โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พาวเวอร์แบงค์บวม ทิ้งไหนดี?

Rabbit Today

อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 11.23 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 11.23 น. • มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ
พาวเวอร์แบงค์บวม ทิ้งไหนดี?

เพาเวอร์แบงค์ หรือที่เราเรียกว่า แบตเตอรี่สำรอง คือ #ของมันต้องมี เพราะพาวเวอร์แบงค์เป็นเหมือนผู้ช่วยชีวิตที่จะทำให้เราไม่พลาดโอกาสสำคัญ โดยเฉพาะคนที่แบตฯ เข้าสีแดง เหลือน้อยใกล้ 0% แต่ต้องคุยธุระสำคัญต่อเนื่อง หรือสาวกโปเกม่อน ที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มรอนับเวลาถอยหลังตียิม ถ้าแบตฯ มือถือดับพรึ่บ ความเซ็งก็มาเยือน 

ทั้งหมดนี้พูดได้ว่า มีพาวเวอร์แบงค์ ‘ติดตัวไว้ อุ่นใจค่ะ’ แต่รู้มั้ยว่า เมื่อพาวเวอร์แบงค์บวมหรือเสื่อมสภาพ (ตามอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ปี) มันคือตัวอันตรายที่ไม่ควรเสี่ยงเก็บไว้ใกล้ตัว จาก ‘ติดตัวไว้ อุ่นใจค่ะ’ ต้องพูดใหม่ว่า ‘ติดตัวไว้ เสี่ยงตายค่ะ’ 

หลายคนคิดว่าแบตฯ บวมเป่ง อาจจะยังนึกเสียดาย และคิดว่าน่าจะใช้ได้อยู่ แต่จริงๆ แล้วมันคือระเบิดเวลาที่จะแบะหรือระเบิดตูมได้อย่างน่ากลัวเวอร์ ไม่ว่าจะบางจะหนา จะหนักจะเบา จะถูกหรือแพง เมื่อถึงคราวบวมก็ต้องทิ้งสถานเดียว

ถามว่าความเสี่ยงที่พาวเวอร์แบงค์มีสิทธิ์ระเบิดเกิดได้จากอะไรบ้าง? คำตอบคือ จากหลายปัจจัย หนึ่ง ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน โรงงานอาจลดต้นทุนด้วยการใช้แบตเตอรี่คุณภาพต่ำ เพื่อทำราคาให้ถูกลงจนน่าซื้อ และบางโรงงานใช้แบตเตอรี่เก่าวนกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนจ่าย 

ปัจจัยต่อมาคือกลไกการป้องกันการลัดวงจรที่ออกแบบมาไม่ดี ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงขณะใช้ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเสี่ยงต่อการระเบิดได้เมื่อพาวเวอร์แบงค์ร้อนจัด 

สุดท้ายคือเกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสมของเราเองนี่ละ อาจจะโดนความชื้น โดนน้ำ หรือเก็บในที่ที่ร้อนจัด หรือชาร์จบ่อยเกินไป ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงทั้งนั้น 

ตอนนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ถ้าแบตฯ บวมแล้วจะทิ้งที่ไหนดี หรือ ‘บวมแล้วไปไหน’ เพราะที่เล่ามามันดูเสี่ยงต่อการระเบิดเหลือเกิน ถ้าไปทิ้งสุ่มสี่สุ่มห้าคงไม่ดีแน่ ไม่ต้องกังวลไป เรามีทางออกมาบอกตรงนี้แล้วจ้า

พาวเวอร์แบงค์บวม ทิ้งไหนดี?
พาวเวอร์แบงค์บวม ทิ้งไหนดี?

ที่แรกคือ โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก เป็นพิกัดที่เราสามารถส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหลือใช้ เช่น โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หรืออุกรณ์เสริมอื่นๆ รวมทั้งพาวเวอร์แบงค์ที่บวมเป่ง เพื่อให้เขาจัดการต่อได้อย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบของสารอันตรายในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกั่ว เป็นสารที่ทำลายระบบประสาท ระบบเลือด และไต, ปรอท มีอันตรายต่อสมองและประสาทส่วนกลาง, แคดเมียม ทำให้ไตวาย และปอดอักเสบ, โบรมีนและคอลรีน เป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น 

และต้องวงเล็บตรงนี้นิดนึงว่า การส่งพาวเวอร์แบงค์บวมนั้น ควรห่อพลาสติกกันกระแทกให้ดีก่อนบรรจุลงกล่องไปรษณีย์ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน แล้วส่งไปที่ 

โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย 

อาคารวิจัยจุฬาฯ ชั้น 8 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ 

เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

***ที่นี่งดรับถ่านไฟฉายนะจ๊ะ เพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปกำจัดได้โดยตรงอยู่แล้ว คือ สำนักงานเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล และ อบต.) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2218-3959 เฟซบุ๊ก: โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth)

อีกที่หนึ่งเหมาะมากสำหรับนักช้อป เพราะตามห้างฯ จะมีถังขยะอัจฉริยะสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรับทิ้ง โทรศัพท์มือถือ, สายชาร์จ, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงค์ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ โดยสามารถหาพิกัดจุดรับทิ้งได้ง่ายๆ โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์ www.ewastethailand.com ก็จะสามารถหาพิกัดใกล้ตัวเราได้ทันที (สำหรับเว็บนี้มีจุดรับทิ้งตาม AIS Shop และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ) บอกลาแบตฯ บวมได้ทันทีที่สาขาใกล้บ้าน 

พูดได้ว่า ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ‘ทิ้งให้ถูกที่’ แนวโน้มของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะชะลอความรุนแรงลงได้บ้าง และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม

ที่มา: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth), www.ewastethailand.com, AISThailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0