โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พักเรื่องกัญชา! สนทนาเบาๆ กับ “เดชา ศิริภัทร” ชี้โอกาสธุรกิจ “ทุเรียนมะริด-ตะนาวศรี”

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 17 พ.ค. 2562 เวลา 10.06 น. • เผยแพร่ 18 พ.ค. 2562 เวลา 17.05 น.
850

พักเรื่องกัญชา! สนทนาเบาๆ กับ “เดชา ศิริภัทร” ชี้โอกาสธุรกิจ “ทุเรียนมะริด-ตะนาวศรี”

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินทางผ่านด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปยังเมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมา หรือแต่เดิมคนไทยเรียกกันว่าประเทศพม่า และยังคุ้นชินในการเรียกชื่อประเทศพม่า-คนพม่า มาจนปัจจุบัน

ดิฉันเคยได้ยินชื่อ “ตะนาวศรี” มาแต่เด็ก รู้ว่าเป็นชื่อทิวเขาสลับซับซ้อนกั้นชายแดนไทย-พม่า ต่อลงมาจากเทือกเขาถนนธงชัยของภาคเหนือ ครั้นโตขึ้นมา ได้ร่ำเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็รู้เพิ่มขึ้นอีกว่า เมืองตะนาวศรีกับมะริด ที่อยู่เคียงใกล้ เป็นชื่อเมืองท่าสำคัญที่ฝรั่งตะวันตก ทั้งชาติโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เข้าไปแย่งชิงวิวาทในการใช้พื้นที่เป็นคลังเก็บสินค้า และเป็นเส้นทางค้าขายเชื่อมต่อโลกตะวันตก แอฟริกา อาหรับ กับเอเชียอาคเนย์ จีน ญี่ปุ่น จนเมื่อประเทศพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2367-2491 ตะนาวศรีก็ถูกลบเลือนจากความรับรู้ของคนไทยไปยาวนาน

แม้หลังจากอังกฤษจะให้เอกราชกับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2491 ไปแล้ว เมืองตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับแผ่นดินไทย แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า รัฐบาลทหารพม่ามีปัญหารบราฆ่าฟันอย่างหนักกับทั้งประชาชนของตนเองและกับชนกลุ่มน้อยทุกรัฐในประเทศพม่า จนแทบไม่มีการจัดการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือความเจริญใดๆ ในแผ่นดินตัวเอง ยิ่งตะนาวศรีเป็นเมืองไกลลิบจากเมืองหลวงย่างกุ้งในวันวาน กับเนปิดอว์ในวันนี้ ตะนาวศรีจึงแทบจะถูกแช่แข็งเอาไว้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษออกไปจากแผ่นดินพม่าเมื่อร่วม 70 ปีก่อนแล้วก็ว่าได้

บ้านเมืองตะนาวศรีที่อยู่ประชิดชายแดนไทย แต่คนไทยกลับแทบไม่รู้จักกันเลย เพื่อนดิฉันบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเมืองนี้อยู่ในโลกด้วย นึกว่าเป็นเพียงชื่อเทือกเขาตะนาวศรีที่รู้จักมาจากตำราภูมิศาสตร์สมัยเด็ก แต่ในปัจจุบันตะนาวศรีกำลังเผยโฉมสู่ประชาคมชาวโลก ถนนหนทางจากด่านสิงขรฝั่งไทยได้รับการก่อสร้างปรับปรุงเป็นทางที่ราดยางอย่างดี เดินทางสะดวกสบายใช้เวลาน้อยกว่าในวันวานหลายชั่วโมง

ในการเดินทางเข้าไปเยี่ยมเยือนเมืองตะนาวศรีครั้งนี้ ดิฉันได้สัญจรไปกับคุณพ่อคือ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว และครูที่เคารพยิ่ง คือ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ท่านเป็นครูของชาวนาไทยทั้งประเทศ มีความเชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยในเรื่องข้าว และมีความรู้หลากหลายนานาในเรื่องพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ พืชพันธุ์พื้นบ้าน

คุณพ่อดิฉัน มุ่งหวังจะไปสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนไทยในตะนาวศรี ส่วนอาจารย์เดชาได้ตั้งใจจะไปดูพืชพันธุ์พื้นเมือง ข้าวพื้นเมืองของตะนาวศรี และนั่นทำให้อาจารย์เดชา ได้ไปค้นพบพืชพันธุ์สำคัญที่อยู่กลางดงสวนหมาก ในยามล่องเรือผ่านไปตามลำน้ำตะนาวศรี และสองฟากฝั่งน้ำ เหนือยอดหมากสูงระหง ที่โผล่แทรกมาเป็นระยะให้ได้เห็น คะเนด้วยสายตาและภายหลังอาจารย์เดชาได้กลับเข้าไปยังเมืองมะริด ตะนาวศรี อีกครั้ง ต้นไม้สำคัญพันธุ์ดียอดเยี่ยมจำนวนเป็นแสนต้นที่ชาวบ้านตะนาวศรี-มะริด ปลูกกันไว้ แต่ไม่เคยมีใครใส่ใจหรือกล่าวถึง นั้นคือ ทุเรียน!

ทุเรียนมีถิ่นกำเนิดในเขตบอร์เนียว สุมาตรา ชื่อของทุเรียนเป็นภาษาพื้นเมืองมาเลย์-อินโดนีเซีย แปลว่า “ผลไม้ที่มีหนาม” ทุเรียนได้รับการแพร่พันธุ์ขึ้นมาทางภาคใต้ของไทย และชาวสวนภาคกลางของไทยได้คัดพันธุ์ จนเป็นสายพันธุ์เฉพาะทั้งหมอนทอง ชะนี ก้านยาว ฯลฯ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งต้องตัดลงมาบ่มถึงจะกินได้รสชาติ แต่ทุเรียนที่เมืองตะนาวศรีนั้น เป็นเหมือนทุเรียนพื้นเมืองภาคใต้ ที่ต้องปล่อยให้สุกจัดคาต้นแล้วร่วงลงมา

คนตะนาวศรีปลูกทุเรียนมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่เดิมคนตะนาวศรีส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติไทย ถูกเกณฑ์มา อพยพมาจากกระบี่ พังงา ชุมพร นครศรีธรรมราช พวกเขายังรำโนรา มีพิธีกรรมบูชาโนราโรงครูกันอยู่ และใกล้ชิดมากไปมาหาสู่กับเครือญาติในเขตจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพวกชาวสวนตะนาวศรีนี้เอง ที่ปลูกทุเรียนแซมอยู่กับสวนหมาก มีให้เห็นทั่วไปตลอดสองฟากฝั่งน้ำตะนาวศรี

ในวันล่องเรือไปตามลำน้ำตะนาวศรี ดิฉันได้เห็นว่ามีต้นทุเรียนโผล่พ้นยอดหมากอยู่มากจริงๆ ขนาบสวนหมากไปทั่ว และได้ทราบมาว่าอาจารย์เดชา กับ ทม ลูกศิษย์ทางด้านการเกษตร ได้เข้าไปสำรวจพืชพันธุ์ทุเรียน จำปาดะ ที่มะริดกับตะนาวศรีอีกครั้งอย่างจริงจังในช่วงกลางปี พ.ศ. 2561 และอาจารย์เดชาได้บอกกล่าวเรื่องของทุเรียนมะริด-ตะนาวศรี ไว้ดังนี้

“ที่ผมได้ทดลองกินดู ทั้งทุเรียนมะริดกับตะนาวศรี ผมว่ารสชาติทุเรียนมะริดน่าจะดีกว่าของตะนาวศรีนะครับ ขนาดทุเรียน 2 เมืองนี้ดูจะพอๆ กัน ไม่ต่างกันนัก แต่ตอนเราชิมความอร่อย เราดูเป็นเปอร์เซ็นต์ ทางมะริดเปอร์เซ็นต์อร่อยจะเยอะกว่าตะนาวศรี

รสชาติทุเรียนที่อร่อยนั้นพิจารณาจาก 1. เนื้อทุเรียนต้องละเอียด เนื้อหยาบไม่อร่อย ทุเรียนพื้นบ้านลูกเล็กอยู่แล้ว ถ้าเนื้อหยาบจะแย่ไปใหญ่ 2. รสชาติทุเรียนต้องเข้มข้นในความมันความหวาน ไม่ใช่จืดๆ ชืดๆ แต่ต้องมันหวานและกลิ่นต้องดี บางทีเห็นสีแล้วรู้เลยว่าเนื้อละเอียดแบบนี้มันน่าจะอร่อยนะ ทุเรียนอร่อยนี่กินดูแล้วเหมือนซึมลึกเข้าไปในลิ้น มันละเอียดขนาดนั้นไม่ต้องไปย่อยเลย แต่พร้อมที่จะซึมเข้าลิ้นได้อย่างเข้มข้นนิ่มนวล คุณภาพแบบนี้มันต่างกันมากกับทุเรียนที่พัฒนาแล้ว พวกที่พัฒนามาแล้วเรามักเจอชนิดมีแต่ปริมาณส่วนคุณภาพไม่ถึงขนาดทุเรียนพื้นบ้านที่อร่อยสุดยอด เราเคยกินกันมาแต่ทุเรียนแพ็กโฟมที่เนื้อเยอะๆ แต่รสชาติไม่เข้มข้น หรือแบบว่าไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รสได้ชาติ ไม่ได้ความละเอียดแบบนั้น คุณภาพของทุเรียนมะริดทุเรียนตะนาวศรีที่ไปกินถือได้ว่าอร่อยอย่างมาก ต่างเพียงแต่ว่าเม็ดมันอาจจะใหญ่กว่า หรือเนื้ออาจจะน้อยเสียจนดูไม่ค่อยสวย แต่คุณภาพเนื้อจริงๆ นี้ดียอดเยี่ยมมาก เพียงว่าแต่ละต้นคุณภาพไม่เหมือนกัน คือมันหลากหลาย อร่อยแบบนี้ อร่อยแบบนั้น มีหลายแบบมาก แล้วแต่คนชอบด้วย

เฉลี่ยแล้ว ผมเห็นว่า ทุเรียนตะนาวศรี ดีกว่าทุเรียนภาคใต้ ทางภาคใต้ ที่เคยไปสำรวจมา นานๆ จะเจอลูกดีสักครั้ง ทางใต้บ้านเราปลูกยาวนานเป็นร้อยๆ ปี ต้นสูงใหญ่ทั้งนั้น คงอยู่มานานมาก แต่ทางตะนาวศรีที่ได้เห็นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีต้นสูงใหญ่มากๆ แสดงว่าอายุยังไม่ยืนมาก แต่จำนวนต้นนั้นมีปริมาณมากกว่าทางภาคใต้เยอะ

ทุเรียนพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะ คือ สุกพอดีแล้วจะร่วงมา คนเก็บไปกินต้นไหนอร่อย ก็เอาต้นนั้นไปปลูกต่อ ทุเรียนตะนาวศรีมีลักษณะแบบนี้ สุกพอดีถึงหล่นลงมา ผมคนกินทุเรียน มาได้กินทุเรียนตะนาวศรี รู้เลยว่ารสดี เนื้อเนียนละเอียด หอมมาก ได้กินแล้วยังชอบเลย ยิ่งคนตะนาวศรีปลูกแซมไปกับสวนหมาก มีเป็นหมื่นๆ ต้นอย่างนี้ ต่อไปจะพัฒนาเป็นสินค้าสำคัญของชุมชนได้ มีอยู่เป็นหมื่นต้นแบบนี้ ขายได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ปัญหาของทางตะนาวศรีในขณะนี้คือ ยังไม่ได้มีการคัดเลือก ยังไม่รู้ว่าต้นไหนอร่อยจริง มันอยู่ปนๆ กันไปหมด แล้วการคัดเลือกคัดพันธุ์ ไม่ใช่เอาแค่อร่อยอย่างเดียว แต่ต้องลูกใหญ่พอสมควรด้วย ไม่ใช่ลูกเล็กนิดเดียวแบบนั้นใช้ไม่ได้

ตะนาวศรี มีทุเรียนเป็นจำนวนมาก โอกาสคัดพันธุ์ทำได้สูง เมื่อคัดได้แล้วต้องขยายพันธุ์ให้มากพอสมควร ไม่ใช่มีต้นเดียวเจ้าของหวงเก็บไว้กินเอง จึงต้องหาต้นอร่อยให้เจอ แล้วมาขยายให้ได้เยอะๆ จะทำการตลาดได้ ยิ่งเป็นตลาดท้องถิ่นยิ่งดีใหญ่เพราะมันมีเฉพาะที่มะริด-ตะนาวศรี เป็นพันธุ์เฉพาะที่แห่งนี้ ใครจะกินต้องมากินที่นี่ แบบนี้แหละ นักท่องเที่ยวจะแห่กันเข้ามากินทุเรียนตะนาวศรี เพราะไปหากินที่อื่นไม่ได้

และความจริงแม้จะเอาต้นแม่พันธุ์จากตะนาวศรีไปขยายพันธุ์ ไปปลูกที่อื่น รสชาติจะไม่เหมือนปลูกที่แผ่นดินแม่ รสชาติไม่มีทางเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะว่าทุเรียนพอย้ายที่ปลูกรสชาติจะเปลี่ยนไป จะดีขึ้นหรือแย่ลงไม่รู้นะ มันปรับไปตามสภาพ เมืองไทย มีตัวอย่างให้เห็น ทุเรียนหมอนทองป่าละอูกับหมอนทองภาคกลาง กับหมอนทองศรีสะเกษ ก็คนละหมอนทองกัน ดินฟ้า อากาศ อุณหภูมิไม่เหมือนกัน ให้ผลต่างกัน หลากหลายไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทีนี้ก็ขึ้นกับว่าแล้วแต่ใครจะชอบแบบไหน ถ้าทุเรียนตะนาวศรี ของแท้ต้องกินรสชาตินี้ ต้องมาที่ตะนาวศรีเท่านั้น เอาไปปลูกที่อื่นรสชาติเปลี่ยนไปแน่ ของมะริดก็เช่นเดียวกัน ทุเรียนมะริดของแท้ต้องมากินที่มะริด เราต้องคัดพันธุ์ เอาชนิดที่คนชอบ เอาตามรสนิยมคน ถ้าจะขายคนจีนก็ให้คนจีนมาคัด ถ้าจะขายเกาหลีก็ให้เกาหลีคัด มาชิมมาเลือกไว้เป็นแม่พันธุ์เองเลย ถ้าจะให้ไทยชอบก็ให้คนไทยมาคัด เสร็จแล้วถ้าชอบแน่ก็ขยายพันธุ์ให้ได้มากๆ ทำวิธีนี้จะเป็นสินค้าหลักขึ้นมาได้” อาจารย์เดชา อธิบายเห็นภาพชัด

ได้รับความรู้เรื่องการคัดพันธุ์ให้ได้รสชาติตามที่ชอบๆ แล้ว ดิฉันสงสัยนักว่า แล้วถ้าเอาเม็ดทุเรียนตะนาวศรีมาปลูกที่ฝั่งไทย รสชาติจะเหมือนเดิมไหม?

กับประเด็นนี้ อาจารย์เดชา ให้คำตอบในทันทีว่า

“ไม่เหมือนหรอกครับ ใช้เม็ดเพาะก็เริ่มกลายพันธุ์แล้ว ถึงจะดีกว่าเดิมแต่มันไม่เหมือนเดิมหรอกครับ ยิ่งเปลี่ยนสภาพแวดล้อมยิ่งไปใหญ่ เพียงแต่ว่ามันจะเป็นพันธุ์ใหม่ที่อาจจะดีก็ได้ แต่แค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราจึงต้องเอาเม็ดมาเพาะเป็นปริมาณมากๆ และต้องรอนานเป็นสิบปีจนกว่าจะรู้ผลที่ปรากฏออกมา ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือขยายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในพื้นที่ตะนาวศรีเองนั้นแหละ เราต้องไปสำรวจ ไปเลือกเอาว่ามีกี่พันต้น กี่ร้อยต้นที่อร่อยเลือกกันเอาเลย เอาต้นที่ให้ผลอร่อยคุณภาพดี มาทดสอบกับคนมากๆ ว่าชอบแบบไหน ต้นไหน ถ้าจะคัดพันธุ์เพื่อขายก็ต้องทำวิธีนี้ เอาเสียงส่วนใหญ่ของคนที่ได้ชิมเป็นหลัก พอรู้ว่าพันธุ์นี้คนชอบมาก ก็ขยายพันธุ์นั้นออกไป จะทำให้มีตลาดแน่นอนอยู่แล้ว”

เมื่อถามถึงหนทางในการพัฒนาพันธุ์ทุเรียนมะริด-ตะนาวศรี อาจารย์เดชา บอก

“ผมมีความเห็นว่า การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนมะริด-ตะนาวศรีสามารถทำได้ครับ และควรจะทำด้วย ประการแรกคือ ต้องไปสำรวจและไปทำข้อมูลว่าพันธุ์ไหนดีไม่ดี รสชาติเป็นยังไง สีเป็นแบบไหน และก็เอามาคัดเลือกอีกทีหนึ่ง จะเอากิ่งมาก็ได้ เอามาขยายได้ด้วยวิธีเพาะเนื้อเยื่อ หรือถ้าเอาเม็ดมา ก็ต้องมาปรับปรุงพันธุ์ เอาเม็ดมาแต่เฉพาะต้นรสชาติดีนะ ต้องเอามาอย่างน้อยต้นละ 20 เม็ด ถึงจะได้เม็ดดี 1 เม็ด เมื่อเพาะแล้วก็เอาไปติดกับต้น แค่ 1-2 ปี ก็รู้ผลแล้ว ไม่ต้องไปรอถึง 10 ปี แต่การเอาเม็ดพันธุ์ข้ามชายแดนมายังผิดกฎหมาย จึงน่าจะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ ที่จะทำร่วมกัน ทางไทยมีความรู้มีผู้เชี่ยวชาญ ทางตะนาวศรีมีต้นแม่พันธุ์ จริงๆ ที่มะริดตะนาวศรีนี่เป็นแหล่งขุมทรัพย์เลยนะ เท่าที่เราประเมินจากการลงสำรวจพื้นที่ พบว่ามีทุเรียนเป็นแสนต้น ถ้าสมมติดีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดก็ได้ต้นดีถึง 5,000-6,000 ต้นเข้าไปแล้ว และยังมีจำปาดะอีก จำปาดะมีมากกว่าทุเรียนซะอีก เป็นจำปาดะพันธุ์ดี พันธุ์พื้นเมือง คนปลูกทุเรียนและจำปาดะที่ตะนาวศรีเป็นคนไทยตะนาวศรี หมู่บ้านสิงขรกับหมู่บ้านคนไทยอื่นๆ ปลูกกันมาก ถ้าจะไปสำรวจอย่างจริงจังต้องเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านคนไทย คนที่ปลูกทุเรียนไว้นั้นแหละ”

แล้วคิดว่าทุเรียนตะนาวศรีจะอยู่ได้อีกยาวไหม ได้คำตอบกับประเด็นนี้ว่า

“ถ้าคนไม่รักษาก็หมดนะครับ ถ้าเอาพื้นที่ไปปลูกสวนยางสวนปาล์มเจ๊งหมด อย่างที่เห็นตอนเดินทางเข้าไปในเมืองตะนาวศรีนั้นแหละ ปัญหาเช่นนี้เราควบคุมไม่ได้ เพราะนายทุนเขาไม่ต้องการอะไรหรอกนอกจากที่ดิน เขาต้องการแค่ที่ดิน เขาซื้อที่ดินมาแล้วทำแค่ปลูกๆ สวนปาล์มไปเป็นแสนไร่ พอต้องการแค่ที่ดินต้นไม้อื่นเขาก็ไม่สนใจ ตัดทิ้งไปได้เฉยๆ เจอแบบนี้ยังไงก็หมด วิธีที่ดีคือต้องไปรวบรวมทุเรียน จำปาดะ เอาไว้ก่อนไม่ให้สูญพันธุ์ ถ้านายทุนตัดทิ้งไปก็ไม่สูญเพราะต้นพันธุ์อยู่ที่เราแล้ว แบบนี้คือการอนุรักษ์ อย่าให้มันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตรงนี้แหละที่คนไทยจะช่วยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางมะริด-ตะนาวศรีได้ คนไทยเรามีประสบการณ์มาก่อน ประสบการณ์เรามีตั้งแต่ว่าเราคัดพันธุ์โบราณมาหลายร้อยปีจนกลายเป็นพันธุ์ที่ดีได้

แบบทุเรียนหลงลับแล เราคัดพันธุ์ก็ทำเป็น ทำคล่อง หรือจะขยายพันธุ์ก็ทำมาชำนาญมาก แบบไหนก็ได้ชาวสวนไทยทำได้หมด การอนุรักษ์ทำอย่างไร เราก็ทำมาเต็มที่ มีประสบการณ์มาเต็มที่ และการถูกทำลายพันธุ์พื้นเมือง-ไทยก็โดนมาเต็มที่ ให้ได้เห็นว่าไทยพบปัญหามาแบบนี้ แก้ปัญหากันมาแบบนี้ อีกหน่อยสิ่งเหล่านี้จะเกิดกับพม่า ไทยเราจึงต้องเป็นคนเริ่มก่อน ให้ประสบการณ์ของเรามีประโยชน์กับตะนาวศรี คนตะนาวศรีไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่มีอยู่ในแผ่นดินเขาตอนนี้มันมีค่ามากแค่ไหน เขาไม่รู้ มันมีเฉพาะที่ตรงนั้น เราสามารถแนะนำเขาได้ เพื่อมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องอยู่อย่างพึ่งพากันแบบนี้ ถ้าไม่เอามาใช้เลยจะสูญไปด้วย นี่เป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กันระหว่างไทยกับพม่า ของมีค่าแบบนี้ถ้าไม่รักษาจะสูญไปเร็ว เพราะคนไม่รู้คุณค่าก็จะไปทำลาย ยิ่งยุคนี้แล้วการทำลายให้สิ้นสูญพังพินาศจะเกิดได้เร็วมาก ไม่ช้าเหมือนสมัยก่อน” อาจารย์เดชา บอก

ก่อนทิ้งท้ายจริงจัง

“ประสบการณ์จากสิ่งที่ไทยพบเจอมา ถูกทำลายมา และได้แก้ปัญหาอนุรักษ์บำรุงรักษามา จะเป็นประโยชน์มากกับทางตะนาวศรี”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0