โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อพรหม รุ่นนิ้วกระดก ปี 2507 วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์

สยามรัฐ

อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 00.10 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 00.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
พระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อพรหม รุ่นนิ้วกระดก ปี 2507 วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์

สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วหล้า ด้วยบารมีและความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเล็บมือและเล็บเท้าของท่าน มีการตั้งสนนราคากันถึงหลักหมื่นทีเดียว แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว ศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย จึงได้รับการบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนได้มีโอกาสมานมัสการและขอพรอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อัตชีวประวัติหลวงพ่อพรหม

หลวงพ่อพรหม เป็นชาวเมืองกรุงเก่า หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.2427 ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายหมี-นางล้อม โกสะลัง ในวัยเยาว์ได้ศึกษาร่ำเรียนหนังสือกับพระที่วัดใกล้บ้าน ได้ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปากคลองยาง โดยมี หลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ถาวโร" แล้วมาจำพรรษาที่วัดเขียนลาย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยด้านปริยัติธรรมจนแตกฉาน ต่อมามีความสนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงจนเข้าสู่เขตประเทศพม่า แต่ก็ยังไม่พบชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นพุทธภูมิสำหรับภาวนาหาความสงบวิเวก จึงเดินธุดงค์ต่อไปจนมาถึง ´ภูเขาช่องแค´ เมื่อไปถึงพื้นที่ก็เกิดฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงบอกทางให้ไปหลบฝนในถ้ำ

คืนแรกหลวงพ่อพรหมได้มีนิมิตอันเกิดจากจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาแนะแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงให้ ท่านจึงใช้ถ้ำแห่งนี้ในการฝึกฝนบำเพ็ญภาวนาจนแก่กล้า ศรัทธาของชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามา จากป่าอันรกร้างว่างเปล่าก็กลายเป็นเสนาสนะมากมาย พระภิกษุจากที่ต่างๆ เริ่มทยอยมาฝากตัวเป็นศิษย์รับคำสอนจากท่าน ท่านจึงซื้อที่ดินสร้างวัด กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ และเสนาสนะต่างๆ ให้ชื่อว่า ´วัดช่องแค´ และจำพรรษาที่นั่นตลอดมา จนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2516

หลวงพ่อพรหม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่หันหลังให้คำว่า ´แพ้´ เสมอมา เรียกได้ว่า ท่านเป็นทั้งหมอเทวดา วาจาศักดิ์สิทธิ์ และสร้างอภินิหารเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามานักต่อนัก จนชื่อเสียงขจรไกลเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล

หลวงพ่อพรหมท่านชอบ ‘ระฆัง’ การสร้างวัตถุมงคลของท่านส่วนใหญ่จึงมีรูประฆัง จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง กรรมวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านก็ไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัย หยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวนรอบๆ 9 รอบ จากนั้นนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆ โดยลืมตาเพ่งกระแสจิต แล้วนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคล จับบาตรใส่วัตถุมงคลแล้วเพ่งกระแสจิตอีกครั้ง จนกระทั่งวัตถุมงคลเหล่านั้นมีรังสีพุ่งออกมา จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธี

ลูกศิษย์ลูกหาทั่วทุกสารทิศมักเดินทางมากราบนมัสการขอพรและขอวัตถุมงคลอันทรงด้วยพุทธคุณครบครันจากท่าน ซึ่งวัตถุมงคลของท่านนั้นมีหลายแบบหลายพิมพ์ ทั้งรูปเหมือนเนื้อผง-เนื้อโลหะ พระสมเด็จเนื้อผง-เนื้อโลหะ พระกริ่ง และเหรียญ เป็นต้น

หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค
หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค

สำหรับ ´พระรูปเหมือนปั๊ม รุ่นนิ้วกระดก´ ที่จะกล่าวถึงนี้ นับเป็นรูปหล่อรุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2507 โดยทางคณะกรรมการวัดเป็นผู้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้นเพื่อหาทุนทรัพย์มาสร้างโบสถ์ให้แล้วเสร็จ จำนวนจัดสร้างประมาณ 600 องค์เท่านั้น ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊มแบบลอยองค์ เนื้อทองผสม กระแสไปทางเหลืองทอง หล่อเป็นองค์หลวงปู่พรหมนั่งสมาธิ หน้าตรง เต็มองค์ เหนืออาสนะ หน้าอาสนะมีอักษรไทยตัวนูนว่า ´หลวงพ่อพรหม´

ข้อสังเกตในการพิจารณาพระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อพรหม รุ่นนิ้วกระดก มี 2 ประการสำคัญ คือ

1.รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อพรหมจะดูอวบล่ำและสมบูรณ์เกินความเป็นจริง วงหน้าอิ่มเอิบ จนบางคนเรียกรูปเหมือนปั๊มรุ่นนี้ว่า ´รุ่นหน้าหนุ่ม´

2.ที่มือข้างขวาของหลวงพ่อจะเห็นนิ้วมือ 2 นิ้วกระดกขึ้นสูงกว่าปกติ เป็นเหตุให้นิยมเรียกชื่อรุ่นว่า ´รุ่นนิ้วกระดก´

พระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อพรหม รุ่นนิ้วกระดก ได้รับความนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวางด้วยจำนวนการจัดสร้างมีน้อย โดยเฉพาะองค์ที่หลวงพ่อพรหมได้จารึกอักขระขอมว่า ´มะ อะ อุ´ ไว้ที่ใต้ฐานและสังฆาฏิ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 องค์เท่านั้นครับผม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0