โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พิษโควิด-19! ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้หนี้ครัวเรือนส่อแตะ 90% สูงสุดในรอบ 18 ปี

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 08.50 น.
w644

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำเสนอบทวิเคราะห์ เรื่อง “สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่ม… ท่ามกลางโจทย์เฉพาะหน้าในการเยียวยาครัวเรือน ฝ่าวิกฤตโควิด-19” โดย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88-90% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูลธปท. ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรง ขณะที่สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทั้งการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือนและลูกค้ารายย่อยไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของธปท. ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 พบว่า มีลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือแล้วเป็นจำนวน 11.48 ล้านราย มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า แม้หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ส่งผลทำให้ระดับหนี้ไม่ลดลงมากตามภาพเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงนี้เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชีย ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทย โดยภาพดังกล่าวสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อม ๆ กับประเด็นที่ต่อเนื่องต่อคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์

ซึ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น โจทย์เฉพาะหน้าที่ยากจะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยดูแลความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เองด้วยเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0