โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"พระบรมรูป" (เหมือนจริง)ครั้งแรกของกษัตริย์ไทยที่ "ไม่เหมือน" หรือ "ไม่โปรด"?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 14 ต.ค. 2565 เวลา 03.30 น. • เผยแพร่ 14 ต.ค. 2565 เวลา 00.18 น.
ร.4 รูปปั้น
(ซ้าย) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ฝีมือนายซาตรูส หล่อด้วยโลหะสำริด ทาสีทอง ปัจจุบันอยู่ ณ พระที่นั่งราขกรัณยสภา ในพระบรมมหาราชวัง (ขวา)พระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ที่ปราสาทพระเทพบิดร (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมในราชสำนัก เล่ม1)

พระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่มีลักษณะเหมือนจริงองค์แรก คือ พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ สูง 55 ซ.ม. อยู่ในพระราชอิริยาบถยืนในท่าตริภังค์ (Contrapposto) โดยย่อพระเพลาขวาเล็กน้อย พระวรกายค่อนข้างท้วม ทรงพระมาลาสก๊อต ฉลองพระองค์เสื้อนอก พระภูษาโจง พระหัตถ์ขวาทรงถือธารพระกร พระหัตถ์ซ้ายอยู่ที่บั้นเอว ทาสีเงินทั้งองค์ ที่ฐานด้านขวาสลักอักษร “Chatrousse 1863 Paris”

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพระบรมรูปองค์นี้มีปรากฏในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม 3 และเล่ม 4 กับหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 1 โดยในสาส์นสมเด็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า คงจะมีการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ไปพร้อมกับคณะข้าหลวงซึ่งคุมสิ่งของไปแสดงศิลปหัตถกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2405 คณะข้าหลวงคณะนี้นำโดยขุนสมุทโคจร (พุ่ม) ซึ่งภายหลังได้เป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์

แต่ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนในเรื่องปีพุทธศักราช เพราะในการส่งสิ่งของไปจัดแสดงที่กรุงปารีสในคราวนั้น คณะข้าหลวงได้ออกเดินทางไปในปี พ.ศ. 2410 มิใช่ในปี พ.ศ. 2405

แต่อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้กล่าวถึงคณะราชทูตไทยที่ได้เดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2404 นำโดยพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) จางวางกรมพระคลังสินค้า อีกคราวหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นคราวนี้ก็ได้ ที่ได้มีการสั่งทำพระบรมรูปปั้นหล่อของพระองค์ เพราะเครื่องราชบรรณาการที่ได้ส่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นั้นปรากฏว่ามีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 รวมอยู่ด้วย มีความคล้ายกับพระบรมรูปปั้นพระองค์นั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นพระมาลา ฉลองพระองค์ และพระภูษาโจง

คณะราชทูตคงจะได้จัดหาช่างที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น เป็นผู้ปั้นหล่อ ซึ่งได้แก่ นาย เอมิล ฟรังซัว ชาตรูส (Emile Franzois Chatrousse) หลังจากช่างได้ปั้นพระบรมรูปเสร็จแล้ว จึงได้ส่งเข้ามาถวายให้ทอดพระเนตร ภายหลังจากได้รับพระบรมรูปแล้วก็ไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลใด ๆ อีกเลย และพระบรมรูปองค์นี้ก็ถูกเก็บไว้ มิได้ปรากฏว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในที่สำคัญใด ๆ เลย จนดูเหมือนจะถูกลืมไป

แต่อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า พระบรมรูปองค์นี้คงจะเป็นพระบรมรูปตัวอย่างส่งเข้ามาให้ทอดพระเนตร ถ้าทรงพอพระทัยจะได้ขยายแบบหล่อเท่าพระองค์จริงด้วยโลหะ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะไม่โปรด เพราะ

1. พระบรมรูปนั้นปั้นผิดจากพระองค์จริงมาก หรือ

2. มีผู้แย้งว่า ถ้าหล่อด้วยโลหะจะต้องนำพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งเข้าไฟหลอมให้ละลายจะเป็นการไม่เหมาะสมในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่

เพราะเหตุ 2 ประการดังกล่าว รัชกาลที่ 4 จึงทรงบอกยกเลิกการจ้างนายชาตรูส ช่างฝรั่งเศสเป็นผู้ปั้นหล่อ

ส่วนสาเหตุของการสั่งให้หล่อพระบรมรูปนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นแย้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า“คงไม่ได้ทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานตอบเป็นบรรณาการพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส เพราะเข้าใจว่าทรงพระราชดำริจะสร้างพระบรมรูปมาก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสถวายรูปเข้ามีนั้นแล้ว”

ในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 5 เรื่องวัดพระนามบัญญัติวัดราชประดิษฐ์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีลายพระหัตถ์ว่า เดิมรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีพระบรมรูปของพระองค์ที่ซุ้มจระนำ หลังพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐ์ แต่ครั้นจะหล่อก็เกรงว่าจะต้องเข้าไฟอันเป็นเรื่องอัปมงคล จึงโปรดให้พระเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้นพระบรมรูปเท่าพระองค์ ซึ่งอยู่ในหอเสถียรธรรมปริตเวลานี้

และถ้าพิจารณาเอกสารการก่อสร้างวัดราชประดิษฐ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 จะพบว่าวัดราชประดิษฐ์เริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. 2407 และแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

จากหลักฐานดังกล่าวอาจจะสรุปได้ว่า ในการสั่งให้นายชาตรูส ช่างชาวฝรั่งเศส หล่อพระบรมรูปของพระองค์เข้ามานั้นก็เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ ซุ้มจระนำ หลังพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐ์ แต่หลังจากที่มีพระราชดำรัสแล้วคงจะมีผู้แย้งเรื่องการหล่อพระบรมรูปด้วยโลหะเป็นการไม่สมควร จึงโปรดยกเลิก พระบรมรูปตัวอย่างพระองค์นั้นจึงตกค้างอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่มีผู้ใดใส่ใจแต่อย่างใด

แต่บังเอิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงระลึกได้ในขณะที่ทรงสืบค้นประวัติพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาล ในปราสาทพระเทพบิดร จึงได้มีการค้นหาและพบพระบรมรูปองค์ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2437 โดยมีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังร่วมค้นหาด้วย พระบรมรูปที่ค้นพบนี้ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ทาสีเงิน แต่ธารพระกรสูญหายไป

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงรับสั่งให้ “นายคอราโด เฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)” ดำเนินการปั้นธารพระกรใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ ณ หอพระสุราไลยพิมาน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อปรากฏว่ามีพระบรมรูปซึ่งมีพระลักษณะเหมือนกันขึ้นมาอีก 1 องค์ แต่หล่อด้วยโลหะ และทาสีทอง ตามหลักฐานจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมในราชสำนัก เล่ม 1 แสดงว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีพระลักษณะเหมือนกันปั้นโดยบุคคลเดียวกัน คือ นายชาตรูส ศักราชเดียวกันคือ ปี ค.ศ. 1863 มีถึงสององค์ด้วยกัน องค์หนึ่งหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ทาสีเงิน อีกองค์หนึ่งหล่อด้วยโลหะทาสีทอง ผู้เขียนขอสันนิษฐานตามหลักเหตุและผลว่า พระบรมรูปองค์ที่หล่อด้วยโลหะคงจะหล่อหลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 และคงจะหล่อหลังปี พ.ศ. 2477 เพราะ

1. ถ้าหล่อเข้ามาจากฝรั่งเศส หรือหล่อในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จะต้องทรงระลึกได้และจะต้องกล่าวไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จอย่างแน่นอน

2. ถ้าหล่อในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ขัดกับคติความเชื่อ เรื่องการหล่อโลหะต้องสุ่มไฟหุ่น

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอสรุปจากเหตุผลดังกล่าวว่าพระบรมรูปองค์ที่หล่อด้วยโลหะและทาสีทองนี้คงจะหล่อภายหลังจากที่ได้มีการค้นพบพระบรมรูปองค์ที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์และทาสีเงินในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งอาจจะเป็นพระดำริของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้คงทนถาวรตลอดไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในช่วงปี พ.ศ. 2477 หรือหลังจากนั้นน่าที่จะมีบุคคลร่วมสมัยที่จดจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ จึงสมควรที่จะมีการสืบค้นกันต่อไปในกาลข้างหน้า

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0