โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พัฒนาการพระราชพิธี "เลี้ยงพระตรุษจีน" ในราชสำนักสยามสามแผ่นดิน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 24 ม.ค. 2566 เวลา 02.33 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2566 เวลา 01.00 น.
ภาพปก-เลี้ยงพระตรุษจีน

ในแบบแผนการพระราชพิธีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบเนื่องกันมาตามโบราณราชประเพณี พระราชพิธีเหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ เช่น พระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นต้น

ครั้นกรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดการเป็นราชธานี เกิดราชธานีใหม่ ณ ริมลําน้ำเจ้าพระยา คือกรุงเทพมหานคร (คั่นด้วยกรุงธนบุรี 15 ปี) แบบแผนการพระราชพิธีต่างๆ ยังคงได้รับการสืบทอดต่อมาคือ ยังเกี่ยวเนื่องด้วยลัทธิพราหมณ์

จนล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งพระราชวงศ์จักรี ก็เกิดพระราชพิธีสำคัญที่มิได้อิงศาสนาพราหมณ์ล้วนๆ หากอิงคติข้างจีนเป็นหลักแทรกเข้ามา และเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ปรากฏการณ์นี้นับเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มูลเหตุของเรื่องนี้ก็คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระโอรสในรัชกาลที่ 2 อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายกับประเทศจีนจนทรงร่ำรวยถึงขั้นเจ้าสัว และทำให้ทรงมีพระสหายชาวจีนที่เป็นพ่อค้าคหบดีมากมาย ทรงคบค้าพ่อค้าเหล่านี้ตลอดมา จนทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 (ต่อมารัฐบาลได้ถวายพระราชสมัญญานาม พระมหาเจษฎาราชเจ้า เมื่อ พ.ศ. 2541)

ดังนั้น ในวาระตรุษจีนหรือปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน พระสหายเหล่านี้ก็จะจัดของสด เช่น สุกร เป็ด ไก่ มาถวายคนละมากๆ เมื่อถวายหลายคนเข้าก็มีของถวายตรุษจีนมากมายเหลือเฟือ และเป็นของสดที่จะเก็บไว้มิได้ กอปรกับรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา และทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์อยู่แล้วเป็นปกติตามที่เราทราบกันดีจึงทรงปรารภให้นำของสดๆ เหล่านี้ (ซึ่งก็คงถึงแก่ชีวิตแล้ว) มาทำเครื่องจังหัน โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์มารับพระราชทานฉันวันละ 30 รูป มีพระภิกษุทั้งจากคณะกลาง เหนือ ใต้ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาทั้ง 3 วัน

นอกจากนี้ก็โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาร่วมถวายพระและเลี้ยงดูผู้คนตลอด 3 วันนี้ เมื่อทําบุญแล้วก็โปรดให้ซื้อปลาวันละ 10 ตําลึงไถ่ชีวิตลงน้ำด้วย (พระราชพิธีสิบสองเดือน, หน้า 116)

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเมื่อครองราชย์แล้วก็มักจะทรงพอพระทัยชำระสะสางเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจนอยู่เสมอ ทรงปรารภว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่ลักชื่อว่าเป็นจีน” (เล่มเดิม หน้า 117) จึงโปรดให้ “ทำเกาเหลาที่โรงเรือ ยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน” (เล่มเดิม, หน้า 117)

นอกจากนี้ก็โปรดให้เชิญเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้งเซ่นสังเวย ณ ศาลหลังคาเก๋งจีนที่โปรดให้สร้างขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นเป็นการเฉพาะ เครื่องสังเวยที่ตั้งทั้ง 3 วัน มีอาทิ แตงอุลิด (แตงโม) ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และตอนท้ายมีการขอพรเป็นการเทวพลี (พลีเทวดา) เพื่อให้เข้าเค้าอย่างคติจีน (พลีเทพเจ้าจีนและวิญญาณบรรพชน)

น่าตั้งข้อสังเกตว่ารัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์ในการจัดพระราชพิธีตรุษจีนให้มีสีสันแบบจีนมากขึ้น ขอสันนิษฐานต่อไปว่า การจัดเครื่องโต๊ะบูชาแบบจีนเพื่อถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชนั้นก็คงจะอยู่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนให้เป็นจีนมากขึ้นนี้เอง และต้องไม่ลืมว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นสร้างขึ้นอย่างเทวดาไทยตามคติพราหมณ์ เมื่อทรงปรารภว่าเมืองสยามมักรอดพ้นภัยพิบัติทุกครั้งก็ด้วยทรงเชื่อว่ามีเทวดาประจําเมืองปกปักคุ้มครอง เทวดาองค์นี้จึงได้รับการขนามนามว่าพระสยามเทวาธิราช ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และยังตั้งเครื่องบูชาตามแบบแผนธรรมเนียมจีน

น่าสนใจว่าลัทธิบูชาเทวดาไทย (ในรูปลักษณ์ไทยๆ แต่เป็นคติแขก) ได้ถูกสงเคราะห์เข้ากับคติจีนอย่างน่าศึกษา ปัจจัยร่วมสําคัญที่น่าวิเคราะห์คือการนับถือภูติวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้เกิดจากฐานคิดทาง พระพุทธศาสนาแต่ประการใด

ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมนําเรือขนมจีนมาเข้าร่วมกิจกรรมก็กลับถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เหตุด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านเมืองในเวลานั้น ให้การสนับสนุน อันสมเด็จเจ้าพระยาองค์นี้มีอํานาจมากในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ “เพราะฉะนั้นการเลี้ยงตรุษจีนจึงได้มีขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มาพรักพร้อมแน่นหนากว่าพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอื่นๆ แต่เรื่องเกาเหลาเลี้ยงพระนั้นเป็นของอันเหลือที่จะฉันแล้วผู้ทําก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง คงอยู่แต่เรือขนมจีน” (เล่มเดิม, หน้า 118)

เป็นอันว่าพระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีความสำคัญถึงขนาดเบียดแทรกพระราชพิธีโบราณอื่นๆ (ตามลัทธิพราหมณ์) ไป ทั้งนี้น่าจะเป็นเหตุจากกิจกรรมที่มีความเป็นกันเองมากกว่าพระราชพิธีโบราณซึ่งเต็มไปด้วยความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับเป็นความพึงใจของผู้มีอํานาจในแผ่นดิน ขุนนางทั้งหลายจึงพร้อมใจกันมาชุมนุมร่วมงานกันครึกครื้น

พระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนคงดำเนินต่อเนื่องมาในสมัยที่รัชกาลที่ 5 ทรงเจริญพระชนม์ขึ้นและทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารบ้านเมืองแล้ว โดยอาจจัดขึ้นในเดือนยี่หรือเดือนสามตามปฏิทินจีน และขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายจีน คือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน-ต้นตระกูลโชติกเสถียร) ซึ่งจงรักภักดีในพระองค์มากรับเป็นเจ้าภาพจัดโต๊ะจีนอย่างดีมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย (ไม่ทราบว่าเบียดเรือขนมจีนออกไปหรือเปล่า)

กล่าวได้ว่าพระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนได้มีบทบาทสําคัญต่อราชสํานักไทยมาแต่รัชกาลที่ 3 ด้วยเหตุแห่งการแสดงความกตัญญูของพ่อค้าคหบดีแด่องค์พระประมุขไทยและมีการคลี่คลายขยายผลมาสู่การผสมผสานความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์-ไทย-จีน ในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นพระราชพิธีจีนที่มีความสำคัญแทนที่พระราชพิธีโบราณ (แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา) ในบทบาทของการเป็นที่พบปะพูดคุยสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงต้นของแผ่นดินรัชกาลที่ 5

พระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีนจึงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และควรได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นอื่นๆ สืบไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนในราชสำนักสยาม ไม่ว่าพระราชพิธีสังเวยพระป้าย พระราชพิธีกงเต๊กหลวง กับความเป็นไปของบ้านเมืองสยามในแต่ละยุคนั้นๆ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

เอกสารอ้างอิง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. องค์การค้าคุรุสภา, 2533.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0