โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ : ผู้วางรากฐานสังคมไทยสมัยใหม่

Money2Know

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2562 เวลา 06.49 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ : ผู้วางรากฐานสังคมไทยสมัยใหม่

การถึงแก่อสัญกรรมของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นับว่าเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อสังคมไทยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ อาจกล่าวได้ว่าพล.อ.เปรม เป็นผู้วางรากฐานให้กับการพัฒนาสังคมไทยสมัยใหม่

พล.อ.เปรม เริ่มต้นชีวิตการเมืองตั้งแต่ปี 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วงปี 2511 – 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร การเข้ามาสู่วงจรทางการเมืองของพล.อ.เปรม ก็เช่นเดียวกับนายทหารจำนวนมากที่เข้ามามีบทบาทในยุครัฐบาลทหาร นับตั้งแต่นั้นมา พล.อ.เปรม เข้ามีส่วนร่วมและมีบทบาทในเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนถึงยุคประชาธิปไตย

พลเอกเปรมเคยเข้าร่วมรัฐประหาร 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

พลเอกเปรม เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในช่วงนั้น การเมืองเผชิญกับเสถียรภาพทางการเมืองมาโดยตลอด จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมตั้งแต่ 14 ต.ค. 2516 และ การเผชิญกับความแตกแยกในสังคมจากการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อีกทั้งคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมเริ่มเรียกร้องต้องการเข้ามีบทบาทในการตัดสินใจทิศทางของประเทศ

แต่จากสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอกเปรมในการบริหารประเทศได้มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากเหล่าทัพมักจะมุ่งดูแลเรื่องเสถียรภาพการเมือง

นอกจากนโยบายที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ จากนโยบายการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้วยนโยบายการ “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง เมื่อผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ กลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"

หลังจากพล.อ.เปรม เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการวางนโยบายหลายอย่าง ที่เป็นรากฐานจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเริ่มนโยบายแก้ปัญหาความยากจน การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ การสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ จนทำให้เศรษฐกิจไทยเปิดกว้างรับการลงทุนจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลพล.อ.เปรม ก็ถือเป็นครั้งแรกที่มีการระดมสมองครั้งใหญ่จากบรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมาวางแผนพัฒนาประเทศ

ผลงานด้านการพัฒนาประเทศที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ คือ โครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ และเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่โครงการเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นการสานต่อนโยบายตั้งแต่สมัยพล.อ.เปรม ซึ่งหยุดชะงักมานานหลายสิบปี

สมัยพล.อ.เปรม ก็เป็นรัฐบาลแรกที่เริ่มใช้นโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นั่นคือ การประกาศลดค่าเงินบาท ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยพุ่งขึ้นและพยุงเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับภาคส่งออกกระเตื้องขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นไปอย่างกว้างขวางในสมัยพล.อ.เปรม จากการเร่งก่อสร้างถนนทั่วประเทศ แม้แต่เปิดสัมปทานให้เอกชน

แม้แต่ทางด่วนสายแรกก็เกิดขึ้นในสมัยพล.อ.เปรม ด้วยการจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ

ในช่วงสมัยพล.อ.เปรมนับว่าสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดสมัยหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ทางด้านการเมืองยังวนเวียนในเรื่องการรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง การคอรัปชัน เหมือนกับการเมืองไทยทุกวันนี้

พล.อ.เปรม ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 8 ปี ตั้งแต่ปี 2523-2531

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0