โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พระองค์จะทิ้งสิ่งใดไว้ให้เรา? : การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับมุมมองของ ‘คนในบ้าน’ ของคุณพ่ออนุชา ไชยเดช

The101.world

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 14.40 น. • The 101 World
พระองค์จะทิ้งสิ่งใดไว้ให้เรา? : การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับมุมมองของ ‘คนในบ้าน’ ของคุณพ่ออนุชา ไชยเดช

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ในโลกร้อนแล้งไร้รัก ภาพของชายสูงวัยร่างท้วมก้มลงจุมพิตเด็กเล็กๆ ผู้พิการและคนชรา ได้ปรากฏในสื่อนับครั้งไม่ถ้วน ภาพดังกล่าวทำให้หัวใจผู้คนสั่นไหว และยิ่งเมื่อทราบว่าชายสูงวัยท่านนี้มีตำแหน่งเป็นถึงประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ศาสนาซึ่งมีศาสนิกทั่วโลกจำนวนมากมายมหาศาล

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระสันตะปาปาผู้มาจากทวีปอเมริกามิได้เพียงเป็นที่ชื่นชมจากบรรดาศาสนิกคาทอลิกเองเท่านั้น แต่ยังได้รับความชื่นชมจากศาสนิกอื่นๆ และผู้คนทั่วไป เพราะพระจริยวัตรอันเรียบง่าย อ่อนน้อม ความน่ารักและเป็นกันเอง รวมทั้งความเปิดกว้างและความพยายามที่จะทำให้คำสอนในคริสต์ศาสนาให้เข้ากับสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อยและคนจน เหมือนดังพระนาม ‘ฟรังซิส’ อันมาจากนามของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี นักบุญผู้เชิดชูความยากจนในฐานะคำสอนสำคัญของพระเยซู

เมื่อไม่นานมานี้ สมเด็จพระสันตะปาปาได้เสด็จเยือนสหภาพเมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งทำให้ชาวไทยจำนวนมากหลั่งไหลไปเฝ้าชมพระบารมี และเฝ้ารอคอยวันที่พระองค์จะเสด็จเยือนประเทศไทยบ้าง

บัดนี้การเฝ้ารอคอยนั้นใกล้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะพระองค์มีกำหนดการเยือนประเทศไทยในวันที่ 20- 23 พฤศจิกายน 2562 ในฐานะแขกของรัฐบาล การเตรียมการต้อนรับกำลังดำเนินไปอย่างเต็มที่ทั้งจากฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายพระศาสนจักรท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็ตาม การเสด็จเยือนครั้งนี้ก็นับเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในยุคสมัยของเรา เราจึงน่าจะทำความรู้จักพระสันตะปาปาพระองค์นี้ให้มากขึ้น รวมทั้งจุดหมายและที่มาที่ไปของการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ผ่านมุมมอง ‘คนในบ้าน’  ผู้เป็นทั้งบาทหลวงและคนทำสื่อ คือ คุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพระสังฆราชฯ ฝ่ายสื่อสารสังคม และเลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชน ในฐานะผู้ดูแลสื่อมวลชนคาทอลิก

การสนทนาอันยาวนานกับคุณพ่ออนุชามิได้เพียงทำให้เราได้รู้จักกับพระสันตะปาปาพระองค์นี้มากขึ้นเท่านั้น  แต่ยังทำให้เราได้สำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับสังคมไทย ความท้าทายต่างๆ ที่ศาสนาคริสต์กำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งยังได้มีโอกาสทำความเข้าใจการทำงานของสื่อที่มีความสัมพันธ์กับองค์กรศาสนา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยนัก

 

อยากให้คุณพ่อแนะนำก่อนว่าสมเด็จพระสันตะปาปามีบทบาทความสำคัญอย่างไรต่อทั้งผู้ที่เป็นคาทอลิกและผู้ที่ไม่ใช่ รวมทั้งความพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ ที่ทำให้พระองค์มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ผมคิดว่าถ้าเราเปรียบเทียบเรื่องที่จะตอบอย่างครอบคลุม คริสตศาสนิกชนกับพระสันตะปาปา ความรู้สึกก็เหมือนคนในครอบครัว คือท่านจะเป็นพ่อเรา เป็นแบบอย่างให้เรา เพราะฉะนั้น ในมุมของคาทอลิก เวลาเรามองพระสันตะปาปาจึงเป็นเหมือนพ่อ เหมือนคนในครอบครัว

ถ้าในสายตาของความเชื่อ ก็เชื่อว่าพระสันตะปาปาคือผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร (St.Simon Peter) หัวหน้าอัครสาวกของพระเยซู คือพระเยซูเจ้าก็มาสอน มาไถ่บาปตามความเชื่อ แล้วก็แต่งตั้งอัครสาวก 12 องค์ โดยหัวหน้าสาวกคือเปโตร  เพราะฉะนั้น เปโตรที่เป็นมนุษย์ก็สิ้นใจไป พอมาถึงยุคของเรา หัวหน้าสาวกก็คือพระสันตะปาปาองค์ที่ 266

แต่ถ้าพี่น้องต่างความเชื่อมองเข้ามาจะเข้าใจยังไง ผมเชื่อว่าในมุมหนึ่งเลย ท่านก็เป็นคนดีนะ ดียังไง ดูภายนอกก็ดูเป็นผู้ใหญ่ใจดี เป็นผู้อาวุโสที่ค่อนข้างมีกริยาน่ารัก ทักทาย เป็นกันเอง ท่านก็น่ารักดี คือหมายความว่าเป็น First Impression ว่าท่านก็ดูดีนะ

แต่ทีนี้พอเราฟังคำสั่งสอนของท่าน ถ้าเราพูดถึงศาสนา คนก็จะนึกว่าเราพูดถึงเรื่องที่สูง แตะไม่ได้ แล้วก็เข้าใจยาก แต่ท่านกลับทำให้ศาสนาเป็นเรื่องที่แตะได้ เข้าใจได้ แล้วก็เป็นแบบอย่าง ผมว่าตรงนี้นอกจากจะเป็นผู้นำแล้วก็ยังทำคล้ายกับว่า คำสอนที่เราได้ยินว่าพระเยซูเจ้าไถ่บาปมนุษย์ เทวศาสตร์ลึกล้ำหรือวิหารศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ คือท่านก็ไม่อะไร แต่ท่านก็มองพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ เน้นชีวิตของคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ชีวิตที่จะอยู่กับเยาวชนที่ไม่ได้เป็นแค่อนาคตแต่เป็นวันนี้

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าพี่น้องต่างความเชื่อ เวลาที่มองเข้ามาในองค์สมเด็จพระสันตะปาปาก็จะรู้สึกว่าพระองค์น่าประทับใจ พระองค์ก็เป็นคนดี

ลองนึกภาพถ้าเราต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริงก็จะมีคนที่รู้สึกว่า จริงเหรอ สร้างภาพหรือเปล่า ผมยกตัวอย่าง เช่น ท่านพบกับผู้นำของแอฟริกาแล้วท่านก็ก้มลงจูบเท้า (เพื่อขอร้องให้ผู้นำซูดานสองฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบของการต่อสู้กัน -ผู้เขียน) คนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่ายๆ ก็จะรู้สึกว่าท่านสุดยอดมาก แต่ว่าบางคนก็จะรู้สึกสะดุดหน่อยว่า อ้าว แล้วทำไมถึงต้องใช้วิธีนี้เหรอ บางคนก็ตั้งท่าอยู่แล้วว่าความดีงามไม่มีในโลกหรอก ต้องมีการสร้างภาพอะไรอยู่แล้ว ดูสิ กล้องมหาศาลเลย จับจังหวะแบบนี้

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ออกมาจากชีวิตหลอกกันไม่ได้ สิ่งที่หลอกกันไม่ได้ก็คือระยะยาวๆ เพราะฉะนั้น ถ้าในกลุ่มของชาวคาทอลิก พระสันตะปาปาคือพ่อของเรา แต่กับคนอื่นก็คือเป็นผู้ใหญ่ที่เรารู้สึกว่าท่านดูเป็นคนดีนะ ท่านสั่งสอน แล้วในทางจิตวิญญาณ สมมติเรามีผู้นำประเทศ แต่ใครจะนำจิตวิญญาณของเรา ถ้าเราบอกว่ามนุษย์เรามีกายและใจ แต่เหมือนกับใครอยู่ในอาณาจักรหัวใจของเรา ที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเราได้ ผมคิดว่าในโลกนี้บุคคลที่เรานึกถึงทันทีทันใด จะมีไม่กี่คน อาจจะมีแม่ชีเทเรซา องค์ดาไลลามะ แต่ผมคิดว่าพระสันตะปาปาฟรังซิส เป็น 1 ใน 3 ใน 5 หรือ 10 ที่เรานึกถึงได้

 

การที่พระองค์ให้เกียรติกับผู้ยากไร้ คนพิการ หรือผู้ที่มีปัญหา อันนี้เหมือนเป็น agenda พิเศษในสมณะสมัยของพระองค์เลยหรือเปล่า

ผมว่าโลกเรามีสองมุม มุมหนึ่งคือสมมติผมเป็นบาทหลวง แต่เราไม่สามารถสนใจทุกอย่างในหน้าที่ของเราได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสนใจในหน้าที่หลัก ถ้าผมทำสื่อผมก็ต้องสนใจหน้าที่สื่อ แต่จริงๆ แล้วชีวิตผม อาจจะสนใจเรื่องความยากจน เทคโนโลยี ผู้อพยพ เพราะฉะนั้นผมอาจจะมี agenda ส่วนตัว

คำถามนี้ ผมคิดว่าถ้าเราศึกษาประวัติของท่านดีๆ จะพบว่าท่านอยู่ในครอบครัวของคนอพยพ คุณพ่ออพยพไปทำงาน ท่านพบเห็นสภาพความยากจน เพราะท่านใช้ชีวิตยากจน สมมติเรามานั่งตรงนี้คือห้องประชุมของสถาบันคาทอลิก เขาดูเรียบร้อยสะอาด ดูมีพื้นที่ แล้วคุณพ่อก็มีที่พักที่อย่างน้อยก็สะดวกสบาย แต่ว่าอย่างของพระสันตะปาปา สมัยเป็นพระสังฆราช ท่านก็ใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดามาก คือแบ็คกราวน์ทางความคิดส่งผลให้คนเป็นแบบนั้น อันนั้นผมคิดว่าเป็นโดยตัวตนของท่าน แต่ผมก็เชื่อว่ามีแรงขับบางอย่างเพื่อตีกรอบชีวิตเหมือนกัน เช่นท่านจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีเมตตา แล้วก็เรื่องราวที่ท่านเขียน สิ่งที่ท่านสอน ก็จะได้รับการพูดถึงว่าท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความเมตตา

ในขณะที่ถ้าเรามองย้อนกลับไปที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ (สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16) ท่านจะเป็นคนเคร่งครัด เป็นนักวิชาการ ย้อนกลับไปอีกคือสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ก็จะเป็นคนที่มีมิตรภาพไปทั่วโลก ให้อภัย

ผมว่าสิ่งนี้ติดมากับชีวิตของท่าน และถูกขับเน้นด้วยสื่อหรือคำสอน ที่สุดแล้วเบื้องหลังก็คือความคิดของท่านนั่นแหละ แต่ภาพที่ปรากฏอาจจะมาทั้งสิ่งที่เป็นแบ็คกราวนด์ สิ่งที่ถูกสั่งสอนมา ถ้าเรากลับไปที่คาแรกเตอร์ของประเทศ เราก็จะเจอว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์เป็นชาวเยอรมัน จึงเคร่งครัด ตรงเวลา ส่วนท่านเป็นชาวอาร์เจนตินา ประเทศที่อาจมีความลำบาก เข้าใจผู้คน แล้วเรื่องบางเรื่อง บางทีเราก็จะรู้สึกสะดุดหน่อยว่า เอ๊ะ ท่านเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์แรกก็ว่าได้ที่พูดถึงLGBT กล้าที่จะลุกขึ้นมาพูด แต่ก่อนเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นบาป แต่ท่านก็บอกว่าบาปเกิดทีหลัง แต่สิ่งที่เกิดก่อนเลยคือเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา

 

พอดีคุณพ่อพูดเรื่องประเด็นที่อ่อนไหว เช่น LGBT ในแวดวงศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ท่านก็สนพระทัยประเด็นเหล่านี้ด้วยใช่ไหม และพระองค์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในพระศาสนจักรคาทอลิกเองบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ท่านสร้างการเปลี่ยนแปลงเลยคือในวันที่เข้ารับตำแหน่ง 13 มีนาคม ค.ศ 2013 จะมีธรรมเนียมให้ท่านออกมาอวยพรประชาชน แต่พอท่านออกมาปั๊บ ท่านไม่ได้อวยพรแต่ท่านกลับขอให้ประชาชนสวดให้ท่าน เพราะท่านก็คงจะมองว่า พระสันตะปาปาคงจะเป็นคนคนหนึ่งที่มารับหน้าที่ตรงนี้ แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนก็สามารถได้รับพรจากพระเจ้าเหมือนกัน ท่านขอให้สวดให้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ เพราะว่ายุคของเรานี่แหละที่เห็นพระสันตะปาปาอยู่ด้วยกันทั้งสองพระองค์ และขอให้สวดให้ท่านด้วย ฉากนี้เป็นฉากที่ดูเปลี่ยนคาแรกเตอร์ จากเดิมเป็นพระสันตะปาปาที่อวยพร เป็นคนนำพระพรมาให้พวกเรา ซึ่งก็ยังนำพระพรอยู่เหมือนเดิมนะ แต่กลายเป็นว่าคนทุกคนก็สามารถที่จะเป็นพระพรของกันและกันได้

ฉากแรกทุกคนก็มึนแล้ว พอฉากสองคือตอนที่ยังเป็นพระคาร์ดินัล ท่านก็ต้องพักโรงแรม ถ้าได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาแล้วก็อาจไปเข้าวังเลย แต่ท่านก็ลงมาจ่ายตังค์ที่หน้าเคาน์เตอร์ (โรงแรมที่ท่านพักก่อนหน้าที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา) แล้วนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินกลับไป ในที่สุดก็ไปเห็นวัง ท่านก็บอกว่าโอ้โห พักกันได้เป็นพันๆ คนเลยนะ ท่านเลยขอไปอยู่จุดที่ท่านจะได้เจอพี่น้องพระสงฆ์ พูดคุยกันได้

โดยการตัดสินใจส่วนพระองค์ ท่านก็เปลี่ยนแปลงเรื่องง่ายๆ ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกิจกรรมต่างๆ พอท่านตั้งหลักได้ ท่านก็อยากจะปรับหรือทำให้มีประสิทธิภาพขึ้นในเรื่องของคูเรีย (Roman Curia - ระบบการปกครองในวาติกัน ) เรื่องของการปกครองในวาติกันเอง ซึ่งก็คงจะเหมือนองค์กรทั่วไป คือบางทีมันเป็นเรื่องของการสั่งสมปัญหาบ้าง การดูแลจัดการที่ไม่ไปกับยุคสมัยบ้าง แล้วก็บอกว่าจะต้องปฏิรูปเพื่อให้ทันกับยุคสมัย ตอบโจทย์ได้

แล้วท่านก็พูดเสมอว่าเราก็เป็นเพื่อนของคนยากจน แต่ท่านก็มีวิธีของท่าน เช่น ท่านเรียก C9 ซึ่งก็คือพระคาร์ดินัลจากทั่วโลก C คือ คาร์ดินัล (ตำแหน่งปกครองรองจากสมเด็จพระสันตะปาปา) มาคุยกันว่าเราจะปรับปรุงแก้ไขยังไง แต่ไม่นานท่านก็เจอประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสของธนาคารที่วาติกัน แล้วก็เจอเรื่อง child abuse ของบรรดานักบวช เท่าที่สังเกตท่านก็ไม่หมักหมมปัญหา ก็พยายามที่จะแก้ ปะทะ ชน และพยายามกู้สิ่งที่ดีกลับคืนมา

ผมว่าประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน แต่ถ้าเข้าใจแบบนี้จะเข้าใจตรงกัน องค์กรศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อ เป็นเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องพระเรื่องเจ้า แต่เราอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ได้รับดูแล ปกครอง ดำเนินการภายใต้มนุษย์ เพราะฉะนั้นข้อบกพร่องมีแน่ เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นเทวดาหรืออย่างอื่น แต่เราจะจัดการยังไง เราจะมีมาตรการหรือมาตรฐานอย่างไร เพราะฉะนั้น พระสันตะปาปาจึงพยายามเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน เราจึงเห็นว่าสถิติมันโต้กลับ คือคนที่ทิ้งวัดไป คนยุโรป คนอเมริกาก็เริ่มกลับมา เพราะเขาคงรู้สึกว่าวัด ศาสนา หรือศรัทธาเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความมั่นใจคืนกลับมาก่อน

 

มีผู้ต่อต้านหรือมีความท้าทายอะไรพิเศษในยุคสมัยของพระองค์หรือไม่

ผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของสิ่งเดิมๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเลยมีคำว่า อนุรักษนิยม กับ หัวก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะถูกเข้าใจผิดก็ได้ เพราะพระองค์ก็เล่นเผือกร้อนอยู่บ้าง หรือบางทีพระองค์ก็พูดถึงว่า เอ… พระสงฆ์หรือสังฆานุกร (นักบวชผู้ช่วยบาทหลวง) เอาคนที่แต่งงานมาแล้วก็ได้นี่ หรือจะเป็นผู้หญิงได้ไหม คือบางทีการขว้างหินถามทางแบบนี้ ท่านไม่ได้ใช้วิธีแบบการเมืองแต่ใช้แบบศาสนา ไปหาข้อมูลมาคุยกัน เขาใช้คำว่า ‘เสวนา’ (dialogue) พอไปหาข้อมูลมาคุยกันเราก็จะพบทางออก

ระหว่างทางของการคุยกันอาจจะมีทะเลาะบ้าง แต่พระองค์ก็มีวิธีที่ดี เท่าที่ผมสังเกต เช่นสมมติจะพูดเรื่องเยาวชน พระองค์ก็เรียกเยาวชนมา ไม่ได้เรียกบรรดาผู้ใหญ่อย่างเดียว เพราะว่าผู้ใหญ่จะคิดในหลักการ แต่เยาวชนคือคนที่ปฏิบัติจริงในชีวิตของเขา

เพราะฉะนั้น ถามว่ามีกระแสบ้างหรือเปล่า ผมเชื่อว่ามีแน่ๆ อยู่แล้ว อย่างที่เราเห็น ก็จะมีกลุ่มที่ไม่ยอมรับอำนาจของพระองค์ มีผู้ที่ไม่อยากเปลี่ยนจารีตละติน

แต่สิ่งเหล่านี้ ถ้าให้คิดแทนพระองค์ ผมเชื่อว่าพระองค์ผ่านสิ่งเหล่านี้มาเยอะแล้ว แล้วบางทีเป็นเรื่องที่เราพูด สื่อพูด สื่อตีประเด็น คิดไปเอง แต่ต้องฟังว่าพระสันตะปาปาพูดยังไง พระองค์ตรัสตรงไหน เพราะว่าต้องไปอ้างอิงอีก ไม่งั้นจะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งได้ แต่พระองค์ก็ไม่เคยออกมาพูดเลยว่าพวกนี้เป็นศัตรู หรือพวกนี้ไม่ใช่

ผมว่าเหมือนสังคมทั่วไป เมื่อมีปัญหาก็ต้องเคลียร์ คนที่ดูเหมือนมีปัญหาก็มักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด แต่ถ้าไม่เคลียร์เลย ไม่ทำความเข้าใจเลย ก็ไม่ใช่ แล้วก็มีปัญหาเรื่อยๆ บางที่มีปัญหาในระดับสภาสังฆราชเลยเหมือนกัน อย่างที่ชิลี ที่อาจจะมีเรื่องการแก้ปัญหาบางอย่าง หรือการที่พระองค์เลือกใครบางคนมาทำหน้าที่บางอย่างแล้วพอมาวันนี้ก็มีปัญหาเหมือนกัน ผมว่ามันก็กลับมาที่คำตอบเดิมว่า เราเป็นองค์กรศาสนา แต่เราทำงานภายใต้มนุษย์

 

 

สำหรับศาสนิกชนคาทอลิกไทย รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหรือรู้สึกอะไรบ้างในสมณสมัยของพระองค์

ผมเชื่อว่าคาทอลิกไทยเขาดูรักสมเด็จพระสันตะปาปาองค์นี้มากๆ แล้วก็ผูกพัน เราสังเกตง่ายๆ ว่าตอนที่รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมา ฮือฮา ดีใจ คือพระองค์มาเอเชียก็มาทั้งไทยและญี่ปุ่น ก็ลองเปรียบเทียบดูนะว่าญี่ปุ่นเขาประมาณไหน เราก็รู้สึกว่าเขาก็ไม่ได้อะไรนัก ในขณะที่ประเทศไทย สังคมไทย คาทอลิกไทยก็ตื่นเต้นยินดี

ผมเชื่อว่าคำสอนของพระองค์ไปแตะทุกคน ในขณะที่คำสอนของบางพระองค์ อาจจะเป็นเรื่องเทวศาสตร์เยอะๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยมีเรื่องที่จะใกล้ชิดกัน แต่พระสันตะปาปาก็จะมีเรื่องใกล้ชิดกับประเทศไทยตลอด เช่นในยุคสมัยของพระองค์มีการประชุมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พระสันตะปาปาไปพบพูดคุย ไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับทางพระภิกษุ จะมีการซีนอตเยาวชนซึ่งมีคนไทยไปร่วม เราก็ได้ยินเรื่องราวของพระองค์มาตลอด

ผมเชื่อว่าในมุมหนึ่งสื่อก็ช่วยให้ข้อมูล คนไทยก็รู้สึกว่าในยุคสมัยของพระองค์รู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น

 

การเสด็จประเทศไทยในครั้งนี้ นอกเหนือจากการเยี่ยมเยือนพี่น้องศาสนิกชนคาทอลิกแล้ว พระองค์ทรงสนพระทัยประเด็นอะไรอื่นเป็นพิเศษไหม และเหตุใดจึงทรงเลือกเยือนไทยกับญี่ปุ่น เพราะอย่างกรณีการเสด็จเยือนเมียนมาร์ที่ผ่านมา ก็คาดการณ์กันว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและชาวโรฮิงญาด้วย

ถ้าตอบตามตรงก็ต้องตอบเรื่องนี้เป็นสองสามประเด็น ทุกคนจะได้เข้าใจ

ประการที่หนึ่ง ถ้าพระองค์เลือกได้ จะทรงเลือกประเทศที่ยากจน ลำบาก มีปัญหา ถ้าสุขสบายคือไม่ไป

ประการที่สอง ผมเชื่อว่าเรื่องเมียนมาร์ก็อาจจะเป็นเรื่องที่สื่อคิดไปเอง เพราะพระองค์ไม่ได้บอกว่ามาหาโรฮิงญาหรืออะไร พระองค์อาจจะพูดถึงด้วยความห่วงใย แต่บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยง อาจจะต้องกลับไปอ่านเอกสารดู หรือว่าก่อนที่พระองค์มาแต่ละประเทศพระองค์จะมีคลิปวิดีโอสั้นๆ เราไปดูตรงนั้น จะรู้คำตอบ

ประการที่สาม คนก็จะถามแบบนี้ว่ามาประเทศไทยทำไม ก็อาจจะตอบว่า เป็นปีที่สำคัญ 350 ปีมิสซังสยามไง ก็มีความสัมพันธ์ทางการวาติกันกับไทยมาตั้งครบ 50 ปีพอดี หรือว่าโป๊ปองค์ที่แล้วมาครบ 35 ปี คนก็จะมองสิ่งเหล่านี้ แต่ในคำตอบที่เป็นจริงเลยคือ เป็นความพอดี เป็นความเชื่อมโยง เพราะถ้าตอบว่าพระองค์มาประเทศเราเพราะยึดตาม 350 ปี แย่ต่อพระองค์แล้ว เพราะชาวฟิลิปปินส์ก็ครบ 500 ปีเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า มาประเทศไทยพระองค์ปรารถนาอะไร มีสารอะไรอยากจะนำเสนอ ผมเชื่อว่าพระองค์ตั้งใจจะมาที่ประเทศญี่ปุ่นแน่ๆ แต่บังเอิญเป็นความเชื่อมโยงกันได้ พระองค์ก็ยังพอที่จะจัดเวลา มีหน่วยดูแล เพราะฉะนั้นเลยมีประเทศไทยไปด้วย แต่ตอบแบบนี้บางทีฟังแล้วจะระคายหูว่าเป็นของแถมหรืออะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราสังเกต ตอนไปพม่าก็ไปบังกลาเทศ หรือไปแอฟริกาด้วย ก็เหมารวมไป 3 ประเทศ

ทีนี้ถามว่าแล้วมาประเทศไทยนี่ยังไง เพราะเชื่อว่าถ้าให้ตอบเหตุผลที่ไปญี่ปุ่น ท่านจะมีสองคำตอบที่ชัดเจนมากๆ หนึ่งคือท่านเป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต เยสุอิตทำงานพระธรรมทูตที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ท่านปรารถนาจะไปเอเชียอยู่แล้ว และสอง ไปญี่ปุ่น ฮิโรชิมา นางาซากิ ครบรอบนิวเคลียร์ สงครามอะไรต่างๆ

แต่ประเทศไทย มาทำไมหรือมาเพราะอะไร ผมเชื่อว่าการมาของท่านก็เพราะประเทศไทยมีคนนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นโอกาสที่จะมาเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนาหรือคริสตศาสนิกชนไทย

เวลาท่านไปที่ไหน ผมก็มีคำถามนะครับว่าหลังจากที่ท่านไปแล้วจะเกิดอะไร ผมเชื่อว่าการที่ท่านมา สร้างความเข้มแข็ง การที่จะได้พบกับพระองค์ กิจกรรมที่จะเห็น เหมือนเราเรียกกลับคืนศรัทธาหรือจุดศูนย์กลางของคนมาได้ แล้วก็เป็นโอกาสที่ทำให้คนเข้าใจคริสต์ศาสนาไทยได้มากขึ้น ไม่ใช่เข้าใจไปเอง มีอคติ หรืออะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้น กลับมาที่คำถามว่า แล้วพระองค์มาทำไม ถ้าที่สุดแล้วพล็อตที่สำคัญคือพระองค์เลือกประเทศไทย เพราะพระองค์คิดว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นประเทศที่ไม่ใช่ทางผ่านแล้วจะไปญี่ปุ่น แต่เป็นประเทศที่เมื่อพระองค์มาที่นี่แล้วจะทำให้คริสตศาสนิกชนคนไทยเข้มแข็งขึ้น จะได้ทำให้สังคมไทยมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างแท้จริงโดยชีวิตของพระองค์

 

 

'สาร' ที่พระองค์จะส่งถึงประชาคม เหมือนกับทุกที่ที่เสด็จเยือน หรือธีมสำคัญของการเสด็จเยือนในครั้งนี้คืออะไร

‘สาร’ สำหรับครั้งนี้จริงๆ เป็นเรื่องที่อาจจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป แต่ก็จะพยายามจะอธิบายในแบบของเรา

ประเด็นแรก อย่างที่เราไปเห็นที่พม่า ‘love and peace’ หรือ ‘mercy’ แต่ของเราเป็นเรื่อง ‘ศิษย์พระคริสต์ ศิษย์ธรรมทูต’ (CHRIST S DISCIPLES…MISSIONARY DISCIPLES) ถามว่าสองสิ่งนี้คืออะไร ศิษย์ก็คือลูกศิษย์ลูกหาของพระเยซูเจ้านี่แหละ ส่วนศิษย์ธรรมทูตก็คือ เราทุกคนเจริญชีวิตให้สมกับการที่จะเป็นผู้แพร่ธรรมได้ เมื่อเราเป็นศิษย์ของพระเยซูแล้ว เราก็ต้องเป็นผู้แพร่ธรรมได้ ถามว่าแล้วทำไมเลือกหัวข้อนี้ จริงๆ แล้วเป็นหัวข้อของสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย

ประการที่สอง แต่ละที่ที่ท่านไปเมื่อเสด็จประเทศไทย จะมีพอยต์  เช่น ถ้าพระองค์มาถึง วันรุ่งขึ้นพระองค์ก็จะไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อสานสัมพันธ์กับภาครัฐ  หลังจากนั้นก็ไปวัดราชบพิธเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช แล้วก็มาที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ในงานเมตตา แล้วก็เข้าวังเพื่อไปเป็นแขกของพระองค์ท่านด้วย และหลังจากนั้นก็มามิสซาใหญ่ที่สนามศุภชลาศัย แต่ละจุดเหมือนมีพอยต์ว่าไปเพื่ออะไร วันรุ่งขึ้นไปที่วัดนักบุญเปโตรพบนักบวชชายหญิง ครูคำสอน พบกับบรรดาสังฆราชของเอเชีย พบกับคณะเยสุอิตที่ท่านสังกัดอยู่ ภาคบ่ายก็ไปที่จุฬาฯ พบกับผู้นำศาสนาหลักของประเทศไทย แล้วก็พบกับนิสิตนักศึกษา เป็นภาคการศึกษา ตอนเย็นก็มิสซาเยาวชนที่อัสสัมชัญ แต่ละพอยต์จะมีสปีช และแต่ละสปีชจะมีเรื่องของการแบ่งปัน

ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็พยายามเผยแพร่ความเข้าใจด้วยสารของบทเพลงง่ายๆ คือเพลง ให้รักเป็นสะพาน โดยพูดถึงเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้ อย่างพระองค์มาเมืองไทยก็เหมือนพระองค์ได้ทอดสะพานข้ามจากยุโรปมาเอเชีย เหมือนเมื่อเหล่าคริสตศาสนิกชนทำความดี คริสตศาสนิกชนก็ได้ทอดสะพานแห่งความดีงาม ความรักต่อทุกๆ คน เพราะศิษย์พระคริสต์ ศิษย์ธรรมทูต เป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่ว่าเราจะนำเสนอให้เข้าใจแบบไหน

แล้วเราก็ใช้วิธีการของบทเพลง การรวมตัวของศิลปิน หรือบางที่ก็ใช้ค่ายเยาวชน บางที่ก็นักบวชหญิง อย่างตอนท่านเสด็จไปที่จุฬาฯ ท่านก็จะได้พบบทเพลงที่ขับร้องโดยนักเรียนชาวเขาร่วมกับนักเรียนมุสลิม แน่นอนว่าท่านจะมีสปีช แต่ว่าสปีชเหล่านั้น ที่สุดแล้วก็จะมาสรุปที่ motto ตัวนี้

 

เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก เวลาไปไหนคนก็จะเชื่อมโยงว่ามีความหมายทางการเมืองอะไรหรือไม่ ดังนั้นเวลาที่พระองค์ท่านเลือกเสด็จมาไทย จริงๆ แล้วพระองค์ท่านติดตามหรือเข้าใจสถานการณ์ในบ้านเมืองเรามากน้อยแค่ไหน แล้วพระองค์ท่านต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง 

หนึ่ง วาติกันมีสถานทูตวาติกันประจำประเทศไทย เพราะฉะนั้น ท่านก็รับรู้เรื่องของประเทศไทยผ่านสถานทูต อันนี้พูดถึงหลักการ แล้วก็เมื่อกี้ได้ให้สัมภาษณ์ไปว่าทุก 5 ปีจะมีแอดดีมีนา (Edlimina) คือที่ท่านพบกับบรรดาพระสังฆราชหรือมุขนายกมิสซังของประเทศไทย ก็จะต้องมีการรายงาน แล้วการประชุมต่างๆ เช่น ประชุมเยาวชน ก็จะมีเอกสารที่จะต้องรายงานถึงสถานการณ์ไป ทีนี้จะอ่านหรือไม่อ่าน จะบรีฟหรือไม่บรีฟก็แล้วแต่ เป็นหลักการที่พระองค์รู้ได้ตลอด

สอง พระองค์มีญาติคือ ซิสเตอร์อันนา โรซา (Sister Ana Rosa)  ซิสเตอร์โรซาก็อยู่ประเทศไทยนานแล้ว ตอนที่ท่านให้สัมภาษณ์พระสันตะปาปาก็พบเจอ แล้วตอนท่านจะเสด็จ ท่านก็อนุญาตให้ซิสเตอร์เป็นคนแปลสิ่งที่ท่านเทศน์ เพราะฉะนั้นท่านก็มีวิธีการทั้งทางตรงทางอ้อม เพื่อที่จะรับรู้สถานการณ์ความเป็นไปของประเทศเรา ถามว่าท่านรู้ไหม ผมว่าท่านรู้ แต่ก็เหมือนผู้นำทั่วๆ ไปด้วย เช่นว่าพูดได้แค่ไหน จะพูดยังไง หรืออะไรเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

 

พระศาสนจักรท้องถิ่นเตรียมการต้อนรับและเตรียมความพร้อมของศาสนิกชนอย่างไรบ้าง และการเตรียมพร้อมของสื่อมวลชนคาทอลิกซึ่งเป็นงานงานของคุณพ่อโดยตรงเป็นอย่างไร

การเตรียมในส่วนของพระศาสนจักรส่วนกลาง ก็ต้องตั้งคณะทำงานโดยมีพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิชเป็นหัวเรือใหญ่ แล้วก็ตั้งทีมงานหลักตามที่วาติกันขอมา หลังจากนั้นก็มีการเซ็ตกรรมการแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเรื่องพิธีกรรม การจัดที่นั่งของคน เรื่องบัตร การจัดการทุน จัดหาทุน ของที่ระลึก จัดการเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

แล้วก็มีเรื่องระดับท้องถิ่นอีก สมมติถ้าพระศาสนจักรคาทอลิกคือส่วนกลาง พระองค์เสด็จไปไหนก็เรียกร้องให้แต่ละจุดมีการจัดเตรียมการในแบบต่างๆ โดยการร่วมงานกัน เนื่องจากว่าถ้าเราดูแถลงข่าวก็จะเป็นรัฐบาลทูลเชิญ ก็ต้องทำงานร่วมกัน ถามว่าส่วนท้องถิ่นทำอะไร เมื่อยังไม่ชัดเจนมากก็มีการประชุม แต่พอมีความชัดเจนมากๆ เข้า เราก็ประชุมแบบเปิดหน้าได้แล้ว มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

ผมเชื่อว่าแต่ละภาคส่วน มีการเตรียมทั้งภายนอก เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนเมื่อพระองค์เป็นบุคคลทางศาสนาก็ต้องมีการเตรียมงานภายใน มีบทภาวนา มีเรื่องของการเตรียมจิตใจ

มีการเตรียมในส่วนของเยาวชน หรือครูคำสอน อาจจะเป็นผู้ที่มาร่วมงานทั่วไป มีการเตรียมในส่วนเพื่อที่จะสอดรับกับคำสอนของพระสันตะปาปา มีกลุ่ม Green Angels  ดูแลเรื่องขยะ แต่ให้สอดรับกับคำสอนของพระสันตะปาปาก็คือ LAUDATO SIการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่ไปทุกที่ พอเลิกก็ทิ้งขยะเลอะเทอะ แต่พระองค์สอนเรื่องการที่จะรักษ์โลก มีหลากหลายกลุ่มมากๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็พยายามช่วยกัน มีอาสาสมัครเข้ามาเยอะจนบางทีก็ไม่สามารถที่จะจัดงานให้เขาได้ มีเตรียมบทเพลง กลุ่มนักขับร้อง มีการเตรียมจิตใจของบรรดาเยาวชน แล้วก็มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นระหว่างทางมากมาย อันนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไป

แต่ในแง่ของสื่อ มีเรื่องของการประชาสัมพันธ์กับเรื่องการประสานงานสื่อ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของที่ระลึก หรือระบบธุรการ หลักๆ เมื่อเราพูดถึงสื่อ เราจะนึกถึง 4 แท่ง

แท่งที่ 1 เราเรียกกลุ่มนี้ว่า แวม (VAMP) ก็คือเวลาที่เราเห็นในข่าวว่ามีสื่อมากับพระสันตะปาปา นี่คือสื่อที่ลงทะเบียนมาจากทั่วโลก นั่งเครื่องมากับพระสันตะปาปา

น่าเสียดายที่ไม่มีคนไทยเพราะอาจจะสมัครไม่ทัน แต่ที่มากไปกว่านั้นอีกก็คือถ้าเข้ากลุ่มนี้ต้องไปที่โรม ถ้ามาไทยก็ต้องพักกับนักข่าว ไปญี่ปุ่น กลับไปที่โรม แล้วก็ค่อยกลับมาไทย ผมได้ยินมาว่าถ้ามีคนไทยอยู่บนเครื่องบินจะได้ถามคำถามแรก ก็เสียดายเหมือนกัน กลุ่มนี้มีประมาณ 72 คน โดย  65 คนเป็นสื่อที่สมัครเข้ามา อีก 4 คนจะเป็นสำนักข่าววาติกัน อีก 2 คนจะเป็น assistant และพวกหัวหน้า และอีกคนจะเป็นเรื่องสายการบิน

แท่งที่สอง คือแท่งสื่อคาทอลิกในประเทศไทย เราจะใช้จุดแข็งของแต่ละกลุ่มมาเสริมกันเช่น สื่อราชบุรีทำวิทยุเก่งก็ทำวิทยุไป แล้วเราก็จะขอความร่วมมือเผยแพร่งานโป๊ปจากสื่อหลักอย่างเป็นทางการ

แท่งที่สามเป็นสื่อภาครัฐ ซึ่งมีทั้งกรมประชาสัมพันธ์ มีกระทรวงวัฒนธรรม เขาก็มีส่วนของเขา

และแท่งสุดท้าย เราก็มีบริษัทหนึ่งมาดูแลเรื่องการลงทะเบียนของสื่อทั้งไทยและต่างชาติ ตอนนี้ก็ลงมาประมาณ 700 กว่าคนแล้ว สำนักนึงได้ 3 คน อันนี้ไม่นับรวมการจัดเรื่องของภาพ มีทั้งภาพ official ภาพจากจิตอาสา ภาพที่มาจากเจ้าของพื้นที่ แล้วก็ media center อยู่ที่โรงแรม Holiday Inn การเชื่อมโยงเรื่องของการถ่ายทอดสด มีไลฟ์แน่นอนทุกเหตุการณ์เท่าที่สามารถทำได้ ทำเนียบรัฐบาลก็อาจจะมีบางช่วง การถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ช่อง 9 ช่อง PPTV ช่อง TNN2 เดี๋ยวคงจะได้รับการแจ้งอีกทีหนึ่ง เพราะแต่ละสื่อในประเทศไทยเองก็เห็นความสำคัญที่จะร่วมเผยแพร่

แล้วเราเองก็มีบทเพลงที่ออกร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ระดมศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง ก็หลากหลายทั้งมีสังกัดและไม่มีสังกัด เขาก็ทำบทเพลงที่ร้องง่ายๆ กันขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ จะถูกนำไปจัดเป็นกิจกรรมก่อนวันงานที่สนามศุภชลาสัย จะมีคอนเสิร์ตเล็กๆ มีกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ

ในแง่ของสื่อก็จะมีที่ต้องร่วมงานกับทางวาติกันเอง แล้วก็จัดระบบของงานนี้ มีหนังสือออกมา เช่น หนังสือประกอบพิธีในจุดต่างๆ หนังสือที่ระลึกก่อนงาน หรืออย่างในฟิลิปปินส์ก็จะมีหนังสือรวบรวมสปีชของท่าน ก็สามารถที่จะนำเอามาเป็นบทสอนในภายหลังได้ แล้วก็จะมีทีมโฆษกที่ประสานงานและพูดไปในทิศทางเดียวกัน จะมีการจัดการอะไรต่างๆ พอสมควร ต้องแยกหน้าที่กันให้ดีๆ

 

อย่างกลุ่มที่เรียกว่า VAMP เวลาที่สัมภาษณ์พระองค์ท่านสามารถถามสดเลย หรือว่ามีการเตรียมคำถามกันในระดับนึง

ผมทราบมาว่าเป็นการถามสด แต่ถ้าเป็นสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาบางท่าน อย่างเช่น โป๊ปเบเนดิกต์ก็ไม่สด แต่ว่าในความสดนั้นจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรืออะไรบ้าง

แล้วเมื่อกี้เรื่องสื่อผมต้องเพิ่มเติมนิดนึง จะมีเว็บไซต์ มีแฟนเพจอย่างเป็นทางการคือ Pope Visit Thailand ก็ไปเช็คข่าวกันตรงนั้นได้

 

ความเป็นอิสระถือว่าเป็นหัวใจของการทำงานสื่อ อยากรู้ว่าสื่อมวลชนคาทอลิก เป็นสื่อที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะเป็นสื่อมวลชนที่ผูกโยงกับองค์กรศาสนา ดังนั้นในแง่ของการนำเสนอประเด็นเรื่องราวต้องมีผู้ใหญ่ approved ไหม หรือจริงๆ สื่อมวลชนคาทอลิกมีอิสระในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ

สื่อมวลชนคาทอลิกในประเทศไทย ทำงานภายใต้ร่มของสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิก เพราะฉะนั้นเราก็เหมือนสื่อองค์กร หนักไปทางงานประชาสัมพันธ์มากกว่างานประเภทเปิดประเด็นพูดคุยต่างๆ แต่ก็พอมีบ้าง

ฉะนั้น ถามว่าเราสามารถทำได้อย่างอิสระไหม ก็อิสระแบบรู้กัน ก็ทำงานภายใต้สภามีสังฆราชคนนึงมาดูแล ผมก็เป็นเลขาธิการไป แล้วก็มีการประชุม มีการรวมกลุ่ม มีอะไรต่างๆ แต่โดยรวมๆ ท่านก็ไม่ได้มาอะไร เหมือนเราก็รู้ว่าสิ่งที่ทำจะประมาณไหน จะหนักไปทางประชาสัมพันธ์

ถ้าพูดตรงๆ สมมุติมา discuss กันว่าพระศาสนจักรคิดยังไงกับเกย์ ก็เป็นประเด็นแรง อาจจะไม่ต้องคิดยังไง ถ้ามีก็เอาคำสอนมาว่าเลย ก็ไม่เปิดประเด็น

 

แนวโน้มที่หลายๆ คนสนใจคือ มีเสียงชื่นชมว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสหัวก้าวหน้า แล้วท่านพูดเรื่องประเด็นอ่อนไหวอย่าง LGBT หรืออะไรแบบนี้ ในฐานะที่คุณพ่อเองก็ทำงานสื่อมวลชน ต้องตามติดเรื่องพวกนี้แค่ไหน แล้วต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานไหม ในเมื่อพระองค์ท่านพูดเรื่องทำนองนี้ออกมาเอง

สมมติเราเป็นแมชชีน เวลามีข้อมูลป้อนเข้ามา เราต้องไปจัดแคตตาล็อกให้เหมาะสม เช่นว่า ถ้าเป็นคำสอนของพระสันตะปาปา เราก็เผยแพร่ได้เลย แต่ถ้าเป็นทัศนคติของเรา เราอาจจะต้องยั้งไว้ก่อน ถ้าจะตอบคำถามนี้ ผมเชื่อว่ามีแกนกลางอยู่ แต่การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยก็มีอยู่ด้วย เช่น เรื่องเพศที่สาม แก่นก็คือพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกที่มีชายและหญิง ก็จบอยู่ตรงนั้น แต่ว่าแล้วเพศที่สามมาได้ยังไง อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยา อาจจะเป็นเรื่องของการยอมรับ แล้วพระศาสนจักรจะว่าเรื่องนี้ยังไง ก็ต้องพูดแก่นเหมือนเดิม คือพระเป็นเจ้าสร้างชายและหญิง แต่ว่าสิ่งที่พระสันตะปาปาสอน ก็คือเคารพเขาก่อน พอเคารพแล้ว  บาปก็ยังเป็นเรื่องของบาป แต่ว่าเรื่องของการเจริญชีวิตเป็นอีกเรื่อง ก็กลับมาคำตอบที่ว่า เมื่อเราเจอประเด็นอะไรเหล่านี้ ผมมีความเชื่อว่าแก่นยังอยู่ และยังไม่เปลี่ยนง่ายๆ

มันจะมีคำว่าเปลี่ยนกับปรับ สิ่งที่เราต้องปรับคือ ต้องทำความเข้าใจกับยุคสมัย ไม่อย่างนั้นคำสอนก็ปรับใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ก่อน สมมติประเทศไทยมีเรื่องผู้อพยพ แล้วตอนนี้เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นความเข้มข้นขึ้นของการค้ามนุษย์ (Trafficking) ตามตะเข็บชายแดนหรือมีความซับซ้อนเข้าไปอีก สิ่งที่มันเป็นแก่นก็คือปัญหายังอยู่ ต้องมีการแก้ปัญหา แต่ต้องปรับวิธีการ สมมติตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามา คุณพ่ออาจจะเทศน์ แต่คุณพ่อสามารถทำบทเทศน์ผ่านไอแพดก็ได้ แต่การยอมรับในสังคมไทย การถือไอแพดขึ้นไปแล้วเทศน์ชาวบ้านก็อาจจะงงๆ รับไม่ได้ แต่ถามว่าถ้าเป็นมิสซากลุ่มย่อยคุณพ่อก็ตามสบาย อะไรอย่างนี้ มันจึงมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแน่ๆ แต่ว่าต้องปรับ

 

อย่างเมื่อเดือนก่อนมีข่าวว่าพระองค์ท่านใช้ทีมงานข้างนอก น่าจะเป็นทีมงาน FBI หรืออะไรสักอย่าง เข้ามาพยายามที่จะทำให้องค์กรโปร่งใสขึ้น ก็เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจในการปรับตัวของพระศาสนาจักร ในช่วงที่คุณพ่อได้มีโอกาสกลับไปที่โรมหรือไปอบรม สัมมนา เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ้างไหม

ผมเชื่อว่าประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญ คือผมมีความเชื่อว่าการยอมรับ การดูถูก ของฝั่งยุโรปที่มีต่อชนชาติอื่นก็คงมีอยู่บ้าง ทีนี้ในวาติกันส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีเรื่องราวเหล่านี้ิอยู่ไม่มากก็น้อย แต่พระองค์ก็มีวิธีที่เลือกใช้ ส่วนใหญ่ก็เป็นวิธีที่สากลยอมรับ ถ้าจะตรวจสอบกัน คุณก็ต้องเป็นองค์กรที่โปร่งใส แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเบื้องหลังความคิดก็คือ การที่พระองค์เรียกคืนความน่าเชื่อถือกลับคืนมา เพราะถ้าศาสนาไม่น่าเชื่อถือก็จบข่าวไง แล้วเราจะพึ่งใคร ยกตัวอย่างประเทศไทย สมมติองค์กรที่สำคัญในศาสนาพุทธ องค์กรความยุติธรรมโดนทำลายความน่าเชื่อถือ อ้าว แล้วเราจะเชื่อถือใคร องค์กรศาสนาโดนทำลายด้วยความไม่โปร่งใส บุคคลประพฤติผิดในสิ่งที่ตัวเองสอน ครู นักการเมืองฉ้อฉล มันถูกทำลายหมด

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมสังเกตอยู่ก็คือ พระองค์พยายามเรียกศรัทธาคืนมา แล้วอีกอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ เวลาที่เข้าไปทำงานกับโรม พระองค์ให้โอกาสสตรีที่จะมาทำงานให้พระศาสนจักร บางทีเราก็คิดว่าบุรุษเจ๋ง ทำงานนู่นนี่นั่น แต่ผมคิดว่ามันก็เสริมกัน

การให้โอกาสเป็นคำสอนแรงๆ ของพระองค์ เป็นการสอนแบบใหม่ เช่น เรื่องการล้างเท้าในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์  หัวใจหลักของการล้างเท้าไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนดีหรือคนไม่ดี แต่เป็นการยอมรับความบกพร่อง การก้มลงแล้วจูบเท้า ล้างเท้าคนที่มีความบกพร่อง เหมือนเป็นการยอมรับความอ่อนด้อยไม่ดีของเรา (พิธีนี้เป็นพิธีในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงการที่พระเยซูล้างเท้าอัครสาวกแล้วตรัสสอนถึงการปฏิบัติต่อผู้ที่ต่ำต้อยกว่า พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงทำพิธีล้างเท้าโดยมีสตรี ผู้มีความเชื่ออื่น ผู้อพยพและผู้ต้องขังได้รับการล้างเท้าและจุมพิตที่เท้าจากพระองค์ด้วย-ผู้เขียน)

การที่จะมีสตรีเข้ามาทำงาน การยอมรับสตรีมากขึ้น หรือการที่จะให้โอกาสฆราวาส คือกระแสเรียก (ตามความเชื่อคาทอลิกว่าพระเจ้าทรงเรียกให้คนบวชเป็นนักบวช-ผู้เขียน) ที่ลดลง แล้วใครจะมาช่วยแทน ก็ต้องเป็นฆราวาส แล้วบางครั้งไม่ได้แปลว่าบาทหลวงจะรู้ทุกเรื่อง จะเก่งทุกสิ่งอย่าง ก็ต้องช่วยๆ กัน บทบาทฆราวาสที่จะมาร่วมงานกัน ก็จะทำให้เกิดเอกภาพ แล้วพระองค์ก็ยอมรับความแตกต่างได้ง่ายมาก พระองค์เป็นคนสไตล์ยอมรับอะไรง่ายๆ แล้วก็มองไปที่หัวใจสำคัญมากกว่า ก่อนหน้านี้ผมก็อ่านเอกสาร 4-5 อย่างที่พระองค์ทำให้เกิดการเซอร์ไพรส์คือ พระองค์เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เซลฟี แปลกดี

 

เมื่อคุณพ่อเห็นข่าวพระองค์เซลฟี ตัวคุณพ่อเองรู้สึกยังไง

ผมชอบนะ น่ารักดี คนที่เป็นผู้ใหญ่ระดับสูงๆ เป็นบุคคลสำคัญ แล้วมาทำตัวง่ายๆ อย่างนี้ เป็นภาพประทับใจ แล้วก็ไม่ต้องสอนกันเยอะ พระองค์ก็มาเลย แต่ผมเชื่อว่าจะมีบางอย่างที่เราซ่อนไม่ได้ถ้าไม่ใช่ของจริง เหมือนเราถ่ายโต๊ะจีน ถ่ายงานแต่งงาน เราต้องถ่ายทุกโต๊ะ แต่บางทีเราไม่ได้อยากจะถ่ายเลย พระองค์ก็ชวน มาเลย สนุกสนาน อย่างงานประชุมซีนอตกับพระองค์ท่าน พระสันตะปาปาก็อยู่ตลอด ท่านก็ฟัง แล้วท่านก็ให้เวลาร่วมกิจกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งผมว่าก็ดี บางทีเราอยู่ฝ่ายสื่อ เราทำวิดีทัศน์ส่งไป พระคุณเจ้าก็บอกว่า จริงๆ ก็ไม่ได้ดูหรอกนะ แต่เราก็ส่งไป ใครจะเป็นคนดูก็ว่าไป ก็จะมีเรื่องพวกนี้อยู่ ซึ่งผมก็แค่มองว่าพระองค์เป็นผู้ใหญ่สูงๆ แล้วมาทำอะไรง่ายๆ เป็นภาพจำที่เราก็ชอบ

 

ในโลกที่เปลี่ยนไปมาก คริสต์ศาสนาก็เป็นหนึ่งในสถาบันที่คนบอกว่า conservative ที่สุดในโลก ทำไมถึงยังจำเป็นอยู่

ผมเชื่อว่าคำว่า conservative ถูกมองแค่มุมเดียว เวลาที่เราพูดถึงคริสตศาสนา เราก็จะพูดถึง (อำนาจ) สามอย่างไป พร้อมๆ กัน ก็คือ ‘มาจิสเตลิอุม’ (Magisterium -เป็นภาษาละตินหมายถึงอำนาจของพระสันตะปาปา) อำนาจสูงสุดอยู่ที่โป๊ป คำว่าอำนาจสูงสุดก็คือ ถ้าพระองค์บอกเรื่องนี้ว่าได้ก็คือได้ ถ้าเปลี่ยนก็คือเปลี่ยน

สอง พระคัมภีร์ ถ้ามีการตีความก็ว่าไป

สามคือ tradition หรือพิธีกรรมที่ดูแบบรุ่มร่าม ก็มาจาก tradition

ถามว่า conservative ไหม ผมมีความเชื่อว่าสามก้อนนี้เหมือนเชือกที่ดึงกันไว้ เดี๋ยวมันจะอย่างนี้ เดี๋ยวมันจะอย่างนั้น  ก็อาจจะเคลื่อนยาก แต่ถ้าเราศึกษาความเป็นศาสนาคริสต์ในรายละเอียด จริงๆ แล้วก็โมเดิร์นมาก

แล้วในความเป็นศาสนาพอไปโมเดิร์นคุณก็รับไม่ได้อีก สมมติมีแอพฯ สวดสายประคำ คุณก็มีปัญหาอีกว่า พระเยซูเจ้าไม่ได้สอนเรื่องนี้ แพงด้วย พอจะโมเดิร์นหน่อยคุณก็จะเป็นจะตาย พอเก่าแก่คร่ำครึคุณก็ว่า ผมก็เลยมองแบบนี้ว่า ความเป็น conservative เป็นภาพลักษณ์ที่คนมองเข้ามา ซึ่งผมว่าก็ดีนะ ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน แต่การตอบโจทย์ที่ทำให้ศาสนาเป็นเรื่องจำเป็นของมนุษย์ เช่น อันนี้อาจจะเรื่องส่วนตัว เกี่ยวไม่เกี่ยวก็ลองฟังดู

สื่อคาทอลิกกเพิ่งจัดประกวดวรรณกรรม ‘วรรณศิลป์อุชเชนี’ อุชเชนีเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาสื่อมวลชน แล้วก็สิ้นชีวิตลง เราก็รู้สึกว่าถ้าปล่อยไปสักพักเรื่องราวก็จะหายไป เลยคุยกับทางฝั่งลูกชายเขา แล้วก็ฝั่งศิลปินแห่งชาติที่ชื่นชมเคารพเขา เลยตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาแล้วก็จัดประกวด ปีนี้เราจัดประกวดในหัวข้อ ‘ที่ใดมีชีวิตที่นั่นมีความหวัง’ จริงๆ แล้วเป็นหัวข้อที่เขาเขียน แต่สิ่งที่พ่อค้นพบเพราะพ่อเป็นกรรมการ พ่อก็เห็นว่าคนที่ส่งมานี่หมดหวังทั้งนั้นเลย เป็นคนสิ้นหวัง สิ้นไร้ไม้ตอก มีสองประเภทคือประชาชนกับนักเรียน แล้วคนที่ได้ที่หนึ่งของฝั่งนักเรียนเขาชื่อส้ม เราก็แปลกใจว่าทำไมถึงชื่อส้ม เป็นชื่อจริงได้ยังไง ปรากฏว่าเขาเป็นคนไม่มีสัญชาติ เขียนเข้ามาก็ได้ที่ 1 พอไปรับรางวัล องคมนตรีที่เป็นประธานก็บอกว่าลำบาก เดี๋ยวจะหาทุนให้เรียน คนที่ฟังเรื่องราวก็อยากจะช่วย ทำให้เราเห็นว่าการสอนโดยไม่ได้บอกว่าพระคัมภีร์สอนว่าความรักเป็นอย่างนี้นะ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ เข้าเป้าหมดในเชิงที่จะพาคนมาทำความดี แม้กระทั่งการจัดประกวดวรรณศิลป์

เวลาที่เราไปเจอเรื่องแบบนี้เรารู้สึกว่ามันมีพลังจัง แต่ถ้าเราสอนคำสอนอยู่แต่ในวัดก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ผมว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีและเราใช้จะทางตรงหรือทางอ้อม ที่สุดแล้วจะกลับมาให้เห็นว่าความดียังมีอยู่  คือพอดีเราเพิ่งผ่านอุชเชนีมา หัวข้อบอกว่าที่ใดมีชีวิต ที่นั่นมีความหวัง ผมก็เอ๊ะ แล้วที่ใดมีความหวังจะมีอะไร ผมพบว่าเขามีความเชื่อ มีศรัทธา เพราะเขามีศรัทธาถึงมีความหวัง ก็เป็นเรื่องเดียวกันอีก แล้วคุณเชื่อในอะไร เชื่อในตัวเอง ความเก่งของคุณเหรอ คุณเชื่อตรงนั้นคุณมีความหวังแน่ใช่ไหม วันนึงคุณก็ตาย

ผมมองว่าที่สุดแล้วจะ conservative หรืออะไรก็ว่าไป แต่ศาสนายังช่วยเยียวยาโลกใบนี้ได้ คุณธรรมความดีของศาสนา การมาวัดทุกวัน การเห็นบางเรื่องที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปหรือยังไม่ปรับ ก็ยังเดินต่อไป เป็นการ keep on ที่จะอยู่บนโลกใบนี้

 

สิ่งที่คุณพ่ออยากฝากถึงทุกคน

ผมต้องตอบคำถามว่าโป๊ปมาทำไมบ่อยมาก ผมก็มักจะตอบไปซ้ำๆ ว่าจริงๆ แล้วพระสันตะปาปาก็เป็นผู้ใหญ่คนนึงที่มาเยี่ยมเรา แล้วเราก็คงรู้สึกดีที่เราได้เห็นพระองค์ท่านในมุมไหนก็ตาม

แต่คำถามสำคัญกว่าก็คือ พระองค์กลับไปแล้วจะยังไง จะเป็นเหมือนคนคนหนึ่งมาเยี่ยมบ้านเราไหม ท่านจะมอบอะไรให้เราระลึกถึง ถ้าจะตอบแบบทันทีทันใด ผมเชื่อว่าจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคนไทยไม่มากก็น้อย แต่ชัวร์

ตอนที่เราไปพม่า ผมอาจจะรู้สึกไปเอง คือวันที่พระองค์เสด็จไปแล้ว ดูเคว้งๆ ยังไงไม่รู้ เหมือนไม่มีอะไรทำ ไม่เห็นผู้คน ป้ายก็ถูกปลดออกไป บรรยากาศก็เปลี่ยนไป แต่ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ อยากให้การมาของพระองค์กระทบใจเรา อย่างน้อยคนอายุ 83 ปี เดินทางมาไกล แล้วก็มาให้กำลังใจกัน เราก็ไม่อยากให้การมาของพระองค์ ที่สุดแล้วมันก็เหมือนทะเลาะกันเอง ไม่มีที่นั่ง ฉันจะได้นั่งหน้าหรือนั่งหลัง มันไม่ใช่ หรือเราก็ไปอ้างพระองค์เกะกะบ้าง พระองค์สอนอย่างนี้ พูดอย่างนั้น ผมว่าที่สุดแล้วก็ต้องกลับเข้าไปสู่เป้าหมายเดิม คือพระองค์มาทำไม ผมว่าการผ่านมาของพระองค์เพียงสั้นๆ ก็จะทิ้งความประทับใจให้กับเรา แต่ขอให้ชัดเจนว่าสิ่งที่พระองค์มา สิ่งที่เรากำลังทำ และสิ่งที่เรากำลังเตรียมอยู่เป็นสิ่งที่ดีที่สร้างคุณค่าให้จิตใจของเรา

แน่นอนว่าคนในบ้านอาจจะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง คนที่เป็นเพื่อนบ้านอาจจะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับผมอยากจะให้ทุกคนใช้โอกาสที่พระองค์เสด็จเยือน เรียนรู้ ยอมรับ และเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ แต่ก็ควรจะแอบภูมิใจด้วยนะครับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิสระทางศาสนามากๆ และความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาก็ค่อนข้างน้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ มีประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าที่ถ่ายทอดสดไม่ได้ ต้องให้เว้นไป 1 ชั่วโมง มีกิจกรรมที่เรียบง่ายแต่อาจจะดูแห้งแล้ง ที่เวทีกลางพระองค์ก็ดูเหมือนมาไวไปไว ไม่ได้พูดอะไร อาจมีเงื่อนไขทางการเมืองบางอย่าง มีเรื่องการรักษาความปลอดภัยที่เราอาจจะไม่ค่อยเห็น และคนทั่วไปอาจจะไม่ได้สังเกต การขึ้นไปบนพระแท่น มีคนใส่สูทถือกระเป๋า สำหรับเราก็รู้ว่าหมายความว่าอะไร

แต่สำหรับประเทศไทยน่าจะย้อนกลับมาที่ความภูมิใจของตัวเรา เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนเลยนะ แล้วผมเชื่อว่าคนหยิบมือเดียวของคาทอลิกไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ในเชิงอะไรเลย แต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ก็ขอทำให้บ้านนี้เมืองนี้ สังคมที่เราอยู่กันเป็นคนไทย ที่เรานับถือศาสนาคริสต์ได้มีโอกาสที่จะเสริมสร้างความดีในสังคมเท่าที่เราจะทำได้ในการอยู่ร่วมกัน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0