โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระนาม “จุฬาลงกรณ์” ที่ปรากฎเป็นชื่อสิ่งอันเกินคาด น้ำยาจุฬาลงกรณ์-เด็กชื่อจุฬาลงกรณ์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 ต.ค. 2566 เวลา 04.11 น. • เผยแพร่ 23 ต.ค. 2566 เวลา 07.47 น.
ภาพปก-บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์
รัชกาลที่ 5 บ่อน้ำ จุฬาลงกรณ์

บทความนี้เรียบเรียงโดยคัดย่อจาก“‘จุฬาลงกรณ์ ในต่างแดนและน้ำยาจุฬาลงกรณ์’” ของ นนทพรอยู่มั่งมี พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 มีเนื้อหากล่าวถึงการปรากฏพระนามจุฬาลงกรณ์ เป็นชื่อสิ่งของ บุคคล ฯลฯ ในสถานที่ต่างๆ ที่รัชกาลที่5 เคยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติและเป็นเครื่องระลึกถึงเหตุการณ์อันสำคัญนั้นๆ ดังนี้

เด็กจุฬาลงกรณ์

รัชกาลที่5 ได้พระราชทานพระนามจุฬาลงกรณ์ให้เป็นชื่อของเด็กชายชาวอิตาเลียนผู้หนึ่งนามว่า จีโนนาร์ซิโซฟอร์ตูนาโต้มาร์เตลลิ ในคราวเสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2440 ทรงพบเด็กชายผู้นี้ขณะยังเป็นทารกกำลังรับการประกอบพิธีศีลจุ่ม(Baptism)ที่โบสถ์ซาน จิโอวานนี ทรงทราบว่าพ่อแม่ของเด็กผู้นี้มีฐานะยาจนทำให้ต้องไปทำงานในเมืองไม่สามารถมาร่วมประกอบพิธีได้ จึงฝากให้หญิงเพื่อนบ้านพามาประกอบพิธีแทน พระองค์พระราชทานเงินพร้อมกับรับเป็น“ก๊อดฟาเธอร์” หรือพ่อทูนหัวตามธรรมเนียมของอิตาลีเพื่อช่วยดูแลกรณีที่พ่อแท้ๆ เสียชีวิตลง และได้พระราชทานชื่อว่า จุฬาลงกรณ์

หลังจากนั้นอีก10 ปี รัชกาลที่5 เสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์อีกครั้งหนึ่ง ทรงพบเด็กคนนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังความในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่า

“เมื่อวานนี้พูดถึงเรื่องเคยไปเที่ยวที่วัดเมื่อคราวก่อนพบเขากำลังพาเด็กมาคริสเตนิง พ่อแม่แลยขอให้ลูกชื่อจุฬาลงกรณ์บ้าง ให้พ่อเปนกอดฟาเดอ ก็ได้ตกลงยอมรับ ชายอุรุพงษ์บ่นว่าอยากจะเห็นเด็กจุฬาลงกรณ์ ครั้นวันนี้เมื่อกลับมาถึงโฮเต็ลมีเด็กคนหนึ่งวิ่งเอาช่อดอกไม้มาส่งให้ มีแม่ตามมาด้วย บอกตัวเองว่าชื่อ จุฬาลงกรณ์ ชายอุรุพงษ์ดีใจกระไร ทายไว้แล้วว่าคงจะโตกว่าอุรุพงษ์ อายุมัน10 ขวบ โตกว่าจริงๆ หาเงินได้ปอนด์เดียวให้ไปแต่เท่านั้น มากอดรัดปลื้มดี”

จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา

เป็นชื่อของสถานที่อันเกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกพระองค์เสด็จประพาสศรีลังกาซึ่งอยู่ในเส้นทางเสด็จฯทรงแวะวัดศรีปรมารันทมหาวิหารที่เมืองกอลพร้อมกับทรงนมัสการปูชนียสถานภายในวัดและพระราชทานชื่อแก่ศาลาหลังใหญ่ที่วัดว่า จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา

ต่อมาได้เสด็จฯไปยังวัดคังคารามมหาวิหารพระอารามแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของสมณทูตไทยสมัยรัชกาลที่4 มีสมเด็จพระพุฒาจารย์(สี) เป็นหัวหน้า เมื่อเสด็จฯ ถึงพระสังหรัตนติสสะเถระทูลถวายรายงานและอ่านจุฬาลงกรณ์คาถา เป็นคาถาบาลีสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่5 และที่วัดคังคารามมหาวิหารได้สร้างหลักหินสูง99 นิ้ว เรียกว่า เสาหินจุฬาลงกรณ์ มีคำจารึกพระนามและการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวัดของพระองค์ท่าน

ถนนจุฬาลงกรณ์

ในทวีปยุโรปมีถนนชื่อเดียวกันที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง2 ครั้ง จำนวน2 สาย โดยสายแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่5 เสด็จฯ ไปยังประเทศสวีเดนในปี พ.ศ.2440 ในครั้งนั้นพระองค์เสด็จฯ ทางชลมารคในแม่น้ำอินดัล เขตเบอร์เก(Berge) ทางภาคเหนือของสวีเดน มีประชาชนจำนวนมากมาคอยเฝ้ารับเสด็จตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จฯ ทางชลมารคคราวนี้ ชาวบ้านบิสโกเด้น(Bisgården) เรียกถนนที่ได้สร้างขึ้นและเป็นสายที่รัชกาลที่5 เสด็จฯ ก่อนที่จะประทับเรือพระที่นั่งลิเดน(Liden) กลับ เพื่อเสด็จไปยังเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดคอยอยู่ว่า ถนนจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีความยาวประมาณ3 กิโลเมตร

สายที่2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่2 เมื่อ ปีพ.ศ. 2450 ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก(Bad Homburg) ประเทศเยอรมนี เพื่อรับการถวายการรักษาแบบ“สปา”อันขึ้นชื่อของเมืองแห่งนี้ ภายหลังการเสด็จฯ แล้วขนานนามว่า ถนนจุฬาลงกรณ์ในคัวร์ป๊ากอันเป็นที่ตั้งของศาลาไทย

(สามารถค้นหาภาพถนนจุฬาลงกรณ์ ที่ประเทศสวีเดนได้จาก https://www.si9am.com/)

บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์

สถานที่แห่งนี้เป็นหลักฐานถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีในคราวที่รัชกาลที่5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่2 เมื่อปี พ.ศ.2450 พระองค์ทรงรับการถวายการรักษาพระวรกายตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก ที่มีชื่อเสียงในด้านการบำบัดด้วยน้ำแร่ ในครั้งนั้นไกเซอร์วิลเฮล์มที่2 กษัตริย์แห่งเยอรมนีได้ถวายบ่อน้ำแร่แก่พระองค์ท่านคือ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ หรือโกนิคจุฬาลงกรณ์ ซึ่งรัชกาลที่5 ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดบ่อน้ำด้วยพระองค์เองในวันที่21 กันยายน พ.ศ. 2450 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ปรากฏความในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านดังนี้

“เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ แต่งตัวฟรอกโก๊ต บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกซาวิลเลียมบาด เปนทุ่งหญ้า ยังไม่ได้ทำสวนออกไปถึง เขาได้ลงมือเจาะแต่เดือนเมษายน ลักษณที่เจาะเหมือนกับเจาะบ่อน้ำธรรมดาแต่ใช้ท่อทองแดงเจาะช่องตาม้างท่อให้น้ำซึมเข้ามา แล้วฝังถังเหล็กลงไปพันปากท่อ เพื่อจะไม่ให้น้ำจืดเข้าไประคนกับน้ำสปริงนั้น ปากท่อทำเปนรูปใบบัว น้ำเดือดพลั่งๆ แต่น้ำที่นี่เปนน้ำเย็นทั้งนั้น ทดลองได้ความว่าเปนน้ำอย่างแรง เขาตั้งกระโจมสามขาหุ้มผ้าสูงคร่อมอยู่ที่บ่อ แล้วปลูกพลับพลาจตุรมุขหลังหนึ่ง มีร้านสำหรับคนร้องเพลง มีคนไปประชุมเปนอันมาก ผู้มีบันดาลศักดิ์อยู่ รอบกระโจมนั้นมีราษฎรเต็มไปทั้งนั้น เวลาแรกไปถึงร้องเพลงจบหนึ่งก่อน แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิคอ่านแอดเดรส ให้ชื่อบ่อน้ำพุ‘โกนิคจุฬาลงกรณ์’ แล้วเชิญไปเยี่ยมดูที่บ่อน้ำนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิมด้วยถ้วยเงินใบใหญ่แล้วกลับมาที่พลับพลาแมร์เรียกให้เชียร์คือ ฮุเรแล้วร้องเพลงอิกบทหนึ่ง เปนการสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น”

น้ำยาจุฬาลงกรณ์

น้ำยาจุฬาลงกรณ์เป็นสินค้าของห้างเอส.เอ.บี(S.A.B – Socie’ te’ Annonyme Belge Pour le Commerce et l’ Industrie au Saim) ก่อตั้งโดย ดร.เอ.เดอ คีเซอร์(Dr. A. de Keyser) ชาวเบลเยียม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450 จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยและสินค้าทั่วไปจากต่างประเทศ…

ห้างเอส.เอ.บี ลงโฆษณาน้ำยาจุฬาลงกรณ์ในหนังสือพิมพ์ไทย วันอังคารที่27 ตุลาคม ร.ศ. 127 ดังนี้

“บริษัท เอช.เอ.บี แจ้งความมาให้ทราบ ด้วยห้างข้าพเจ้าเปนเอเยนต์จำหน่ายน้ำยาจุฬาลงกรณ์ของเมืองแฮมเบิก น้ำยาจุฬาลงกรณ์นี้ แก้โรคที่เกิดกินเพราะธาตุพิการ แก้ลมในลำไส้แก้แน่นแก้เฟ้อ แก้จุกเสียด แก้กระเพาะขี้พิการต่างๆ แก้โรคตับบวมม้ามบวมแก้ลมเข้าข้อ แก้ปวดกระดูก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนาม ให้เรียกว่า น้ำยาจุฬาลงกรณ์ เมื่อประพาศยุโรป ร,ศ, 126

น้ำยาอิลิซาเบตต์ของประเทศฮัมเบิกนี้ โปรเฟศเซอร์ โมเซนกิอิลโบน ได้รับรองว่าเปนยาดี ใช้แก้โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกระเพาะอาหารฤาลำไส้พิการ มีอาการท้องผูก ท้องขึ้นแน่นอืด แก้พันระดึก โปร เฟศเซอ ซุลเลอเปอลิน ไดรับรองว่าน้ำยาอิลิซาเบตนี้เปนยาดี แก้โรคทุราวะสา แก้ไตพิการ แก้กระเพาะปัสสาวะเปนพิษโปรเซอร์ยอนดีกวนดอดแมกเก็บอิน ได้รับรองว่ายานี้ใช้แก้โรคตับบวมที่เกิดขึ้นจากตับพิการ แก้ปวดเมื่อยตามสันหลัง แก้คลื่นไส้ แก้ธาตุพิการ โปรเฟศเอวร์ ทาราไลติกศ์ แกลศโคยุนีเวอซิติ ได้รับรองว่ายานี้แก้โรคลม แลแก๊ศที่เกิดในท้องในลำไส้ แก้อุจจาระผูก แก้ปวดหัว แก้คนท้องใหญ่อ้วนฉุ แก้มดลูกพิการ แก้ท้องมารต่างๆ แก้โลหิตพิการ ยาน้ำอิลิซาเบตขนานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสวยหายพระโรคทรงสบายเพราะยาน้ำชนิดนี้ เมื่อเสด็จประพาศยุโรป ร.ศ. 126มีขายที่ห้างยอร์ชอิศฟอกส์”

……..

น้ำยาจุฬาลงกรณ์ตามที่โฆษณานั้น เกี่ยวพันกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่2 ของรัชกาลที่5 หรือไม่ หากพิจารณารายละเอียดกล่าวถึงเมืองแฮมเบิก ที่ห้าง เอส.เอ.บี รับน้ำยาชนิดนี้มาจำหน่าย อาจตรงกับเมืองฮอมเบิคที่รัชกาลที่5 กล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับชื่อเมืองบาดฮอมบวร์กที่พระองค์เสด็จฯ มารักษาพระวรกายด้วยน้ำแร่ และในขั้นตอนการรักษานั้นคณะแพทย์ถวายน้ำยาชนิดมีผลต่อหัวใจ ทำให้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยทรงบันทึกว่า

“ข้อต้นยานี้ใช่วิไสยที่จะผสมทิ้งไว้หลายวัน ที่จะเอาเข้าไปใช้ในเมืองไทยไม่ได้กลายเสียแล้วแต่ที่ผสมมาให้ไว้ใช้ได้สองวัน พรุ่งนี้ต้องผสมใหม่ หมอซึ่งเปนแต่สถานประมาณไม่กล้าใช้ ต้องให้ท่านผู้รู้ หมอใหญ่เปนโปรเพสเซอเป็นผู้จัดการวางยาขนานนี้ การที่จะวางยานั้น ต้องตรวจหัวใจทุกครั้งควรวางจึงวาง ยานั้นอาจจะผ่อนอ่อนผ่อนแรงได้ ที่วางพ่อนี้เปนอย่างอ่อนแลยังกำหนดไม่ได้ว่าจะวางสักกี่ครั้งต้องรีดเลือดแลตรวจหัวใจดูทุกเวลาเช้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0