โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พิษโควิด-ASF ระบาด ผลผลิตหมูทั่วโลกขาดแคลน เอกชนแนะรัฐใช้โอกาสทองส่งออกชิงส่วนแบ่ง

สยามรัฐ

อัพเดต 12 ก.ค. 2563 เวลา 03.11 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2563 เวลา 03.11 น. • สยามรัฐออนไลน์
พิษโควิด-ASF ระบาด ผลผลิตหมูทั่วโลกขาดแคลน เอกชนแนะรัฐใช้โอกาสทองส่งออกชิงส่วนแบ่ง

โควิด-ASF ทำหมูทั่วโลกขาดตลาด ชี้เป็นโอกาสลืมตาอ้าปากของเกษตรกรไทย หวังพ้นวังวนหลายปีแย่ แค่บางปีดี หลังคุมหมูปลอด ASF-ไทยไร้โควิด วอนกรมการค้าภายในอย่าเดินหมากผิด ออกมาตรการกดราคาหมู ปิดกั้นรายได้เกษตรกร ระบุควรใช้โอกาสนี้เจาะตลาดส่งออกหมูเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF)ที่กระจายไปทั่วเอเชีย ส่งผลให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่หมูเริ่มขาดแคลน ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะได้ส่งออกหมูไปต่างประเทศเพิ่มเงินตราเข้าประเทศ และยังเป็นโอกาสลืมตาอ้าปากจากหนี้สินของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทย จะได้หลุดพ้นจากวังวนหลายปีแย่ แค่บางปีดี

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก และไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF ส่งผลให้หมูไทยเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์เห็นว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูไทยที่จะได้ส่งออกไปทั่วโลก

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่จีน หรือเวียดนาม ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเพื่อการบริโภคและนำเข้ายังมีต่อเนื่อง การที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์จากการที่หมูมีราคาสูงขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หากรัฐบาลจะใช้มาตรการจำกัดการส่งออกหมู เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศควรต้องพิจารณาด้วยว่า ส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศควรจะต้องเพิ่มหรือขยายการส่งออกได้หรือไม่ เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้น เพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน

แหล่งข่าวจากวงการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกล่าวว่า นับจากปัญหาหมูล้นตลาดเมื่อปี 2560 ทำให้เกษตรกรและคนในวงการหมูต้องพบปัญหาและอุปสรรคมากมายเข้าสู่วังวนที่ว่า หลายปีแย่ แค่บางปีดี ซึ่งหมายถึงราคาหมูตกต่ำหลายปี ราคาดีจะมีแค่บางปีเท่านั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ราย ต้องประสบปัญหาเดียวกันคือ ปัญหาราคาขึ้นลงตามวัฏจักรสุกร หรือวงจรราคาสุกร(Hog Cycle) และปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมูถูกท้าทายด้วย โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ที่กลายเป็นความกดดันให้คนเลี้ยงหมูต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายวงการหมูไทยและภาคผู้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท

“ถือว่าโชคดีที่ความพยายามของทุกภาคส่วนทั้งทางภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มงวด ด้วยการปิดทุกความเสี่ยงจนทำให้ไทยครองอันดับประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปลอดโรค ASF แต่กลับปรากฏว่ามีการควบคุมราคาหมู และจำกัดการส่งออก ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศหมดโอกาสในการยืนหยัดต่อไปในอาชีพ หมดกำลังใจในการต่อสู้ จึงขอความเห็นใจจากผู้เกี่ยวข้องอย่าควบคุมราคาเพราะเกษตรกรจะอยู่ไม่ได้ เพราะในยามขาดทุนก็ลำบากแสนสาหัส ปัจจุบันหมูราคาสูงขอให้เกษตรกรได้มีโอกาสทำกำไร สร้างรายได้ มาชดเชยขาดทุนที่สะสมมานาน”

โดยสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นโอกาสของหมูไทย ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้างให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยได้ลืมตาอ้าปากก่อนที่คนเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากไปอย่างที่เป็นมา และต้องไม่ลืมว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ แม้ต้องทนรับราคาตกต่ำสามปีก็ต้องยอม เพราะทั้งชีวิตทำอยู่แค่อาชีพเดียวนี้ ขณะที่ผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีทางเลือก สามารถเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ยิ่งฤดูกาลนี้มีอาหารธรรมชาติและโปรตีนทดแทนให้เลือกมากมาย ทั้งปลา ไข่ ไก่ที่ล้วนราคาไม่แพงทั้งสิ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0