โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พระปกเกล้าสกายปาร์ค ฟื้นซาก "รถไฟฟ้าลาวาลิน" สู่แลนด์มาร์กใหม่

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 14.00 น.
S__45752339

ถ้าทุกอย่างเดินหน้าตามแผน ไม่เกินเดือน มี.ค. 2563 คนฝั่งธนบุรีจะมี “ปอดแห่งใหม่” พร้อมทางเดินเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

หลัง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ผุดโครงการ “สะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ค” ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน

ซึ่งผลักดันกันมาหลายปี จนมีการเบิกฤกษ์จัดพิธีบวงสรวงโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา

โปรเจ็กต์นี้ “กทม.” ใช้งบประมาณก่อสร้าง 122 ล้านบาท มีบริษัท เอสจีอาร์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน สัญญาเริ่มรันเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2562-วันที่ 23 มี.ค. 2563

จุดคิกออฟโครงการเริ่มตั้งแต่ปลายสะพานฝั่งธนบุรีฯเหนือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติถึงปลายสะพานฝั่งพระนคร ระยะทางประมาณ 280 เมตร เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างค้าง หรือ “สะพานด้วน” ที่คนฝั่งธนเห็นจนชินตามานับ 10 ปี ให้เป็นหมุดหมายที่ใหม่

จากปัจจุบันไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร ท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้และพืชพันธุ์ที่ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทางสัญจร พร้อมชมวิวที่สวยงามข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ย้อนดูโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถสะพานพระปกเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง 0.80 เมตร ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9.00 เมตร

โครงการนี้ริเริ่มเมื่อปี 2523 สมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ศึกษาเป็นแผนแม่บทรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย โดยความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น

มีบริษัท ลาวาลิน จากประเทศแคนาดา เป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการ 30 ปี ซึ่งเซ็นสัญญาเมื่อปี 2533 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

วางโครงข่ายไว้ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายพระราม 4 (พระโขนง-หัวลำโพง-หมอชิต) ระยะทาง 25 กม. 2.สายสาทร (วงเวียนใหญ่-สาทร-ลาดพร้าว) ระยะทาง 20 กม. และ 3.สายสะพานพุทธ (ดาวคะนอง-สะพานพุทธ-มักกะสัน) ระยะทาง 16 กม. มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่ห้วยขวาง (ศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปัจจุบัน) มูลค่าโครงการ 55,000 ล้านบาท

แต่เพราะประสบปัญหาด้านการเงิน ต้นทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นจากการเวนคืนที่ดินและรื้อย้าย ทำให้โครงการต้องยุติลงเมื่อปี 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เหลือแต่ซากอย่างที่เห็น

แต่วันนี้ซากรถไฟฟ้าในฝัน กำลังถูกรีโนเวตเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ไปสู่เป้าหมาย “แลนด์มาร์กใหม่” ของประเทศไทย

ขณะที่แผนแม่บทรถไฟฟ้า ปัจจุบันถูกหลอมเป็นแผนแม่บทรถไฟฟ้าสารพัดสีสารพัดสาย ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพูและสายสีส้ม

ถือว่าไม่สูญเปล่า แม้ว่าจะไปไม่ถึงฝั่งฝันก็ตาม !

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0