โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พระสุพรรณบัฏ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 26 เม.ย. 2562 เวลา 02.05 น.

การจารึกพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง ในการเตรียมประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะต้องถวายพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และต้องเชิญแผ่นดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

การจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย และดวงพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เมื่อกำหนดพระฤกษ์ได้วันจารึกพระสุพรรณบัฏแล้ว ตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนโหรหลวงจะสวดบูชาเทวดา เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเวลาพระฤกษ์ พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานในพิธี จะทรงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล จากนั้นจึงเริ่มพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

การจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2493 เวลา 09.26-10.28 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี มีหลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) หัวหน้ากองปกาศิต ในหน้าที่อาลักษณ์ จารึกอักษรพระปรมาภิไธยลงในพระสุพรรณบัฏ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) โหรขากดวงพระบรมราชสมภพลงในแผ่นทอง และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปินในหน้าที่นายช่าง แกะราชลัญจกร

ในพระอุโบสถตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง 3 ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำว้า หัวหมู สำหรับบูชาพระฤกษ์ อาลักษณ์ผู้จารึกพระสุพรรณบัฏ แต่งกายด้วยเครื่องขาวและรับศีล เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ ประธานพิธี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต จุดเทียนเงินเทียนทองทุกโต๊ะจารึกแล้ว อาลักษณ์นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชอาสน์) คล้องสายสิญจน์ และหันหน้าไปสู่ทิศมงคล ได้เวลาพระฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย อาลักษณ์และโหรลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ ส่วนนายช่างทำหน้าที่แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน ในระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าหน้าที่ประโคมแตร สังข์ และพิณพาทย์

เมื่อจารึกเสร็จพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมพระสุพรรณบัฏ ม้วนแล้วพันด้วยไหมเบญจพรรณและพันด้วยแพรแดงอีกชั้นหนึ่ง บรรจุในพระกรัณฑ์ [พฺระ-กะ-รัน] ทองคำลงยาราชาวดี ก่อนจะมีการเวียนเทียนสมโภชต่อไป

คำว่า “ดวงพระบรมราชสมภพ” พบการใช้ในราชกิจจานุเบกษาครั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ซึ่งในราชกิจจานุเบกษาครั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พบการใช้คำว่า “ดวงพระชนมพรรษา” 

พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏ

พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ แต่เดิมมาเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีตให้ได้เสียงที่ไพเราะ และสื่อความถึงพระคุณวิเศษ  [พฺระ-คุน-นะ-วิ-เสด] และสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น

พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างเดียวกัน คือ ขึ้นต้นว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-บอ-รม-มะ-รา-ชา-ทิ-ราด-รา-มา-ทิ-บอ-ดี] และลงท้ายด้วย “บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” [บอ-รม-มะ-บอ-พิด-พฺระ-พุด-ทะ-เจ้า-หฺยู่-หัว]

ต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน] หรือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-เมน]

ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏปรากฏ ดังนี้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”  [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด มะ-หิด-ตะ-ลา-ทิ-เบด-รา-มา-ทิ-บอ-ดี จัก-กฺรี-นะ-รึ-บอ-ดิน สะ-หฺยา-มิน-ทฺรา-ทิ-ราด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด]

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,464 วันที่  25 - 27  เมษายน พ.ศ. 2562

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0