โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"พระสันตะปาปาฟรังซิส" ประมุขแห่งโรมันคาทอลิก เสด็จฯ เยือนไทยในรอบ 35 ปี

Manager Online

เผยแพร่ 17 พ.ย. 2562 เวลา 19.22 น. • MGR Online

… รายงาน

ในสัปดาห์นี้จะมีการเสด็จเยือนประเทศไทย ของ "สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส" พระประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย. 2019 (2562) โดย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์

อ่านประกอบ : “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” เข้าเฝ้าฯ 21 พ.ย.นี้

"โป๊ปฟรังซิส" เสด็จเยือนไทย 20-23 พ.ย.นี้ ตามคำเชิญรัฐบาล

รู้จักชีวิตเรียบง่ายของ “โป๊ปฟรานซิส” พระสันตะปาปาผู้สมถะ

นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะเสด็จมายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อเข้าเฝ้าและทรงสนทนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และได้ประทานพระอนุญาตให้คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย

นับเป็นการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ "สมเด็จพระสันตะปาปา" อีกครั้งในรอบ 35 ปี

ก่อนหน้านี้ "สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2" เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 10-11 พ.ย. 1984 (2527) โดยเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปา จากท่าอากาศยานกองทัพอากาศ ดอนเมือง

สมเด็จพระสันตะปาปา คือ ผู้สืบทอดตำแหน่งของนักบุญเปโตร (เซ็นต์ปีเตอร์) ที่ได้รับอำนาจสืบทอดมาจากพระเยซูคริสต์ ถือเป็นผู้แทนของพระเยซูคริสต์ ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันตาทอลิก และเป็นประมุขแห่งสันตะสำนักและนครรัฐวาติกัน ศูนย์กลางบริหารพันธกิจของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก

ประเทศไทยมีประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก 388,468 คน และมี 11 เขตศาสนปกครอง (มิสซัง) โดยนิกายโรมันคาทอลิก เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยนำวิทยาการจากตะวันตกมาช่วยเสริมสร้างการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือสาธารณกุศลแก่ประชาชนทั่วไปตลอดมา

สำหรับ "สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส" ถือเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ของพระศาสนจักร พระนามเดิมคือ พระคาร์ดินัลฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 1936 (2479) ที่ประเทศอาร์เจนตินา อายุ 83 ปี เป็นบุตรของคนงานทางรถไฟ มีพี่น้อง 5 คน

ทรงได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และทรงเข้าศึกษาในสามเณราลัย ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 1958 (2501) ทรงได้รับใบรับรองด้านสาขาวิชาปรัชญาจาก Colegio Máximo San José

ต่อมาพระองค์ได้ทรงสอนวิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ colegio de la Inmaculada และ Colegio del Salvador ในปี 1967 (2510) ทรงจบการศึกษา แล้วรับศีลบวชเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 1969 (2512) ทรงทํางานสอนที่มหาวิทยาลัยซานมีเกล (San Miguel) จนดํารงตําแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางเทววิทยา

ในปี 1973-1979 (2516-2522) ทรงดํารงตําแหน่งอธิการเจ้าคณะแขวงคณะเยสุอิตในประเทศอาร์เจนตินา แล้วย้ายไปเป็น อธิการสามเณราลัยซานมีเกล จนถึงปี 1986 (2529) ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งกรุงบัวโนสไอเรส และได้สืบตําแหน่ง เป็นพระอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 1998 (2541)

21 ก.พ. 2001 (2544) สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปาองค์ที่ 264 ของพระศาสนจักร แต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัล ปฏิบัติหน้าที่ในหลายหน่วยงานของสันตะสํานัก

ทรงมีพระอุปนิสัยเยือกเย็นสุขุม ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระอัครสังฆราช ที่พํานักของพระองค์ในกรุงบัวโนสไอเรสเป็นเพียงแฟลตที่ตบแต่งอย่างเรียบง่าย ทําอาหารรับประทานเองทุกวัน โดยไม่ต้องการแม่ครัวหรือแม่บ้านมารับใช้ตนเองตลอดชีวิตสงฆ์ อีกทั้งโดยสารรถไฟใต้ดิน และรถประจําทางเหมือนคนทั่วไป

เมื่อเสด็จไปกรุงโรม ประเทศอิตาลีก็ยังทรงเลือกบินชั้นประหยัด และมักทรงเลือกสวมชุดบาทหลวงสีดําธรรมดา แทนที่จะเป็นชุดสีแดง ตามศักดิ์และสิทธิของพระคาร์ดินัล เป็นคุณสมบัติสําคัญที่ได้รับการยกย่องชื่นชม ซึ่งชาวกรุงบัวโนสไอเรสโดยทั่วไปรู้จักพระองค์ในนาม "คุณพ่อฮอร์เก"

กระทั่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (พระสันตะปาปาองค์ที่ 265) ทรงสละตําแหน่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2013 (2556) ได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา พบว่า พระคาร์ดินัลฮอร์เก แบร์โกลิโอ ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2013 (2556)

ทรงเลือกพระนาม “ฟรังซิส” (Francis) มาจากนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟังซิสกัน ผู้ถือความยากจน สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม

นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกา เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากคณะเยสุอิต และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในรอบ 1,300 ปี ที่ไม่ได้เป็นชาวยุโรป นับตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ 3 ชาวซีเรีย เมื่อปี 731

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงมีพระดํารัสเรียกร้องให้ทุกคนร่วมมือกันปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างเป็นระบบ เพื่อมิให้นิกายโรมันคาทอลิกต้องเสื่อมเสียความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณมากไปกว่านี้ จนในอนาคตอาจเหลือสถานะไม่ต่างอะไรจาก “องค์กรการกุศล”

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงเดินทางเพื่อเสด็จเยี่ยมอภิบาลนอกประเทศอิตาลีมากกว่า 30 ครั้ง และยังคงเสด็จเยี่ยมสัตบุรุษบริเวณรอบนอกกรุงโรมเป็นประจำ ทั้งในเขตชานเมืองที่ยากไร้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงที่คุมขัง และในศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอีกด้วย

ก่อนเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงมีพระดำรัสผ่านทางวีดิทัศน์เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2019 (2562) และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ มีใจความดังนี้

“บรรดามิตรสหายที่รัก ในโอกาสก่อนที่พ่อจะเดินทางไปยังประเทศไทย พ่อขอกล่าวกับลูกทุกคนด้วยความรัก พ่อทราบดีว่าเชื้อชาติที่หลากหลาย และมากมายด้วยชนชาติ กอปรกับการมีขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง ประเทศไทยได้ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสนับสนุนความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับประชาชนในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย บ่อยครั้งในโลกใบนี้ต้องเผชิญกับความบาดหมาง การแตกแยก และการกีดกัน การให้คำมั่นสัญญานี้จะนำมาซึ่งความสมัครสมานสามัคคี ให้เกียรติศักดิ์ศรีแก่ทุกคน ไม่ว่าทั้งชาย หญิง และเด็ก ทั้งเป็นแรงบันดาลใจในความพยายามของพี่น้องเพื่อนมนุษย์ชายหญิงทั่วโลก เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนามากขึ้นในความเป็นครอบครัวมนุษยชาติของพวกเรา อีกทั้งมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ในความยุติธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ตลอดการเดินทางของพ่อ จะได้มีโอกาสพบปะกับคริสตชนคาทอลิกในประเทศไทย เพื่อจะมอบกำลังใจแก่พวกเขา ในความเชื่อ และสิ่งที่ได้ร่วมมือแบ่งปันต่อสังคมโดยรวม พวกเขาเป็นคนไทยที่จะต้องทำหน้าที่เพื่อประเทศของตน พ่อก็มีความหวังในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางมิตรภาพที่ร่วมแบ่งปันกันกับพี่น้องพุทธศาสนิกชนชายหญิง ผู้ซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงคุณค่าแห่งความอดทนอดกลั้น และความสามัคคีปรองดองกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง

พ่อเชื่อมั่นว่า การเยี่ยมเยียนของพ่อนี้จะช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างชัดเจนของการเสวนา–ศาสนสัมพันธ์ ด้วยความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งการร่วมมือทำงานกันฉันพี่น้อง เป็นพิเศษในเรื่องการทำงานบริการเพื่อคนยากจน เพื่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมากที่สุด และการทำงานเพื่อสันติภาพ ซึ่งในช่วงเวลานี้ เราจำเป็นต้องทำงานอย่างมากเพื่อสันติภาพ พ่อทราบดีว่าขณะนี้มีผู้คนกำลังทำงานเพื่อเตรียมการเดินทางเยี่ยมเยือนของพ่อ ขอขอบคุณทุกคนจากส่วนลึกในหัวใจของพ่อ ช่วงวันเวลาเหล่านี้ พ่อขอนำพวกลูกทุกคน ผู้เป็นมิตรสหายที่รักรวมเข้าไว้ในคำภาวนาของพ่อ เพื่อลูกทุกคน เพื่อครอบครัว และเพื่อประเทศของลูก ทั้งขอกล่าวด้วยว่า ได้โปรดอย่าหยุดที่จะภาวนาเพื่อพ่อด้วยเช่นเดียวกัน ขอขอบคุณ”

นับเป็นโอกาสอันดี ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อจาริกสันติภาพ การเสวนาระหว่างศาสนา พร้อมกับฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับนครรัฐวาติกัน รวมทั้งทรงพบปะผู้นำอุดมศึกษา คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญ ที่จะพัฒนาโลกในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0