โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พลิกวิกฤต นากุ้งร้างเป็นบ่อเลี้ยงปลานิล สร้างรายได้ สู่วิถีชีวิตใหม่

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 30 มี.ค. 2565 เวลา 09.15 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2565 เวลา 02.41 น.
P8

จากอดีตที่ผ่านมา ชาวปากพนังส่วนใหญ่ประกอบอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือการทำนา แต่มีรายได้น้อย จึงเปลี่ยนมาทำนากุ้งที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ทุกพื้นที่ของอำเภอปากพนัง มองไปทางไหนก็จะสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากบ่อกุ้ง แต่ไม่นานก็มีอันล่มสลายเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ส่งผลให้นากุ้งนับแสนไร่กลายเป็นนากุ้งร้าง

พื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรหันมาทำนากุ้งกันเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจอปัญหาโรคกุ้งและสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงกุ้ง ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ต้องหยุดเลี้ยงกุ้งในที่สุด ภายหลังจากการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ (ประตูน้ำปากพนัง) เสร็จสมบูรณ์ บ่อกุ้งที่เคยปล่อยทิ้งร้างจึงถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เข้ามาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด

กศน.อำเภอปากพนัง ช่วยพลิกฟื้นนากุ้งร้าง

คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอปากพนัง ได้ให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นนากุ้งร้าง จึงมอบหมายให้ คุณโศภิษฐา มาศแสวง ครูกศน.ตำบลปากแพรก จัดทำเวทีประชาคมเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนพบว่า ปัญหาเรื่องความอยากจน เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข สำหรับชาวบ้านที่ได้รับการกระทบจากปัญหานากุ้งร้าง รองลงมาคือ ปัญหาหนี้สิน และปัญหาการว่างงาน กศน. ได้จัดกลุ่มชาวบ้านพูดคุยกันถึงแนวทางสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้มีพออยู่พอกิน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นหลักในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการมองสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวและเป็นต้นทุนที่มีอยู่เดิม

บ่อกุ้งร้างจำนวนมากของชุมชนแห่งนี้ ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งในลักษณะ “การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด” ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานประมงอำเภอปากพนัง กศน.อำเภอปากพนัง ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเรื่องพันธุ์ปลาและความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาเป็นอย่างดี”

อาชีพเพาะเลี้ยงปลานิล บ้านบางพระ

ปลานิล เป็นปลาที่มีเนื้อมากและมีรสชาติดี สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น ทำเป็นปลาเค็มตากแห้งแบบปลาสลิด ปลากรอบ ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อมหรือปลาส้ม และทำน้ำยาขนมจีนซึ่งเป็นอาหารที่นิยมของคนปักษ์ใต้ได้ดีเท่ากับเนื้อปลาช่อน นอกจากนี้ ปลานิลยังเลี้ยงง่าย หาพันธุ์ได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีคำกล่าวว่า “คนจนก็เลี้ยงปลานิลได้” เพราะการเลี้ยงปลานิลโดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเนื่องจากปลานิลเป็นปลากินพืช แค่นำปุ๋ยมาใส่ในบ่อจะทำให้เกิดแพลงก์ตอนหรือไรน้ำ ถ้าเกษตรกรขยันทำปุ๋ยหมักใช้เองหรือเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปก็จะประหยัด ผู้เลี้ยงจะไม่เดือดร้อนหากราคาปลาตกต่ำ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังปลูกผักบุ้งแก้ว ทำนาในบ่อกุ้ง ปลูกผักสวนครัวบนคันนากุ้ง สามารถช่วยสร้างอาชีพใหม่แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

คุณไมตรี สกุณา ประธานกลุ่มเลี้ยงปลานิล เล่าให้ฟังว่า ตนเองประสบปัญหาขาดทุนจากการทำนากุ้ง และต้องการนำนากุ้งร้างมาใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม โดยการเลี้ยงปลานิล เริ่มจากปรับสภาพบ่อให้เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาน้ำจืด เนื่องจากมีบ่อเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ทำความสะอาดบ่อโดยการขุดลอกบ่อ นำดินโคลนที่อยู่ในบ่อออก นำปูนขาวโรย ตากแดดทิ้งไว้ ประมาณ 1 เดือน จึงค่อยปล่อยน้ำเข้าและปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก่อน นำลูกปลาที่เตรียมไว้ลงมาอนุบาลในกระชังภายในบ่อเพาะเลี้ยง ประมาณ 10-15 วัน จนลูกปลาแข็งแรงพอที่จะปล่อยลงบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อให้หาอาหารจากธรรมชาติ

จากการเลี้ยงปลานิลดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่เริ่มเห็นทางรอดและทำอย่างจริงจัง มีการรวมกลุ่มการเลี้ยงปลานิลบ้านบางพระ จำนวน 48 คน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มอย่างเป็นระบบ โดยมี คุณไมตรี สกุณา คุณเสริมสุข กระศัลย์ คุณพัชรี เสือคำ และมีผู้ใหญ่บ้าน คุณชิราวุธ ฝอยทอง เป็นแกนหลักของกลุ่ม

เทคนิคการเลี้ยงปลานิลให้ประสบผลสำเร็จ

เทคนิคการเลี้ยงปลานิลให้ประสบผลสำเร็จ เกิดจากปรับสภาพบ่อให้เหมาะสมที่จะใช้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เริ่มจากทำความสะอาดบ่อโดยการขุดลอกบ่อ นำดินโคลนที่อยู่ในบ่อออก นำปูขาวโรย ตากแดดทิ้งไว้ ประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็เริ่มปล่อยน้ำเข้าและปล่อยทิ้งไว้อีกสักระยะหนึ่งก่อนจะนำลูกปลาที่เตรียมไว้ลงมาอนุบาลในกระชังภายในบ่อเพาะเลี้ยง ประมาณ 10-15 วัน จนลูกปลาแข็งแรงพอที่จะปล่อยลงบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อให้หาอาหารจากธรรมชาติ ขนาดบ่อเพาะเลี้ยงจะมีความกว้าง ยาว ลึก ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละพื้นที่ แต่โดยรวมแล้ว บ่อที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงกันทั่วไปจะกินเนื้อที่ประมาณ 3-4 ไร่

ส่วนอัตราการปล่อยลูกปลานิลลงไปเลี้ยงในแต่ละบ่อ โดยทั่วไปเกษตรกรจะปล่อยปลาไม่เกิน 5,000 ตัวต่อบ่อ อัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ ระวังไม่ปล่อยปลามากจนเกินไป เพราะหากจำนวนปลาหนาแน่น จะทำให้ปลาโตช้า เพราะแย่งอาหารกัน และทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปลานิลกินอาหารได้ทุกชนิดและให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะพวกอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในบ่อ ตลอดจนสาหร่ายและแหน

หากต้องการให้ปลาโตเร็วควรให้อาหารเสริมประเภท รำปลายข้าว กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากมะพร้าว กล้วยน้ำว้า แหนเป็ด และปลาป่น เป็นต้น การให้อาหารแต่ละครั้งไม่ควรให้ปริมาณมากจนเกินไป ควรกะให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของปลาเท่านั้น ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราวร้อยละ 5  ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้อาหารมากเกินไปปลาจะกินไม่หมด เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์  และยังทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายแก่ปลาได้

คุณไมตรี บอกว่า หากใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ควรให้ตามช่วงอายุ สำหรับปลาช่วงอนุบาลต้องใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป เบอร์ 1 ต่อเนื่องกัน 20 วันก่อน จะเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป เบอร์ 2 และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป เบอร์ 3 โดยจะให้อาหารวันละ 2 เวลา คือ ช่วงเวลาเช้าและเย็นของทุกวัน” (ช่วงเดือนที่ 3 ก่อนจับขายประมาณ 15-20 วัน จะให้วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากต้องขุนปลาให้มีน้ำหนักเต็มที่)

บ่อที่เลี้ยงปลานิลควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อสะดวกในการจับ เนื้อที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาหารที่ให้ใช้เศษอาหารจากโรงครัว ปุ๋ยคอก อาหารสมทบอื่นๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แหนเป็ด สาหร่าย เศษพืชผักต่างๆ ปริมาณปลาที่ผลิตได้ก็เพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัว

การเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน

ปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินแบ่งตามลักษณะของการเลี้ยง มีการเลี้ยงปลานิลแบบเดี่ยว โดยปล่อยลูกปลาขนาดเท่ากันลงเลี้ยงพร้อมกัน ใช้เวลาเลี้ยง 6-12 เดือน แล้ววิดจับหมดทั้งบ่อ และการเลี้ยงปลานิลหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน โดยใช้อวนจับปลาใหญ่ คัดเฉพาะขนาดปลาที่ตลาดต้องการจำหน่ายและปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเจริญเติบโตต่อไป

ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลในบ่อ ควรกำจัดวัชพืชและพรรณไม้ต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวาให้หมด โดยนำมากองสุมไว้ เมื่อแห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมัก ในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยงถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุดหรือใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผักผลไม้บริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่นด้วย ศัตรูของปลานิล ได้แก่ ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ ก็มีสัตว์พวกกบ งู เขียด เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่จะปล่อยปลานิลลงเลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูดังกล่าวเสียก่อน โดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด

ปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด จึงเป็นปลาที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะพวกอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในบ่อ ตลอดจนสาหร่ายและแหน ถ้าต้องการให้ปลาโตเร็วควรให้อาหารสมทบ เช่น รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากมะพร้าว แหนเป็ดและปลาป่น เป็นต้น การให้อาหารแต่ละครั้งไม่ควรให้ปริมาณมากจนเกินไป ควรกะให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของปลาเท่านั้น ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราวร้อยละ 5 ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้อาหารมากเกินไปปลาจะกินไม่หมด เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายแก่ปลาได้

ปัญหาอุปสรรค

คุณไมตรี บอกว่า ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาโรคและสภาพอากาศ ซึ่งสำนักงานประมงอำเภอปากพนัง  กศน.อำเภอปากพนัง ก็จะมาช่วยดูแลแก้ไขปัญหา แต่ในเบื้องต้นนั้นตัวเกษตรกรจะแก้ไขปัญหาตัวเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ชาวบ้านมีการแบ่งปันองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเลี้ยงปลานิล เมื่อเจอปัญหาอุปสรรคจะร่วมกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน มีการทำบัญชีกลุ่มและบัญชีครัวเรือนเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมต้นทุนและรู้จักการออมเงิน

ด้านการตลาด

แม่ค้าจากจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และที่ต่างๆ แต่ละเดือนจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงหน้าบ่อ โดยน้ำหนักปลาที่ส่งขายอยู่ที่ตัวละ 800 กรัม ส่งขายในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งราคาซื้อ-ขายทางกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจะตกลงกับพ่อค้าแม่ค้าเอง โดยสมาชิกไม่ต้องจัดการขายตรงแต่ผ่านทางกลุ่มเท่านั้นทำให้เกิดการต่อรองราคาได้กลุ่มสามารถกำหนดราคาด้วยตนเอง แต่ละรอบที่เลี้ยงสามารถจับปลาขึ้นมาจำหน่ายได้มากถึง 3 ตันต่อบ่อ ซึ่งหากคิดรวมเป็นรายปีแล้วจะได้ประมาณ 20.2 ตันต่อราย นับว่าเป็นปริมาณที่มากระดับหนึ่งสำหรับการประกอบอาชีพใหม่ในชุมชน

คุณพนิดา เรืองดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มโซน และ คุณลำดวน คล้ายโสม ผู้ประสานตำบล ได้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและได้นำผลจากการติดตามมาวิเคราะห์ พร้อมร่วมหาแนวทางในการสนับสนุนกลุ่มการเลี้ยงปลานิลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและราบรื่น

คุณโศภิษฐา มาศแสวง ครู กศน.ตำบลปากแพรก มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กลุ่มเลี้ยงปลานิลและสมาชิกในชุมชนมีความรู้ที่แปลกใหม่จากวิทยากรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ให้อยู่ดีมีสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นโดยการพึ่งพาตนเองช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หนี้สินลดลง มีเงินออม ตลอดจนมีความรักความสามัคคีในชุมชนและเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก ร่วมคิดร่วมวางแผนร่วมดำเนินการร่วมแก้ปัญหาอย่างมีระบบ

ณ วันนี้ อาชีพเพาะเลี้ยงปลานิล บ้านบางพระ ได้พัฒนามาเลี้ยงในกระชัง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของอาหารและการจับ สำหรับท่านใดที่สนใจปลานิล กลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดบ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดต่อสอบถามราคาและข้อมูลได้ ที่ คุณไมตรี สกุณา โทรศัพท์ 087-886-5681

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0