โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"พระแก้วมรกต" ในพระราชวังหลวงที่พนมเปญต่างกับไทยไหม วัสดุในพระวิหารมูลค่าเท่าใด

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 23 ส.ค. 2566 เวลา 03.10 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2566 เวลา 17.05 น.
ภาพปก - พระแก้วมรกต
วัดพระแก้วมรกต ในพระบรมราชวังจตุมุขมงคล กัมพูชา (ภาพจากหนังสือ

พระบรมราชวังจตุมุขมงคล พนมเปญ กัมพูชา มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ในบรรดารายชื่อนี้มี “วัดพระแก้วมรกต” หรือ “วัดอุโบสถรตนาราม” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพระราชวัง ซึ่งมีพระพุทธรูป “พระแก้วมรกต” ประดิษฐานบนบุษบก

พนมเปญ (หรือชื่อเก่าว่า “เมืองจตุมุข”) เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกัมพูชา สมัยก่อนมีเจ้าพญายาตและกษัตริย์องค์ต่อมาใช้เมืองนี้เป็นราชธานี ขณะที่พระราชวังจตุมุขมงคลนี้สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2408 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้านโรดิมบรมรามเทวาวตาร (ครองราชย์ พ.ศ. 2403-2447) และปรับปรุงเปลี่ยนหลายครั้งในเวลาต่อมา รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ อธิบายในหนังสือ “เขมรสมัยหลังพระนคร” ว่า ปีนั้นเป็นปีที่สมเด็จพระนโรดมเริ่มเสด็จมาประทับที่พระราชวัง กรุงพนมเปญ

อีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างสำคัญในพระบรมราชวังจตุมุขมงคล คือ “วัดพระแก้วมรกต” หรือ “วัดอุโบสถรตนาราม” รศ.ดร. ศานติ บรรยายว่า เป็นวัดในพระราชวังหลวงเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา หรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

การออกแบบแผนผัง วัดพระแก้วมรกต ใน พนมเปญ เป็นฝีมือของออกญาเทพนิมิต (รส) มีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อ Alavigne ดูแลความถูกต้องในการสร้าง สถาปนิกชาวฝรั่งเศสนาม Andrilleux และช่างเขมรเป็นผู้ก่อสร้างและประดับตกแต่งจนแล้วเสร็จสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2446 รศ.ดร. ศานติ อ้างอิงข้อมูลจากฝั่งกัมพูชาว่า คิดเป็นเงินทั้งหมดห้าแสนเรียล

เมื่อถึงสมัยสมเด็จพระนโรดมสีหนุ วัดพระแก้วมรกตถูกบูรณะ เมื่อปี 2505-2513 โดยปกติแล้ว วัดในพระบรมราชวังแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่มีเฉพาะช่วงที่สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงผนวช พระองค์ประทับจำพรรษา 1 พรรษา

สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณวัดล้วนมีความสำคัญเฉพาะตัว อาทิ พระวิหารพระแก้วมรกต เป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร แรกเริ่มสร้างจากไม้และอิฐ แต่เมื่อมีการบูรณะในภายหลังจึงเริ่มปรับเปลี่ยนหลายครั้งโดยรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมไว้

องค์ประกอบที่น่าสนใจในวัดนี้ไม่ใช่มีแค่เชิงโครงสร้าง รศ.ดร.ศานติ อธิบายรายละเอียดว่า พื้นของพระวิหารปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ 5,329 แผ่น แต่ละแผ่นมีน้ำหนัก 1.125 กิโลกรัม ประดับหินอ่อนนำเข้าจากอิตาลี รวมแล้วเป็นเงินทั้งหมด 20 ล้านเรียล

ขณะที่พระพุทธรูป “พระแก้วมรกต” ที่ประดิษฐานบนบุษบก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอธิบายว่า หล่อขึ้นจากแก้วคริสตัลสีเขียวจากฝรั่งเศส โดยอ้างอิงจากข้อมูลใน“นิราศนครวัด” พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อความตอนหนึ่งว่า

“กลางพระอุโบสถ มีฐานชุกชีตั้งบุษบกรองพระแก้วที่ห้างปักกะราต์ฝรั่งเศส ข้อนี้ทราบมานานแล้ว มาได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อเห็นตัวจริงว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบและวัดมาดู ได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล สีแก้วมรกตที่ฝรั่งหล่อเขียวใสเป็นอย่างขวดเขียวสี่เหลี่ยม ที่มักใช้ใส่น้ำอบกันแต่ก่อน เครื่องประดับก็ทำแต่ทองครอบพระเกตุมาลา และติดรัศมีต่อขึ้นไปสองข้างบุษบก ตั้งลับแลแบ่งปันที่เป็นข้างหน้าในอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ…”

ในพระวิหารพระแก้วมรกตยังมีพระพุทธรูป “พระชินรังสีราชิกนโรดม” ฉลองพระองค์สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร รศ.ดร. ศานติ อธิบายว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (สีสุวัตถิ์) ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ช่วงก่อนพระองค์ทิวงคต

พระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากทองคำ 90 กิโลกรัมนับรวมทั้งฐานและฉัตร ประดับเพชรพลอย 2,086 เม็ด เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดอยู่ที่มงกุฎมีขนาด 25 มิลลิเมตร ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายว่า แต่งเครื่องเพชรพลอยอย่างใหม่ ฝีมือฝรั่ง ซึ่งเป็นของสมเด็จพระนโรดมทรงพระอุทิศไว้ ฝีมือสร้างงดงาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0