โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วินาทีคับขันของ พระอรณพนาวาณัติก์ ผู้บังคับการเรือศรีสุพรรณหงส์สมัยร.6 เล่าเรือหวิดชน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 ธ.ค. 2564 เวลา 14.35 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2564 เวลา 14.32 น.
รัชกาลที่ 6 เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งลำทรง ในกระบวนพยุหยาตราโดยทางชลมารคเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 4 ธ.ค. พ.ศ. 2454 รัชกาลที่ 6 (ภาพจาก ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์, ศิลปากร 2550)

ตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน การสัญจรผ่านทางน้ำเป็นเส้นทางสำคัญในสยาม ปรากฏตัวแต่วิถีชีวิตของชาวบ้านไปจนถึงพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ แต่ละพระองค์ล้วนเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารกเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ เรือพระที่นั่งแต่ละลำล้วนงดงามและประณีต แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเหล่ากำลังพลและผู้บังคับการเรือ

วิถีชีวิตของชาวไทยเกี่ยวข้องกับน้ำเป็นพิเศษ ยิ่งเมื่อพูดถึงเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์แล้วยิ่งต้องมีความพิเศษอย่างยิ่ง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ตั้งแต่พ.ศ. 1893 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยา อยุธยาพยายามขยายอาณาเขตไปในอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนคร ดังปรากฏในหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ยกทัพไปตีเขมร

ตามเอกสารราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ปรากฏความว่า เวลาต่อมาใน พ.ศ. 1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เสด็จฯ ไปตีเมืองนครหลวง (พระนครศรียโศธรปุระ) ได้ แต่ปกครองได้ไม่นานก็ถูกกลุ่มราชวงศ์และขุนนางเขมรลุกฮือขึ้นปลงพระชนม์ผู้ปกครอง และย้ายเมืองหลวงไปเมืองบาสาณ แล้วจึงย้ายไปที่เมืองจตุรมุข (พนมเปญ) ในเวลาต่อมา

จากหลักฐานข้างต้นทำให้รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ แสดงความคิดเห็นว่า เหตุผลนี้ทำให้ศิลปวัฒนธรรมอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนครแผ่เข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อว่าเรือพระราชพิธีที่ใช้ในราชสำนักเขมรโบราณที่เมืองพระนครก็ส่งอิทธิพลมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าเป็นต้นแบบของเรือในราชสำนักในเวลาต่อมา ขณะที่ภายหลังนั้น ราชสำนักก็เริ่มดัดแปลงรูปแบบเรือพระราชพิธีให้มีเอกลักษณ์ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังเห็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อมโยงกับเรือพระราชพิธีที่รับมาจากเขมรโบราณ

นับตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงกรุงธนบุรี และถึงรัตนโกสินทร์ ล้วนมีเรือพระราชพิธีและเอกสารหลักฐานว่าด้วยพระราชพิธีทางชลมารคอยู่เสมอ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 1 ภายหลังจากสงครามตอนปลายกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษธิบดี (ขำ บุนนาค) ปรากฏข้อความบอกเล่าเรื่องการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นมาใหม่ ในรายชื่อนี้มีชื่อ “พระที่นั่งศรีสุพรรณหงษ ยาว 18 วา พื้นดำ…”

นับตั้งแต่นั้นมา เรือพระที่นั่งก็ยังปรากฏในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และในพระราชพิธีสำคัญ แต่เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จดหมายเหตุทั้งสองรัชสมัยเรียกว่า “เรือศรีสุพรรณหงส์” เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นใหม่เนื่องจากลำเดิมชำรุดเกินซ่อมแซม และมาสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 6

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2454 รัชกาลที่ 6 ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งลำทรง ในกระบวนพยุหยาตราโดยทางชลมารคเลียบพระนครด้วย

ในยุคนั้น ทหารเรือที่มีชื่อเสียงจากบทบาทผู้บังคับการเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ มีนามว่า นาวาโท พระอรณพนาวาณัติก์ (ลออ มหาศร) ซึ่งไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ) เขียนบรรยายไว้ว่า ตำแหน่งของท่านเปรียบได้กับ “พันท้ายนรสิงห์” แห่งเรือพระที่นั่งเอกชัยในสมัยกรุงศรีอยุธยา “ไทยน้อย” นักเขียนลือชื่อเคยเขียนบอกเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งได้สัมภาษณ์พระอรณพนาวาณัติก์ (ลออ มหาศร) เอาไว้ด้วย โดยไทยน้อยอธิบายว่า เป็น “อดีตผู้บังคับการเรือสุพรรณหงส์ที่มีชื่อเสียงเรียงนามสำคัญที่สุดในราชนาวี” โดดเด่นในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ติดต่อกัน

อ่านเพิ่มเติมศรีปราชญ์, พันท้ายนรสิงห์ และโทษประหารชีวิตแบบกรุงศรี 

“ไทยน้อย” เล่าความเป็นมาที่นำมาสู่โอกาสสนทนากับผู้บังคับการเรือที่โด่งดังรายนี้ว่า ได้รับการแนะนำให้รู้จักตั้งแต่เป็นอดีตผู้บังคับการกองพันพาหนะทหารเรือในฐานะ “ราชวัลลภ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทำให้ได้รับการแนะนำว่าเป็นข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานมากรายหนึ่ง

พระอรฯ เล่าจุดเริ่มต้นของเส้นทางราชนาวีของตัวเองอันเป็นนักเรียนนายเรือชุดแรกๆ ระหว่างที่โลกกำลังเปลี่ยนสภาพเรือใบมาเป็นเรือกลไฟเมื่อกว่า 100 ปีก่อนว่า เดิมทีอยากเป็นตำรวจ และเคยหนีจากโรงเรียนนายเรือไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ พบเข้าเมื่ออยู่ที่ปากคลองมอญ จึงนำกลับเข้ามาในเส้นทางอีกครั้ง แต่ด้วยอายุเวลานั้นที่มากกว่าปกติ กรมหลวงชุมพรฯ จึงเห็นว่าไม่เหมาะที่จะให้เป็นนักเรียนนายเรือจึงประทานยศพันจ่าโทในกองเรือกลชั้น 4 กินเงินเดือน 46 บาท (ตามค่าเงินเดิมในสมัยก่อน)

อ่านเพิ่มเติมทำไมทหารเรือรักกรมหลวงชุมพรฯ เผยพระจริยวัตร-สยบ “นักเลง” สมานรอยร้าวระหว่างรุ่น

เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากทหารเรือ จากพระราชบันทึกรัชกาลที่ 6

“…ผมใกล้ชิดกับในหลวงมาก ในฐานะที่เคยเป็นข้าหลวงเดิมของพระองค์ท่านมาตั้งแต่เด็กๆ ท่านประทับเรือครั้งใดก็ต้องหมายถึงผม” พระอรฯ เล่าเกี่ยวกับชื่อเสียงที่เรียกได้ว่าน่าจะอบอวลกว่านายพลเรือราชนาวีอีกหลายท่าน

“ไทยน้อย” ที่มีโอกาสพูดคุยกับท่านยังเล่าต่อว่า เมื่อสอบถามเรื่องหนักอกหนักใจในความรับผิดชอบที่แตกต่างกันระหว่างเรือเหล็กกับเรือไม้ พระอรณพฯ ตอบว่า

“เรือรบนั้นใครๆ ที่สำเร็จ ร.ร. นายเรือ ก็ทำหน้าที่ได้ทุกคน เพราะมันเป็นไปตามสูตร แต่เรือไม้ที่มีรูปร่างเป็นหงส์ทั้งลำยาวเหยียดหัวสูงตระหง่านมีฝีพายตั้ง 50-60 คนเช่นนั้น แน่นอนทีเดียวที่ใครก็ตาม แม้จะสำเร็จมาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจากราชนาวีอังกฤษก็ทำไม่ได้…

มีอยู่คราวหนึ่งผมป่วย และร.6 จะต้องใช้เรือสุพรรณหงส์ (คัดลอกข้อความจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสนทนาไม่ได้ใช้ราชาศัพท์) ไปในงานกฐิน เสนาบดีกระทรวงทหารเรือจึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการเรือรบคนหนึ่งไปทำหน้าที่แทนผมหมายถึงว่าให้ไปแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงเชิงทองสวมหมวกทรงประพาส และใส่เสื้อสีเยียระบับ เท่านั้นแหละคุณ เหงื่อกาฬแตกวิ่งไปกราบผมปะหลกๆ ขอให้ช่วยชีวิตไว้ เพื่อนกันเองรุ่นเดียวกับผมนั่นแหละคุณ”

หากสงสัยว่าทำไมได้รับหน้าที่นี้ แต่เพื่อนร่วมรุ่นท่านนี้กลับต้องร้องขอชีวิต พระอรณพฯ อธิบายต่อว่า

“ถ้าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ล่มไปก็ประหารชีวิตเท่านั้นแหละคุณ ไม่มีโทษทัณฑ์อย่างอื่นเลย ดูแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสือ เพียงหัวเรือเอกชัยหักก็ผิดราชประเพณีต้องราชทัณฑ์ของกฎมณเฑียรบาลแล้ว”

เมื่อพูดถึงราชทัณฑ์จากความผิดพลาดแล้ว ไม่เพียงแค่เรื่องทำเรือล่ม แต่โทษประหารยังมีอีกกรณีคือการสั่งด้วยวาจา ซึ่งพระอรฯ บอกเล่าว่า การสั่งการด้วยวาจาแก่ฝีพายที่มีจำนวนถึงครึ่งร้อยเป็นการผิดประเพณีนิยม มีโทษถึงชีวิตด้วย กรณีนี้ได้รับคำอธิบายเพิ่มว่า

“ประเพณีของกฎมณเฑียรบาล พูดข้ามในหลวงไม่ได้ การฝ่าฝืนจะมีทัณฑกรรมที่รุนแรงที่สุด คือ ตัดหัว…ถึงจะเกิดกรณีฉุกเฉินอย่างไรก็ใช้วาจาคือตะโกนสั่งการไม่ได้เป็นอันขาดนอกจากจะใช้กรับ – กรับพวงที่ผู้บังคับการเรือสุพรรณหงส์จะใช้ได้เท่านั้น หมายถึงสัญญาณที่ได้ซักซ้อมและฝึกฝนกันไว้นานแล้วอย่างชำนิชำนาญ วาจาทุกประโยคจะต้องสงบลงนับแต่วินาทีแรกที่ในหลวงก้าวพระบาทลงประทับในเรือทันที นอกจากสัญญาณสั่งกรับพวงเท่านั้น ตั้งแต่ออกเรือได้ ซ้าย-ขวา เลี้ยวหรือเตรียมจอดเรือ กรับเท่านั้นจะมีหน้าที่พูดแทน”

เรื่องราชประเพณีนี้มีหลักฐานดังเช่นเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างเหตุการณ์ของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการบอกเล่ากันมาว่า เรือพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ล่มลงเมื่อครั้งตามเสด็จประพาสบางปะอิน เมื่อพ.ศ. 2423 นอกเหนือจากสาเหตุเรื่องความประมาทในการเดินเรือแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการคือกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า ห้ามแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล ทหารเรือจึงไม่กล้ากระโดดลงไปช่วยเหลือพระนาง

อ่านเพิ่มเติมย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5

สำหรับกรณีคับขันเยี่ยงนี้ พระอรฯ ยังเล่าว่าเคยประสบในครั้งนำเสด็จรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ทอดพระกฐินวัดราชาธิวาส

“ในชีวิตที่ผมเป็นผู้บังคับการเรือสุพรรณหงส์ มีคราวที่คับขันยิ่งก็คือ ในคราวที่นำเสด็จ ร.6 ไปทอดพระกฐินวัดราชาธิวาส เรือสุพรรณหงส์พุ่งปราดเข้าไปเทียบกับฉนวน ทำอีท่าไหนไม่ทราบ หัวเรือหวุดหวิดจะกระแทกกับฉนวน ผมต้องกระโจนจากเรือทั้งๆ ที่อยู่ในเสื้อเยียระบับ เหรียญตราเต็มหน้าอก เอาหน้าอกนั่นแหละคุณปะทะกับเสาใหญ่ที่ท่าน้ำไว้ในฉับพลัน ก็จะร้องตะโกนสั่งทหารให้ช่วยแก้ไขก็ทำไม่ได้ กลับพวงจะให้สัญญาณอย่างใดก็ไม่ทันท่วงทีเสียแล้ว

ผมยังโชคดีอยู่จึงสามารถหยุดเรือพระที่นั่งไว้ไดทันท่วงที มิฉะนั้นถ้าหัวเรือไม่หักก็อาจจะกระแทกกับหัวสะพานถึงล่มลงไปได้ ผมก็พันท้ายนรสิงห์คนที่ 2 เท่านั้นเอง”

“…เมื่อร. 6 เสด็จขึ้นท่าฉนวนแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาตบที่ไหล่ผมบอกว่าพระอรฯ มันเก่ง นี่คือสิ่งที่บรรดาผู้บังคับการเรือรบทั้งหลายกลัวนักกลัวหนา ถ้าจะให้มาบังคับการเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ละก็ ร้อยทั้งร้อยหัวขาดหมด”

ด้วยความสามารถและคุณงามความดีที่มีเป็นผลให้พระอรฯ ได้รับประทานเหรียญตรา เข็ม และแหนบมากมายจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ อาทิ แหนบของสมเด็จพระปิตุลาฯ ของเจ้าฟ้าบริพัตรฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์ฯ กรมหลวงชุมพรฯ กรมหลวงสิงห์ฯ และอีกมากมาย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ศรีปราชญ์” และ “พันท้ายนรสิงห์” กับโทษประหารชีวิตแบบกรุงศรีฯ

อ้างอิง:

ศานติ ภักดีคำ. พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562

ไทยน้อย (เสรา เรขะรุจิ). 30 คนไทยที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : บำรุงบัณฑิต, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0