โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลอยน้ำในตำนานแต่ครั้งรัชกาลที่ 5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 01 พ.ย. 2566 เวลา 03.36 น. • เผยแพร่ 28 ต.ค. 2566 เวลา 17.04 น.
ภาพปก-หลวงพ่อโสธร
หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูป พระพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา

“…พระประธานในพระอุโบสถวัดนี้ เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดนี้นับถือมาก มีคนมานมัสการไม่ขาด และมีการไหว้ประจำปี กำหนดในวันเพ็ญเดือน 12 ถึงวันนี้ มีเรือมาเป็นอันมาก นอกจากไหว้พระ มีการออกร้านและแข่งเรือ…” พระดำรัส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรส คราวเสด็จตรวจคณะสงฆ์ในมณฑลปราจีนบุรี พ.ศ. 2459 โดยพระประธานในข้อความข้างต้นคือพระพุทธโสธร หรือ “หลวงพ่อโสธร” แห่งวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติความเป็นมาของ พระพุทธโสธร นั้น มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ตอนหนึ่งว่า

“…พระพุทธรูป ว่าด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเป็นหมอดีนั้น คือองค์ที่อยู่กลางดูรูปตักและเอวงาม ทำเป็นทำนองเดียวกันกับพระพุทธเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายไปเป็นด้วยฝีมือผู้ที่ไปปั้นว่าลอยน้ำก็เป็นความจริงเพราะเป็นพระศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้…”

พันเอกหลวงรณสิทธิ์พิชัย อธิบดีกรมศิลปากร (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2493-2498) บันทึกเรื่องการสำรวจของโบราณในเมืองไทยเกี่ยวกับพระพุทธโสธรว่า

“…หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่บูรณะขึ้นในปลายสมัยอยุธยา หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ และช่างผู้บูรณะนั้นเข้าใจว่าจะเป็นฝีมือช่างผู้มีภูมิลําเนาอยู่ทางภาคอีสาน ประวัติที่ข้าพเจ้าพึง กล่าวได้นั้นมีเพียงเท่านี้ และที่กล่าวนี้โดยอาศัยวัตถุที่เห็นเท่านั้น…”

นายตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองวรรณคดี กรมศิลปากร ก็กล่าวถึงพระพุทธโสธรไว้ในเรื่องนําเที่ยวฉะเชิงเทราว่า

“….พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ลงรักปิดทอง มีขนาดสูง 1 เมตร 94 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 1 เมตร ๖๕ เซนติเมตร เท่าที่ตรวจดูรูปภายนอกซึ่งลงรัก ปิดทองไว้ ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างแบบลานช้าง หรือซึ่งเรียกกันเป็น สามัญว่า พระลาว’ พระพุทธรูปแบบนี้นิยมทํากันมากที่เมืองหลวงพระบาง ในประเทศ อินโดจีนฝรั่งเศส และทางภาคอีสานของประเทศไทย…”

จากพระบรมราชวินิจฉัย และความเห็นข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า หลวงพ่อโสธร ไม่ได้ทําขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ได้นํามาจากที่อื่น เพราะองค์พระทําด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปฝีมือแบบชาวล้านช้างหรือที่เรียกว่า “พระลาว” ได้บูรณะหรือสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์

หนังสือประวัติของพระพุทธโสธร พิมพ์โดยนายทองใบ ภู่พันธ์ มีบทสัมภาษณ์ เจ้าคุณพระเทพกวี วัดเทพศิรินทราวาส อดีตเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ระหว่างปี 2472-2442 ได้ความต้องกันเป็นส่วนมากว่า พระพุทธโสธร เดิมที่เกิดปาฏิหาริย์ลอยมาตามกระแสน้ำจากทางเหนือลําแม่น้ำบางปะกงนั้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแกะด้วยฝีมือ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2 คืบเศษ

ข้อที่ว่าจะลอยมาจากแห่งหนตําบลไหน ตั้งแต่เมื่อใด ยังไม่มีใครสอบสวนได้ความ ส่วนที่ว่าพระพุทธโสธรลอยตามน้ำมาจริงหรือไม่ ท่านเชื่อว่าจริง โดยมีเหตุผลพอจะสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธโสธรองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปแกะด้วยไม้โพธิ์ ซึ่งเข้าใจว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือชาวเวียงจันทน์ หรือลาวนครเชียงรุ้ง หรือลาวโซ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเคยทราบมาว่า พวกลาวชาวพื้นเมืองที่กล่าวนี้นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้โพธิ์และน่าคิดว่า พระพุทธรูปลอยน้ำมาจากทางเหนือลําแม่น้ำบางปะกง

นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับพระพุทธโสธร ปรากฏในประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลมว่า มีพระพุทธรูป 3 องค์ที่เป็นพระพี่น้องกัน คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม, หลวงพ่อ วัดบางพลี สมุทรปราการ และหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา ลอยน้ำมาจากทางเหนือของไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดฉะเชิงเทรา, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0