โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พยากรณ์ 3 โรคคุกคามสุขภาพคนไทยปี 62

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 10.53 น. • The Bangkok Insight
พยากรณ์ 3 โรคคุกคามสุขภาพคนไทยปี 62

กรมควบคุมโรค พยากรณ์ 3โรค 1ภัยสุขภาพ ต้องเฝ้าระวังในปี 2562 “ไข้หวัดใหญ่” โรคสำคัญ คาดจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8แสนราย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พยากรณ์โรค และภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2562 มี 3 โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี และคาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย  ส่วนภัยสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน  แนะนำประชาชนดูแลสุขภาพ และระมัดระวังตนเองจากโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ เป็นต้น

เมื่อเร็วๆนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกเผยแพร่ผล “ พยากรณ์โรค และภัยสุขภาพที่สำคัญ พ.ศ.2562  นพ.สุวรรณชัย      วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  ระบุว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย

โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพยากรณ์โรคติดต่อ และกลุ่มที่ 2 โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ  จากการพยากรณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่

โรคไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลในปี 2561 (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561) พบผู้ป่วย 166,342 ราย เสียชีวิต 38 ราย  สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี โดยจะมีผู้ป่วย 177,759 ราย  ใกล้เคียงกับปี 2561 โดยในช่วงต้นปี (มกราคม.-มีนาคม) จะมีผู้ป่วยประมาณ 13,000-15,000 ราย และช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม-พฤศจิกายน) จะมีผู้ป่วยประมาณ 15,000-25,000 ราย

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้

1.*ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม *

2.*ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ  *

3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย  

4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

โรคหัด จากข้อมูลในปี 2561 (ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561) มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรือสงสัยหัด 5,442 ราย เสียชีวิต 22 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 2,451 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 1-4 ปี คิดเป็น 30 %  รองลงมา คือช่วงอายุ 20-29 ปี

สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 หากมีมาตรการควบคุมโรคที่เข้มแข็ง มีการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง คาดว่าจะมีผู้ป่วยสงสัยโรคหัด 1,003 ราย  โดยกรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าโรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ปกครองพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง

โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลในปี 2561 (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561) พบผู้ป่วย 78,762 ราย เสียชีวิต 105 ราย สำหรับการพยากรณ์โรค ปี 2562 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 94,291 ราย และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนเมษายน และอาจพบสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม

ทั้งนี้คาดว่าจะมีอำเภอเสี่ยงสูง 136 อำเภอ จากทั้งหมด 928 อำเภอ ซึ่งใช้เกณฑ์การประเมินจากพื้นที่ป่วยซ้ำซาก และความรุนแรงของการเกิดโรคในปีปัจจุบัน  กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3เก็บ ป้องกัน 3โรค”  คือ 1.เก็บบ้าน 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บน้ำ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

นพ.สุวรรณชัย  กล่าวต่อไปว่า สำหรับการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อ และภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน   เนื่องจากทุกๆปี ประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก  โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ และพบว่าบางรายมีการใช้แอลกอฮอล์ร่วมด้วย

ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อทำการคาดการณ์จำนวนผู้บาดเจ็บจากการจราจรทางถนน ในปี 2562 คาดว่าจะต้องเฝ้าระวัง และย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอุบัติเหตุตลอดทั้งปี

*กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ เป็นต้น      *

นอกจากนี้ ประชาชนต้องดูแลสุขภาพและระมัดระวังตนเองจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น  เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาการป่วยตายของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อ

หากไม่ช่วยแก้ปัญหานี้จะกลายเป็นภาระของประเทศในการใช้งบประมาณจำนวนมากในการการดูแล รักษา ผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ

ส่วนภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวัง คือ การป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะในเดือนมกราคม–เมษายนของทุกปี จะมีหมอกควันหนาขึ้น มีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ  โดยประชาชน และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ได้แก่ โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตได้

สำหรับมาตรการในการดำเนินงาน เพื่อปกป้องประชาชนจากโรค และภัยสุขภาพดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรค และภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ตอบโต้โรคและภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย  ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงลดการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0