โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พายุฝนในออสเตรเลียเอื้อ ‘แมงมุมพิษร้ายสุดในโลก’ ขยายพันธุ์

Xinhua

เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 09.34 น.
พายุฝนในออสเตรเลียเอื้อ ‘แมงมุมพิษร้ายสุดในโลก’ ขยายพันธุ์

ซิดนีย์, 22 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (22 ม.ค.) คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาเปิดเผยว่า "แมงมุม" ที่มีความอันตรายมากที่สุดในโลก กำลังเติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในออสเตรเลีย เนื่องจากพายุฝนที่ซัดถล่มหลายพื้นที่ของออสเตรเลียในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อแมงมุมชนิดดังกล่าว

รายงานระบุว่าแมงมุมฟันเนิล-เว็บ (funnel-web spider) มักถูกพบเจอทางชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย พวกมันชอบสภาพแวดล้อมที่เย็นและชื้น มักหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหิน ท่อนไม้ หรือขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ใต้ดิน

เจก เมนีย์ (Jake Meney) ผู้ดูแลสัตว์เลื้อยคลานและแมงมุมประจำสวนสัตว์เลื้อยคลานออสเตรเลีย ระบุว่าบางครั้งแมงมุมชนิดนี้ก็ไปโผล่ตามบ้านเรือน ส่วนมากจะอยู่ในห้องซักผ้า โรงรถ หรือ “ในรองเท้า”

“ทุกคนต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยให้ดี หากพบเจอแมงมุมฟันเนิล-เว็บ” เมนีย์กล่าว “ฝนตกช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของแมงมุมชนิดนี้”

แมงมุมฟันเนิล-เว็บเป็นแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก หากถูกกัดเพียง 1 ครั้งอาจเสียชีวิตภายใน 15 นาที แต่เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่พัฒนาไปมาก จึงมีการผลิตเซรุ่มต้านพิษขึ้นมา ทำให้ไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิตจากแมงมุมชนิดนี้อีก

ด้านสวนสัตว์เลื้อยคลานออสเตรเลียนั้นคอยรับซื้อและรวบรวมพิษแมงมุมฟันเนิล-เว็บ เพื่อผลิตยารักษาชีวิต โดยพึ่งพาการบริจาคพิษแมงมุมจากประชาชนเป็นหลัก

แม้ว่าชาวออสเตรเลียจำนวนมากจะหวาดกลัวแมงมุมพิษร้ายชนิดนี้ ที่เติบโตและเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้นในช่วงที่มีฝนตกชุก แต่สำหรับเมนีย์ นี่เป็นโอกาสดีเยี่ยมในการผลิตเซรุ่มต้านพิษจำนวนมาก

“หากคุณเป็นผู้ใหญ่และคิดว่าตนเองสามารถเผชิญหน้ากับมันได้อย่างปลอดภัย คุณควรใช้โหลแก้วจับมันและระวังอย่าให้มันโดนมือ ค่อยๆ ใช้วัตถุแท่งยาวต้อนแมงมุมเข้าไปในโหล แล้วนำมันมาส่งให้กับสวนสัตว์เลื้อยคลานออสเตรเลีย” เมนีย์กล่าว “สิ่งสำคัญคือชาวออสเตรเลียทุกคนควรรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรู้วิธีจับแมงมุมอย่างถูกต้องปลอดภัย เราจะได้รีดพิษมันมาทำเซรุ่มและช่วยชีวิตผู้คนที่ถูกกัดต่อไป”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0