โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พัฒนาการ ‘หวย’ ไทย ความฝันของผู้ซื้อ แหล่งรายได้สำคัญของรัฐ

The MATTER

อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 09.08 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 08.49 น. • Pulse

รวย! รวย! รวย! รวย!

ทุกช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน หลายๆ คนคงจะนั่งไม่ติด ลุ้นว่าจะรวยฟ้าผ่าได้เป็นเศรษฐีในเสี้ยววินาทีหรือไม่ ผ่านการประกาศรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันติดปากว่า ล็อตเตอรี่

หลายคนคงคุ้นเคยกับวลีว่า ‘คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น’ แต่จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่ได้มีแต่คนมีรายได้น้อยเท่านั้นที่นิยมเสี่ยงโชคผ่าน ‘หวย’ ทั้งแบบถูกกฎหมายอย่างล็อตเตอรี่ และผิดกฎหมาย เช่น หวยใต้ดิน

สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพนันหลายครั้ง และงานหลายๆ ชิ้นมักได้รับการอ้างอิงต่อในวงกว้าง เคยชี้ว่า ผู้ที่เล่นหวยไม่ได้มีแต่คนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ในคนที่มีรายได้ทุกระดับ โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีรายได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปด้วย (งานวิจัยเมื่อปี 2550) นอกจากนี้ ยังชี้ว่า หวยผูกพันกับวิถีชีวิตและเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมของผู้คน

มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2558 ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ว่าคนไทยที่เล่นหวยทั้งบนดินและใต้ดิน มีจำนวนรวมกัน 25.2 ล้านคน (จากจำนวนคนไทยราว 67 ล้านคน) ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ธนาคารทหารไทย เพิ่งเปิดเผยต้นปี 2562 นี้เองว่า คนไทยซื้อล็อตเตอรี่และหวยรวมกันกว่า 2.5 แสนล้านบาท เท่ากับเงินลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ด้วยจำนวนผู้เกี่ยวข้องเกิน 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ และปริมาณเงินไหลเวียนที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 8.3% ของงบประมาณรัฐบาลปีล่าสุด (3 ล้านล้านบาท)

ไม่แปลกอะไรที่รัฐบาลหลายๆ ชุดจะออกนโยบายเกี่ยวกับหวย เพื่อเอาใจผู้ซื้อ (ที่มีจำนวนมาก) เช่น ควบคุมดูแลไม่ให้ขายเกินราคา หรือคิดหาหวยรูปแบบใหม่ๆ

ในอีกด้านหนึ่ง รายได้จากการขายหวยยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาครัฐ ปีละหลายหมื่นล้านบาท!

พัฒนาการ ‘หวย’ ไทย ความฝันนักเสี่ยงโชค

คำว่า ‘หวย’ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่าดอกไม้ นั่นเพราะหวยแรกๆ ที่คนจีนนำเข้ามาในเมืองไทย เป็นการทายรูปดอกไม้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อคนภาษาจีน ก่อนจะนำพยัญชนะไทย ก.-ฮ. ไปกำกับเพื่อให้คนไทยเล่นได้ง่ายขึ้น กลายเป็น ‘หวย ก.ข.’

ชาวจีนได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งโรงหวยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปี 2378 เพื่อเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของภาครัฐ ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกล็อตเตอรี่ขึ้น แต่ยังออกในวาระพิเศษเท่านั้น กระทั่งปี 2482 มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับออก 'ล็อตเตอรี่' เป็นประจำ ขึ้นมาแทน หวย ก.ข. ที่กลายเป็นการพนันที่ห้ามเด็ดขาดเว้นแต่รัฐจะจัดให้มี ตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478

หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 60 ปี ที่คนไทยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘หวย’ แค่สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหลัก แต่ด้วยโอกาสถูกรางวัลที่มีไม่มากนัก รางวัลที่ 1 (มูลค่า 6 ล้านบาท) มีโอกาสแค่หนึ่งในล้าน ส่วนเลขท้าย 2 ตัว แม้มีโอกาสถูก 1% แต่ก็ได้รางวัลไม่มากนัก (มูลค่า 2,000 บาท) ทำให้ ‘หวยใต้ดิน’ เฟื่องฟู โดยอิงเลขรางวัลจากล็อตเตอรี่ที่ออกทุกๆ วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนนั่นแหละ โดยงานวิจัยของสังศิตและคณะ ที่จัดทำขึ้นในปี 2546 ชี้ว่า คนไทยที่มีอายุสิบห้าปีขึ้นไปเกินครึ่ง เคยเล่นหวยใต้ดิน และว่ากันว่ามีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท ไปจนถึงแสนล้านบาท

ปัญหาหวยใต้ดิน จึงเป็นทั้งเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย และเรื่องทางเศรษฐกิจที่เงินจำนวนมากต้องหมุนเวียนอยู่นอกระบบ

หวยบนดิน ยุค ‘ทักษิณ’

กระทั่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ออกโครงการสลากพิเศษแบบ 3 ตัว 2 ตัว หรือ ‘หวยบนดิน’ ขึ้นมา โดยวิธีแทงคล้ายหวยใต้ดิน เพียงแต่รัฐเป็นเจ้ามือ ก็ทำให้สามารถดึงเงินจำนวนมหาศาลมาอยู่บนดินได้ ตลอดระยะเวลาที่ขาย ระหว่าง 1 ส.ค.2546 – 16 พ.ย.2549 รวม 80 งวด มียอดขายทั้งสิ้น 1.34 แสนล้านบาท เป็นกำไรหลักหักค่าใช้จ่ายราว 2.9 หมื่นล้านบาท

ว่ากันว่า การออกหวยบนดินดังกล่าว กระทบต่อผู้ขายหวยใต้ดินเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนผู้เล่นหวยบนดินใกล้เคียงกับหวยใต้ดิน คือราว 23 ล้านคน ที่สำคัญคือหวยบนดินเล่นเท่าไรก็ได้ ไม่มีการกำหนดเพดาน และไม่มีการอั้นตัวเลข

แต่หวยดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป เมื่อ คมช.ยึดอำนาจจากทักษิณ พร้อมตั้ง คตส.มาเอาผิดฐานออกหวยบนดินและใช้เงินที่ได้อย่างไม่ถูกกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 จนผู้เกี่ยวข้องถูกตัดสินให้จำคุก

โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2552 ให้จำคุก วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล คนละ 2 ปี และปรับเงินอีกจำนวนหนึ่ง

หน้าตาของหวยบนดินยุคทักษิณ จะมี 3 สี แบ่งตามสีของธนบัตร สีเขียว ราคา 20 บาท สีน้ำเงิน ราคา 50 บาท และสีแดง ราคา 100 บาท ให้แทงเลขได้ทั้ง 3 ตัวตรง, 3 ตัวโต๊ด, 2 ตัวบน และ 2 ตัวล่าง (รางวัล แทง 3 ตัว บาทละ 400 บาท แทง 2 ตัว บาทละ 55 บาท) ที่มาภาพประกอบ: สยามรัฐ

และต่อมาในปี 2562 ศาลฎีกาฯ จึงได้ตัดสินจำคุกทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี (หลังจาก สนช.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ดำเนินคดีลับหลังกับจำเลยที่หนีคดีได้) เป็นเวลา 2 ปีเช่นกัน

ด้วยความผิดโดยสรุป 3 ประการ

การออกหวยบนดินดังกล่าว ขัดกับ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพราะออกมาโดยไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองสลาก และไม่ใช่สลากการกุศล การออกหวยบนดินก่อนแก้กฎหมายจึงทำไม่ได้ หวยบนดินเป็นสลากกินรวบ ไม่ใช่สลากกินแบ่งเหมือนล็อตเตอรี่ ที่มีการแบ่งสัดส่วนรายได้ เป็นรางวัล-เงินนำส่งเข้ารัฐ-ค่าบริหารจัดการ กี่ % อาจทำให้รัฐเสียหาย มีโอกาสขาดทุน คล้ายจัดให้มีการพนัน โดยภาครัฐเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข ไม่มีการกำหนดวิธีการจ่ายเงินที่ชัดเจน การจ่ายเงินแม้จะมีการหักรายได้บางส่วนเป็นค่าบริหารจัดการ และคืนรายได้สู่สังคมในโครงการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับรองจาก สตง.ในทุกกรณี มีเงินนับแสนล้านบาทไม่ถูกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 หลังจากนั้น โครงการ ‘หวยบนดิน’ จึงคล้ายต้องคำสาป ถูกล่ามโซ่ ขังไว้แน่นหนา ไม่มีใครกล้าไปแตะต้องอีก

กระทั่งกองทัพออกมายึดอำนาจอีกครั้ง ในปี 2557

หวยบนดิน ยุค ‘คสช.’

หลังจาก คสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ก็ตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั่งบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับความพยายามแก้ไขปัญหาล็อตเตอรี่ราคาแพง และคิดหาทางที่จะออกหวยรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงเงินเข้าสู่ภาครัฐอีกครั้ง

การคืนชีพ ‘หวยบนดิน’ ถูกพูดหลังยึดอำนาจใหม่ๆ ในปี 2557 ตั้งแต่ก่อนที่ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีซะด้วยซ้ำ!

แต่ทั้งๆ ที่โยนหินถามทางเรื่อง 'หวยใหม่' สารพัดรูปแบบ ผู้เกี่ยวข้องก็ยังเดินหน้าทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เสียก่อน ซึ่งกว่าจะทำสำเร็จก็ต้องรอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนเลือกตั้งเพียงเดือนเศษ และเมื่อกฎหมายนี้ออกมา การเดินหน้าออกหวยรูปแบบใหม่ๆ ก็มีขึ้นทันที

สาระสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไข ก็คือการเพิ่ม (7/1) และ 7/2) เข้าไปในมาตรา 13 ให้กองสลากออกผลิตภัณฑ์เสี่ยงโชครูปแบบใหม่ๆ ได้ นอกเหนือจากล็อตเตอรี่ได้ ด้วยเสนอทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบทางสังคม และเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบ

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขมาตรา 26 ให้นำเงินรางวัลแต่ละงวด สามารถทบงวดต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 1 งวด ไว้เผื่อกรณีมีการแจกรางวัล jack pot อีกด้วย

ด้วย 2 มาตรา ที่มีการแก้ไขนี้ ทำให้หวยชนิดใหม่ๆ ถูกหยิบมาพูดถึง ทั้งล็อตโต้ น้ำเต้าปูปลา ฯลฯ และแน่นอน หวยบนดิน ที่หลายคนมองว่าเป็นตัวเต็งที่จะออกมาขายให้ประชาชนเคียงคู่ล็อตเตอรี่

แหล่ง ‘รายได้’ สำคัญของรัฐ

คำถามก็คือ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะถูกวิจารณ์ว่าลอกนโยบายของทักษิณมา แล้วเหตุใด คสช.ยังเดินหน้าต่อ ?

ถ้าไปดูเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งให้กับรัฐ ในฐานะหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ ก็น่าจะพอเข้าใจได้ เฉพาะแต่ปี 5 หลัง คสช.ยึดอำนาจ ก็นำส่งเป็นรายได้ให้กับรัฐบาล (ในภาวะที่แหล่งรายได้หลักจากเงินภาษีเริ่มลดลง) ได้สูงถึง 1.3 แสนล้านบาท! แบ่งเป็น

ปี 2557 นำส่งรัฐบาล 15,311 ล้านบาท ปี 2558 นำส่งรัฐบาล 15,432 ล้านบาท ปี 2559 นำส่งรัฐบาล 25,919 ล้านบาท ปี 2560 นำส่งรัฐบาล 30,947 ล้านบาท ปี 2561 นำส่งรัฐบาล 40,850 ล้านบาท [ หมายเหตุ: ปีในที่นี้ หมายถึงปีงบประมาณ ระหว่างเดือน ต.ค.ของปีก่อน – เดือน ก.ย.ของปีปัจจุบัน)

ส่วนปี 2562 เฉพาะครึ่งปีแรก ก็นำส่งรัฐบาลแล้ว 22,842 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐอันดับหนึ่ง ชนะแม้แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ไล่เรียงมาข้างต้น น่าจะพอให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า เหตุใดผู้มีอำนาจถึงต้องหาผลิตภัณฑ์เสี่ยงโชคใหม่ๆ มานำเสนอต่อประชาชน เพราะมันเกี่ยวพันกับผู้คนและเม็ดเงินมหาศาล โดยเฉพาะที่เป็นเม็ดเงินที่จะเป็นรายได้ของภาครัฐ (ยิ่งขายหวยได้มาก รัฐยิ่งได้ส่วนแบ่ง 23% ของยอดขายนั้น มาเป็นเงินแผ่นดิน)

และสมมุติว่าหวยบนดินคืนชีพขึ้นมาจริง ก็คงจะหาว่าภาครัฐมัวเมาประชาชน หรือไปฟ้องให้จำคุกใครไม่ได้แล้ว เพราะ คสช.เขาได้แก้ไขกฎหมายแล้วนั่นเอง

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0