โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

พิศณุ นิลกลัด : ออกกำลังกาย สุขกว่าได้เงิน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 09.24 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 09.24 น.
คลุกวงใน 2043

เราทราบว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความสุขจากการมีเงิน สู้ความสุขที่เราได้รับจากการออกกำลังกายเป็นประจำไม่ได้

เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) ประเทศอังกฤษ เก็บข้อมูลด้านพฤติกรรมและอารมณ์ของคนอเมริกันจำนวน 1,237,194 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป ตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพไว้ในแบบสำรวจระหว่างปี 2011 ถึง 2015

คำถามเช่น ในช่วง 30 วันที่ผ่านมามีความเครียด อาการซึมเศร้า หรือปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์หรือไม่

รวมถึงสอบถามรายได้ต่อปี และให้เลือกกิจกรรมออกกำลังกายที่พวกเขาชอบทำจากทั้งหมด 75 ชนิด ตั้งแต่ตัดหญ้า ทำงานบ้าน ไปจนถึงยกน้ำหนัก ปั่นจักรยาน และวิ่ง

 

นักวิจัยพบว่า แม้แต่คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังมีช่วงเวลาที่หดหู่อยู่ประมาณ 35 วันต่อปี แต่ก็ยังน้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ซึ่งในปีหนึ่งๆ ต้องเจอกับช่วงเวลาหดหู่เฉลี่ย 53 วัน

ที่น่าสนใจก็คือ นักวิจัยยังพบว่าคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ มีระดับความสุขพอๆ กับคนที่ไม่ได้เล่นกีฬาแต่มีรายได้มากกว่าพวกเขาประมาณปีละ 25,000 ดอลลาร์ (760,000 บาท)

นั่นหมายความว่า ถ้าเราได้ออกกำลังกายเป็นประจำ เราก็จะมีระดับความสุขทางใจมากกว่าคนที่มีรายได้เยอะกว่าเราแต่ไม่ออกกำลังกาย นอกเสียจากว่าคนเหล่านั้นจะหาเงินต่อปีได้เยอะกว่าเราประมาณ 760,000 บาท

 

หลายคนพอทราบผลวิจัยนี้แล้วก็อาจจะรู้สึกมีไฟ อยากลุกไปเข้ายิมออกกำลังกายซะตอนนี้เลย

ซึ่งแน่นอนว่าการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ต้องทราบก่อนว่าทุกสิ่งมีทางสายกลาง

บางคนเข้าใจว่ายิ่งเราออกกำลังกายเยอะ ก็ยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้น

แต่ความจริงแล้วการออกกำลังกายเยอะ กับออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน

การออกกำลังกายเยอะเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจได้

 

คําถามคือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าออกกำลังกายเท่าไรจึงถือว่าไม่เยอะเกินไป

อดัม เชเคราด์ (Adam Chekroud) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะจิตเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลบอกว่า การออกกำลังกายช่วยลดความกดดันทางจิตใจให้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยไม่เกี่ยงว่าคนคนนั้นจะมาจากเชื้อชาติไหน มีรายได้ และระดับการศึกษาอย่างไร

ซึ่งจากผลวิจัยพบว่าการออกกำลังกายครั้งละ 30-60 นาที จำนวน 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นกรอบเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพจิต

การออกกำลังกายที่น้อยหรือมากกว่านั้นจะลดประโยชน์ที่ได้รับทางด้านจิตใจ

และคนที่ออกกำลังกายวันหนึ่งเกินกว่า 3 ชั่วโมง มีระดับสุขภาพจิตที่แย่กว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย

 

มีการศึกษาหลายชิ้นบอกว่าการเล่นกีฬาบางประเภทที่ได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อย่างกีฬาประเภททีม

ช่วยสร้างความสุขทางใจได้ดีกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ

แต่กีฬาบางชนิด เช่น ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก หรือออกกำลังกายในยิม แม้ในทางเทคนิคจะไม่นับเป็นกีฬาประเภททีม แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยสร้างความสุขทางใจได้มากเหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0