โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก…จากสมบัติล้ำค่ามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

Rabbit Today

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.27 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.27 น. • ธีรภัทร์ เตชะเอื้อย
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

แน่นอนว่าการเล่าเรื่องอะไรสักอย่างแล้วมีภาพประกอบ สมองจะจินตนาการต่อยอดสร้างความรู้สึกขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อไหร่ที่สามารถสัมผัสได้ด้วยกายสั่งการ เรื่องราวหรือความเป็นมาที่ไม่อาจอธิบายรายละเอียดได้ด้วยปากเปล่าจะถูกถ่ายทอดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นเหมือนกับการท่องไปในอดีตที่ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’

ยุคสมัยนี้เปลี่ยนไปไวราวกับสรุปใจความสำคัญของหนังสือเล่มหนึ่งได้ในหน้ากระดาษแผ่นเดียว นั้นจึงเป็นเหตุให้ความอยากรู้อยากเห็นถูกสนองได้เพียงปลายนิ้ว แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกนั้นไม่เข้าข่ายดังที่กล่าวมาเลย เพราะที่นี่ทุกอย่างจริงหมด หากจะหาข้อมูลผ่านหน้าจอคงเข้าไม่ถึงแน่นอน การสัมผัสถึงวิถีชาวบางกอกในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องไปเห็นด้วยตาตัวเอง แล้วคุณจะได้คำตอบทางข้อมูลและทางจิตใจแบบครบถ้วน

อาจารย์วราพร สุรวดี
อาจารย์วราพร สุรวดี

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในเขตบางรัก เดิมทีเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจริงของอาจารย์วราพร สุรวดี โดยรับมรดกจากมารดา (นางสอางค์ สุรวดี) แต่ตัวอาจารย์เองไม่ได้แต่งงานและไม่มีทายาท ก่อนเสียชีวิตท่านจึงตั้งใจบริจาคบ้าน ที่ดิน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดให้เป็นทรัพย์สมบัติของกรุงเทพฯ เพื่อจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

ภายในพิพิธภัณฑ์มีอาคารอยู่ทั้งหมด 4 หลัง เป็นอาคารไม้เกือบทั้งหมด เพียงเดินเข้าไปข้างในจะสัมผัสได้ถึงความเย็นซาบซ่านอย่างชัดเจนจากต้นไม้ใหญ่ที่ขยายกิ่งก้านกางเป็นร่มทั่วทั้งบริเวณ และยังรู้สึกสบายหูสบายตาด้วยสระน้ำเล็กๆ หน้าบ้านและหลังบ้าน รอบนอกของตัวอาคารจะมีที่นั่งและศาลาจัดไว้ให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้นั่งพักผ่อนตามอัธยาศัย 

อาคาร 4 หลังที่กล่าวมา มีรูปลักษณ์และรายละเอียดภายในที่ซ่อนเรื่องราวเอาไว้อย่างแตกต่างกัน

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

อาคารหลังแรก อยู่ด้านหน้าสุดเมื่อก้าวขาเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นทรงปั้นหยาที่ครอบครัวของอาจารย์วราพร เคยใช้อยู่อาศัย ประกอบไปด้วย โถงชั้นล่าง ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องหนังสือ ห้องนอนคุณยายอิน ห้องแต่งตัว และห้องนอนใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นล้วนผ่านการใช้งานมาแล้วด้วยความทะนุถนอม เพราะทุกชิ้นยังคงสมบูรณ์และเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายในอาคารโปร่งสบายเนื่องจากผ่านการออกแบบมาให้รับและระบายลมได้เป็นอย่างดี

อาคารหลังที่สอง อยู่ด้านหลังสุดของบริเวณบ้าน เดิมทีสร้างขึ้นที่ทุ่งมหาเมฆ เพื่อต้องการใช้ชั้นล่างเป็นคลีนิคคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน (สามีคุณสอางค์) แต่คุณหมอฟรานซิส ได้เสียชีวิตลงซะก่อน อาจารย์วราพร จึงย้ายตัวอาคารมาอยู่ที่นี่ ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ของคุณหมอฟรานซิส ร่วมถึงห้องนอนและรูปปั้นเพื่อละรึกถึงคุณหมอ ไฮไลท์อยู่ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์นี่ละ บางชิ้นก็ดูคุ้นตาแต่บางชิ้นมองแล้วอาจไม่คุ้นเคย ดูแล้วเพลินไม่น้อยเลยทีเดียว

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

อาคารหลังที่สาม ตั้งอยู่ทางด้านข้างของบริเวณพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมอาคารหลังนี้เป็นห้องแถวที่อาจารย์วราพร ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าอาศัย แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารจัดแสดง ชั้นล่างเป็นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมด เช่น อุปกรณ์ทางการเกษตร เครื่องครัว เครื่องเขียน เครื่องมือช่าง ฯลฯ ส่วนชั้นบนจะเป็นส่วนจัดแสดงเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติเขตบางรัก บุคคลสำคัญของบางรัก ชุมชนนานาชาติ สายสัมพันธ์ไทย - ตะวันตก เป็นต้น อาคารหลังที่สามนี้มีพื้นที่มากที่สุดในบรรดาอาคารสี่หลัง และเป็นอาคารหลังเดียวที่ติดแอร์

อาคารหลังที่สี่ อยู่ถัดมาจากอาคารหลังที่สามเพียงนิดเดียว เป็นอาคารที่ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของบริเวณพิพิธภัณฑ์ (ตรงข้ามศาลาริมน้ำ) อาคารหลังนี้ถูกปรับปรุงให้เป็นสำนักงานห้องสมุดอาจารย์วรพร

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

ในการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจะมีวิทยากรอาสาอยู่ประจำจุดทุกอาคาร หากใครมีข้อสงสัยหรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ทันที คุณพี่วิทยากรท่านหนึ่งแอบกระซิบมาว่าที่นี่มีหลุมหลบภัยส่วนตัวอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านด้วย ในสมัยนั้นหากบ้านไหนมีหลุมหลบภัยส่วนตัวถือว่าบ้านนั้นมีฐานะพอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่ต้องไปอาศัยในส่วนที่รัฐบาลจัดไว้ให้ แต่ปัจจุบันนี้หลุมหลบภัยได้ถูกกลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แอบเสียดายอยู่นิดๆ ที่ไม่ได้เห็นด้วยตา

หากใครมีโอกาสผ่านไปลิ้มรสชิมของอร่อยที่มีให้เลือกมากมายย่านเขตบางรักแล้ว อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก พร้อมศึกษาประวัติศาสตร์แบบสัมผัสได้จริงถึงลูกถึงคน และอย่าลืมเก็บภาพสวยๆ ในบรรยากาศย้อนวันวานมาอวดให้ว่อนโซเชียลพร้อมกับติดแฮชแท็กเท่ๆ ว่า ‘ที่นี่กรุงเทพฯ’ อ่อ! ที่สำคัญเข้าชมฟรีจ้า! 

พิกัด: 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก เปิดให้บริการทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-อังคาร โทร.0-2234-6741, 0-2233-7027

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0