โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พฤกษามาชงกัน จะเลือกดื่มด่ำเคลิ้มฝัน หรือสร้างผลิตภัณฑ์ดีเด่น

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 06.17 น.
19 พฤกษากัญชง

จาก “กัญชา” มา “กัญชง” ลงแปลงปลูก
คิดให้ถูก ปลูกอะไร ไปแดนสรวง
สูบกัญชา เคลิ้มฝัน นั้นสุขทรวง
ควันอมม่วง ลวงจิต ปลิดกังวล
ปลูก “กัญชง” ลงแปลง แรงงานเพิ่ม
จะได้เริ่ม ผลิตภัณฑ์ อันเกิดผล
ทอสายสิญจน์ พิธีการ งานมงคล
ส่งเบื้องบน สู่สวรรค์ นั้นเป็นบุญ
ทั้ง “กัญชง”-“กัญชา” มาเอ่ยอ้าง
โครงการสร้าง พืชรายได้ ใช้เกื้อหนุน
ข่าวชวนปลูก กัญชา มาสร้างทุน
ผลิตยาหมุน กัญชงตาม งามผลิตภัณฑ์

ด้วยกระแสการเสนอกฎหมายให้กัญชา และพืชกระท่อมทางการแพทย์ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ เนื่องจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบางบทบัญญัติบางประการไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับปรากฏผลการวิจัยว่า สารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก ได้แก้กฎหมายเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาส อนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรค และประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เนื่องจากพ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ห้ามเสพ หรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ซึ่งกำหนดโทษทั้งผู้เสพและครอบครอง

ประเทศไทย ถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการวิจัยปลายปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลเร่งปลดล็อคกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ และทาง “วิป สนช.” ก็คาดหวังว่าจะให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็น “ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน” ส่วนที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็มีนโยบายของบางพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนการปลูกกัญชาเป็นพืชรายได้ในครัวเรือน ภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมาย

อีกทั้งมีทีมนักวิจัยที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา แต่ได้เพียงในหลอดทดลองและกับสัตว์เท่านั้น ถ้าหากมีกฎหมายอนุญาตให้ทดลองกับมนุษย์ได้ ก็จะทำให้มีการค้นพบยาใหม่จากสารในกัญชา ซึ่งมีถึง 2 ชนิด ถ้าหากเป็นไปตามข้อเสนอปลดล็อคกฎหมาย ก็เชื่อว่าประเทศไทยก็จะไม่ต้องสูญเสียผลประโยชน์มูลค่านับแสนล้าน

“จากกัญชา มา “กัญชง” ลงแปลงปลูก” หลายคนอาจจะสับสนกับคำว่า “กัญชง” หากไม่เคยได้ยินมาก่อนก็คิดว่าเขียนคำผิด หรือสะกดสระอา เป็น ง (งู) แต่ด้วยข้อมูลเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าระดับมีชื่อดีเด่นในด้าน “สิ่งทอ” ทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปมากขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรม

หรือถ้าหากมีคนจะสืบสาวเล่าเรื่องในเชิงประเพณีวัฒนธรรม ก็คงจะต้องกล่าวถึง “ชาวม้ง กับกัญชง” เนื่องจากกัญชงเป็นพืชพื้นบ้านที่ชาวม้งสัมผัสตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะในชนเผ่าเชื่อกันว่า เป็นพืชที่เทพเจ้าประทานแก่ชาวม้ง โดยในภาษาม้ง เรียกกันว่า “หมั้ง” หรือ “ม่าง” เชื่อว่าเทพเจ้าสร้างโลกและสร้างมนุษย์ ได้ประทานพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช มาให้มนุษย์ได้ใช้เป็นปัจจัย 4 และใช้ในพิธีกรรม

โดยชาวม้งได้ลอกเปลือกกัญชงแล้วนำเส้นใยมาต่อกันเป็นเส้น ทำเป็นเส้นด้าย และเส้นเชือก รวมทั้งใช้สานเป็นรองเท้าของคนตาย เพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนทอผ้าเครื่องนุ่มห่ม โดยเฉพาะในพิธีอัวเน้ง หรือพีเข้าทรง

กัญชง เป็นพืชที่มีเส้นใยเหนียว เหมาะที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจจะเคยได้ยินคำว่า “เฮมพ์” (hemp) ในแวดวงวิชาการก็คือ กัญชงที่เรากำลังกล่าวถึงนั่นเอง ถิ่นกำเนิดมาจากอินเดีย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย พบว่า มีมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ผลิตเฮมพ์ในเชิงอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศจีน แคนาดา และสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา

ในประเทศไทย เฮมพ์ หรือ กัญชง เป็นพืชที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิต และวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาเผ่าม้งมานานแล้ว และการที่มีการปลูกการใช้เส้นใยอยู่ในแวดวงจำกัด เนื่องจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กำหนดให้เฮมพ์เป็นพืชเสพติดประเภท 5 ตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งก็มีบทบาทลักษณะเดียวกับกัญชา พืชกระท่อมและฝิ่น จึงทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายสำหรับประชาชนทั่วไป

ในปี 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ มีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกเฮมพ์ เพื่อใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากงานหัตถกรรม ขณะเดียวกัน มูลนิธิโครงการหลวงได้เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญ จึงได้ศึกษารวบรวมเมล็ดพันธุ์เฮมพ์ในพื้นที่โครงการหลวงนำมาทดลองปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ 1 มีนาคม 2548 หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการพัฒนาและส่งเสริมเฮมพ์ ให้ผลิตเป็นรายได้เสริมแก่เกษตรกรรายย่อยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการศึกษา หน่วยงานทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้อง มีมติโดยเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์ บนพื้นที่สูงภาคเหนือ ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2553-2557 เพื่อให้เป็นที่นำร่องในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

โดยเกษตรกรจะใช้พันธุ์เฮมพ์ที่เก็บไว้ใช้ปลูกเอง หลายสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือก มีสารเสพติดต่ำ แต่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์วี 50 พันธุ์ปางอุ๋ง พันธุ์แม่สาใหม่ และพันธุ์ห้วยหอย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและฝึกอบรม 500 ราย พัฒนาผืนผ้า นอกจากเฮมพ์หลากหลายลวดลาย

รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรในการลอกเปลือกในการผลิตเส้นใยเฮมพ์ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อผ้า หมวก ผ้าเช็ดตัว ผืนผ้า รองเท้า กระเป๋า วัสดุแทนสิ่งทอ เสื้อเกราะกันกระสุน ทำกระดาน หรือบอร์ด กระดาษ กระเป๋าเดินทาง โครงสร้างประกอบงานก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อน แกนของต้นเฮมพ์ซึ่งลอกเปลือกออกแล้วมีความแข็งแรง มีรูพรุนภายในระบายอากาศได้ดี สามารถนำไปดัดแปลงแปรรูปต่างๆ ได้มากมาย

ในด้านเทคโนโลยีโครงสร้างอาคาร เฮมพ์ก็ยังมีบทบาทเข้ามาเป็นส่วนผสมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ โดยมีข้อมูลนำเสนอจาก คุณชลธิชา ศรีอุบล เขียนไว้ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 685 วันที่ 15 ธันวาคม 2561 เรื่อง “บล็อกก่อสร้างมวลเบา จากต้นกัญชง มทร.ธัญบุรี” ซึ่งขอสรุปให้เห็นบทบาทของเฮมพ์ ที่กำลังเข้ามาเกี่ยวข้องในงานการใช้เทคโนโลยีด้านนี้

ซึ่งกล่าวว่า “เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก บล็อกก่อสร้างชีวภาพมวลเบาจากต้นกัญชง” เป็นงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี น้ำหนักเบากว่าบล็อกก่อสร้างทั่วไป ลดต้นทุนการผลิตต่ำ ใช้งานได้จริง การันตีด้วยรางวัลจากเวทีโลก รางวัล Bronze Medal ในงาน “45th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส รางวัล Gold Prize กับ Special Prize ในงาน “Seoul International Invention Fair 2017” (SIIF 2017) ณ COEK กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

บทบาทในเชิงแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือการนำไปใช้ประโยชน์จากต้นกัญชงที่ได้รับการส่งเสริมจากเหตุผลอีกหลายประการ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่า ต้นเศษกัญชงที่เหลือทิ้งจากกระบวนการ นำเปลือกไปทำเป็นเส้นใย โดยลอกเส้นใย ใช้เป็นสิ่งทอทำเสื้อผ้า ซึ่งเมื่อลอกผิวจะเหลือแกน ถ้าหากนำแกนไปทิ้ง หรือปล่อยให้เน่าเปื่อย หรือทำเป็นวัสดุเหลือใช้

การยาสูบแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง จึงมีโจทย์ต้องการพัฒนานวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ และการยาสูบแห่งประเทศไทยยังต้องการนำวัสดุก่อสร้างที่ได้จากการวิจัยมาสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นศูนย์การให้ความรู้เกี่ยวกับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อันนำมาซึ่งการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกต้นกัญชงเพื่อสร้างรายได้ทดแทน การปลูกใบยาสูบซึ่งต้องลดปริมาณลง ตามนโยบาย “ส่งเสริมการเลิกบุหรี่”

จุดเด่นของ “เฮมพ์-ไบโอ-บล็อก” มีน้ำหนักเบา ใช้เป็นวัสดุฉนวนความร้อน และฉนวนกันเสียง ก่อสร้างอาคารจะประหยัดพลังงาน สามารถออกแบบให้นำไปประกอบการก่อสร้าง ทั้งรูปแบบ ระบบเดือย และสลักรางลิ้น จึงไม่สิ้นเปลืองการฉาบปูน ปิดทับผิวหน้า ซึ่งสามารถทำเป็นบล็อกก่อผนัง บล็อกประสานและแผ่นซีเมนต์บอร์ด รวมทั้งการทำรูปแบบบล็อกปูพื้น ทั้งภายในและนอกอาคาร เป็นวัสดุก่อสร้างมวลเบาที่เกิดจากธรรมชาติ ทดแทนหรือลดการทำลายธรรมชาติได้ เช่น ไม่ต้องไประเบิดภูเขาหินปูน หรือลดการใช้ดิน ใช้หิน เพื่อการก่อสร้าง ก็ถือว่าทำให้ลดการสูญเสียทรัพยากรได้

กัญชง พืชต้องห้ามที่ “อนุโลม” ได้ตามบริบทของกฎหมาย ภายใต้นโยบายการนำไปใช้ประโยชน์ รัฐบาลให้โอกาสการปลูกเพื่องานด้านการศึกษา งานวิจัย หรือด้านนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ กัญชง หรือ เฮมพ์ พืชสารพัดประโยชน์ ให้คุณค่าที่ไม่ต้องมากเรื่องข้อแม้ หรือเงื่อนไข เป็นพืชล้มลุก ให้ผลผลิตในรอบปี เพียงมีระบบน้ำเหมาะสมและไม่ท่วมขัง มีอุปกรณ์เพียงจอบก็ทำหลุมหยอดเมล็ด หรือหว่าน

สำหรับระยะปลูกไม่สำคัญมากนัก แต่ถ้าทำตามคำแนะนำของโครงการปลูกเป็นแถว ก็มีระยะ 15-20 เซนติเมตร หากใช้วิธีหยอดหลุมก็จะหยอดหลุมละ 5 เมล็ด แล้วถอนเหลือ 3 ต้น กำจัดวัชพืชเมื่ออายุประมาณ 30-45 วัน ใส่ปุ๋ย แต่สำหรับชาวม้งจะใส่เฉพาะขี้เถ้าตามภูมิปัญญาชาวไทยภูเขา ปลูกได้ 75-90 วัน ต้นจะสูงประมาณ 2 เมตร หรือก่อนที่จะออกดอกเพศผู้ ช่วงนี้เส้นใยจะเหนียว เบา เยื่อสีขาว เหมาะสำหรับเป็นเส้นใยทอผ้า

การเก็บเกี่ยวตัดที่โคนต้นติดดิน หรือสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ริดใบเฮมพ์ให้หมด เหลือลำต้นมัดรวมประมาณ 10 ต้น นำไปตากแดด หรือวางไว้ใต้ต้นไม้ ประมาณ 4-5 วัน จึงนำเข้าสู่กระบวนการลอกเปลือก หรือลอกเส้นใยนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์ต่อไป
กัญชง กับ กัญชา มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แต่กัญชงมีสารเสพติดน้อยกว่ากัญชามาก จึงนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ส่วนกัญชาถูกตราหน้าเป็นพืชร้าย แต่ก็เป็นสมุนไพรทางเลือกที่ต้อง “ลักลอบ” ใช้ แม้จะนำเป็น “โอสถครื้มใจ หัวใจเคลิ้มฝัน” ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงก่อนที่กัญชาจะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ก็มาจากเส้นทางแสนไกล ยาวนาน ระดับจัดเป็นพืชประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างเชื่อมโยงสื่อสารกับ “เทพ” ได้ เมื่อ “เสพ” แล้วอารมณ์ครึ้มอกครึ้มใจ หลับตาคว้าดาวได้ตามจินตนาการ

มีการกล่าวอ้างกันว่ารู้จักกันตั้งอารยธรรมอียิปต์ กรีก หรืออารยธรรมอินเดีย มีคุณค่าในทัศนะทางจิตใจ ปัจจุบัน หากกล่าวว่าใช้เพื่อ “เสพ” ฟังดูก็ราวกับว่า ทำไม่ดี ทำผิด แต่ตำนานต่างๆ อาจจะกล่าวถึงว่า “สูบ” กัญชา ถ้าหากเป็นอุปกรณ์ประกอบการนำสู่ร่างกายเข้าออกผ่านลมหายใจ คงจะอยากใช้คำว่า “ดูดดื่ม” น่ารักกว่า

กัญชง พืชสร้างผลิตภัณฑ์ดีเด่น แต่กัญชาพืชอารมณ์ดื่มด่ำ ให้สภาวะเหนือมนุษย์ด้านจิตใจ ส่งตาเยิ้ม ยิ้มได้ทั้งวัน เห็นทุกอย่างเป็น “โลกสวย” วรรณคดีเรื่อง “ระเด่นลันได” พูดถึงนางประแดะ อยู่บ้านรอสามี ก็ “บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว” แม้แต่กวีเอกระดับโลก ท่านครูกลอนสุนทรภู่ ยังบันทึกการเดินทางของ “นายแสง” ถึงสะพานย่านบางปลาสร้อย ที่อรมณ์เสีย แต่แล้ว…”นายแสงหายคลายโทโสที่โกรธา ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม”

อย่างนี้แล้วจะตัดสินใจอย่างไรดี ระหว่างการปลูกกัญชา หรือปลูกกัญชง เผื่อว่าอีกไม่นานคณะรัฐมนตรีลงมติให้ “ปลูกกัญชาโดยเสรี” แล้วเมื่อนั้นจะเลือก “ชง หรือ ชา” ดีน๊า!!

บทเพลงเสรีแห่งจินตนาการ

ได้กล่าวถึงพืชสมุนไพร “ต้องห้าม” ที่มีอยู่คู่โลกในประวัติศาสตร์มานานระดับ จะกล่าวได้ว่าตั้งแต่ “บรรพกาล” หลายอารยธรรมแห่งโลก รู้จัก-นำใช้ และยอมรับเป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมผู้นำมาใช้ ด้วยสารพัดเหตุ-ผล ที่สังคมแต่ละสมัย “ยอมรับ” ว่าอยู่ร่วมในสังคมได้ และทุกระดับชนชั้นก็มีสิทธิ์สัมผัสได้เช่นกัน เพียงแต่ในแต่ละประเทศและช่วงเวลานั้น กฎหมายจะ “ยอมรับ” หรือไม่ ก็เป็นอีกประการ

ถ้ากล่าวถึง “กัญชา” ในบทบาทของ “ใบไม้ต้องห้าม” ที่อีกมุมมองแย้งว่า น่าจะเป็น “พืชหฤหรรษา” มากกว่า เพราะนำมาใช้เป็น “โอสถครึ้มใจ สมุนไพรคลายโศก” แต่เมื่อใดที่กลิ่นควันผ่านพรายฟองของม่านน้ำ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นตัวโน๊ต ผสานท่วงทำนองสร้าง “บทเพลงเสรีแห่งจินตนาการ” ก็ย่อมให้นัยนาที่เยิ้มยิ้ม มองเห็นบันไดเสียงไล่ทำนอง ใส่คำร้องบ่งบอกอารมณ์แห่งจินตนาการได้อย่างอิสระน่าอัศจรรย์

ไม่ว่าต่างประเทศ หรือประเทศเราเอง บทเพลงต่างๆ ที่กล่าวถึง “กัญชา” ทั้งทางตรงและทางอ้อมมีมากมาย พร้อมทั้งเล่าแจ้งแถลงไขว่า “เสพ-ดูดดื่ม” แล้วเป็นอย่างไร แบบตรงๆ ก็มี เช่น

บทเพลงที่ขับร้อง คุณคำรณ สัมบุญณานนท์ ชื่อเพลง คนบ้ากัญชา ขึ้นต้นว่า “ฉันบ้ากัญชา จนหูตาลาย เห็นหมูตัวโตเท่าควาย โอ้…เดือนหงายกลายเป็นเดือนคว่ำ…ฯลฯ” และเพลงกระท่อมกัญชา ขึ้นต้นว่า “แดนนี้มีต้นกัญชาปกคลุมแน่นหนา ใบกัญชาป่านี้สะพรั่ง…ฯลฯ” ซึ่งอายุเพลงทั้งสองนี้ไม่น้อยกว่า 60 ปี แต่ทั้งนี้ก็ยังมีทั้งก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้ เช่น บทเพลงจาก “แอ๊ด คาราบาว” และ “มาลีฮวนน่า”

สำหรับในต่างประเทศ ก็มีการวิจัยที่น่าสนใจ ว่าแนวเพลงไหนบ้างที่จะกล่าวถึงเรื่องยาเสพติดระดับใดบ้าง ค้นหาข้อมูลในสื่อออนไลน์ www.fungiai zine.com drugs in song-name พบข้อมูล ซึ่งโพสต์ไว้ตั้งแต่ 28 November 2017 writer : Malaivee Swangpol เขียนถึง “10 ชื่อเพลงที่ซ่อนยาเสพติดไว้ โดยที่คุณอาจจะไม่เคยรู้” กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า…มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ Addictions ที่วิจัยเพลงมากกว่าล้านเพลง ว่าแนวเพลงไหนจะพูดเรื่องยาเสพติด

ผลออกมาคือ บทเพลงแนวคันทรี มี drug reference มากที่สุด ซึ่งมีทั้งกัญชาและโคเคน ซึ่งเราฟังสบายๆ นั้น มีทั้งพูดถึงชื่อยาตรงๆ แล้วยังมีชื่อเล่นของยาหลากหลายรูปแบบซ่อนไว้ในเนื้อเพลง โดยที่ผู้ฟังอาจจะไม่รู้ด้วยเพลินไปกับเพลง จากตัวอย่างทั้ง 10 บทเพลงที่จะกล่าวถึง ในฉบับต่อไป

สำหรับท่านผู้สนใจจะลองไปสืบค้นดู เช่น บทเพลง Puff, the Magic Dragon (1963) โดย Peter, Paul and Mary ว่ากลิ่นควันจาก “มังกรวิเศษ” ตัวนั้นล่องลอยมาจากที่แห่งใด…ล่วงหน้าก่อนกฎหมาย “ปลูกกัญชาได้โดยเสรี” ก็ดีครับ!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0