกือบ 30% ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่มีการปรับตารางมรณะใหม่ ดังนั้น บริษัทที่มีพอร์ตใหญ่ มีโอกาสจะได้รับผลกระทบในแง่วอลุ่มที่ลดลงได้ ประกอบกับช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี การปล่อยสินเชื่อในภาพใหญ่ของธนาคารก็หดตัวลง

“ยอดขาย MRTA ของบริษัท ผ่านธนาคารกรุงเทพปีนี้ก็ถือว่าหดตัวลง แต่ก็ไม่ใช่พอร์ตใหญ่ของบริษัท มีสัดส่วนเพียง 5-10% ในช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ทั้งหมด” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต กล่าวว่า ยอดขายประกันสินเชื่อบ้านที่บริษัทขายผ่านธนาคารกรุงศรีฯ อาจจะไม่ใช่พอร์ตใหญ่ของบริษัท โดยมีสัดส่วนเบี้ยน้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับเบี้ยรับผ่านช่องทางแบงก์แอสชรันซ์ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ยอดขายจะเป็นสินค้าการออม การลงทุน และคุ้มครองสุขภาพ ทำให้พอร์ตยังมีความสุมดลที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV มากนัก อย่างไรก็ดีคาดว่าสิ้นปีนี้จะสามารถพิชิตเป้าหมายเบี้ยประกันรับปีแรกผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย พบว่าภาพรวมเบี้ยประกัน MRTA ช่วง 9 เดือนแรกมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 30,081.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 30,044.3 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) จำนวน 30,070.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งพบว่าใน 10 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ย MRTA สูงสุด มีถึง 5 บริษัทที่การเติบโตหดตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0